อีวี จีน ถล่มตลาด BMW-Volvo นำเข้าปี ‘64

14 ธ.ค. 2563 | 00:00 น.

"อีวี จีน" จ่อทำตลาดไทยเพียบ โดยอาศัยภาษีนำเข้า 0% ปี 2564 บีเอ็มดับเบิลยู เล็งเปิดตัวเอสยูวี BMW iX3 ส่วน “วอลโว่” มาครึ่งปีหลัง ค่ายญี่ปุ่นสุดช้ำ “นิสสัน ลีฟ” ยังไม่ชัดว่าจะนำเข้ามาทำตลาดเพิ่ม ด้านนายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จี้รัฐบาลต้องแก้ไข FTA จีน-อาเซียน

รถพลังงานไฟฟ้า 100% “อีวี จากจีน" ที่ ได้สิทธิ์นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่เสียภาษีนำเข้า ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี จีน-อาเซียน ถือเป็นช่องโหว่ให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์มีออพชันนำเข้า พร้อมทำราคาตํ่า ซึ่งสวนทางกับนโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

“เอ็มจี” แบรนด์อังกฤษเจ้าของจีน อาศัยช่องทางนี้เปิดตลาดกับรถ 2 รุ่น คือเอสยูวี MG ZS EV ราคา 1.19 ล้านบาท และ MG EP ตัวถังสเตชันแวกอน ราคา 9.88 แสนบาท (แต่เอ็มจี ยืนยันมีแผนผลิตอีวีในไทย) ถือเป็นการตั้งราคาปักธง สร้างภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำในกลุ่มรถพลังงานใหม่ ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าแผนงานของเอ็มจี กระทบกับการทำตลาด “อีวี” แบรนด์ญี่ปุ่น ที่เสียภาษีนำเข้า 20% ภายใต้ FTA ญี่ปุ่น-ไทย

นิสสัน ลีฟ ที่เปิดตัวในราคา 1.99 ล้านบาท และเพิ่งทำโปรโมชันเหลือ 1.49 ล้านบาท แต่การตอบรับยังไม่ดีนัก โดยตั้งแต่เริ่มส่งมอบเดือนมิถุนายนปี 2562 ถึงวันนี้ (เดือนธันวาคม 2563) ยอดขายสะสมยังไม่ถึง 200 คัน แม้เพิ่งขายล็อตใหญ่ 24 คันให้แก่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ไปก็ตาม ทั้งนี้นายราเมช นาราสิมัน ประธาน นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เคยยอมรับว่า นิสสัน ลีฟ ที่ตั้งราคาในตอนแรก 1.99 ล้านบาท เป็นราคาที่สูงไปจริงๆ

สำหรับแผนงาน นิสสัน ลีฟ เจเนอเรชัน ที่2 จะนำเข้ามาทำตลาดต่อไปหรือไม่? ยังเป็นคำถาม แต่นิสสัน ยืนยันว่า จะมี “อีวี” รุ่นใหม่ “นิสสัน อริยะ” ขายในไทยแน่นอน โดยเริ่มเจรจาโควต้านำเข้ากับบริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว

ฝั่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป มีนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยที่ต่างกันไป และ โควิด-19 มีผลต่อการวางแผนงานพอสมควร เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ ต้องเลื่อนการประกอบ “อีวี” รุ่นใหม่ที่โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ออกไปเป็นปลายปี 2564 ขณะที่ อาวดี้ ยอมรับว่า แผนตั้งโรงงานในไทยต้องเลื่อนออกไปจากผลกระทบของไวรัสตัวนี้

อีวี จีน ถล่มตลาด BMW-Volvo นำเข้าปี ‘64

ด้าน “วอลโว่” นำเข้ารถยนต์ทุกรุ่นมาจากมาเลเซีย โดยขุมพลังปลั๊ก-อินไฮบริด ที่เรียกว่า Recharge มีให้เลือกครบทุกรุ่น ทั้ง ตระกูล 40,60,และ90 บนตัวถังเอสยูวี ซีดาน และสเตชันแวกอน ส่วน “อีวี” จะเป็นการนำเข้าจากจีนมาทำตลาด คาดเปิดตัวช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564

ส่วนบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ที่มีโรงงานประกอบรถยนต์ในจังหวัดระยอง โดยรถขุมพลังปลั๊ก-อินไฮบริด มี 5 รุ่น คือ BMW 330e,BMW 530e, BMW X3 xDrive30e, BMW X5 xDrive45e และ BMW 745Le xDrive ส่วน อีวี i3s เป็นการนำเข้ามาจากโรงงานประเทศเยอรมนี และ “อีวี” โมเดลต่อไปที่เตรียมทำตลาดในปี 2564 คือ BMW iX3 นำเข้ามาจากโรงงานประเทศจีน

BMW iX3 ที่ผลิตจากโรงงานเมืองเซิ่นหยาง เป็นการลงทุนร่วมกับ Brilliance China Automotive Holdings โดยเอสยูวีรุ่นนี้ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 1 ตัวขับเคลื่อนล้อหลัง ให้กำลัง 286 แรงม้า แรงบิด 400 นิวตันเมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 6.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 180 กม./ชม. และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 74 กิโลวัตต์ชั่วโมง เมื่อชาร์จไฟเต็มรถวิ่งได้ระยะทาง 460 กิโลเมตร

ตามข้อมูลดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป จะมี “อีวี” ทำตลาดในไทยเพิ่มขึ้นหลายรุ่น และจำนวนไม่น้อยที่นำเข้า อีวี จากประเทศจีน ซึ่งมีทั้งแบรนด์ยุโรป และแบรนด์จีน รวมถึง เกรท วอลล์ มอเตอร์ ที่มีแผนขึ้นไลน์ผลิต เอสยูวี ปิกอัพ และรถพลังงานไฟฟ้าในไทย แต่เบื้องต้นสำหรับ “อีวี” มีโอกาสนำเข้ามาทำตลาดก่อน

ประเด็น “อีวี จีน" นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ทำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปแล้ว เรื่องการนำเข้า “อีวี” จากจีนโดยช่องทาง FTA ซึ่งมีผลต่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ลงทุนในประเทศ ตามที่รัฐบาลมีแผนสนับสนุน

“นโยบายรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลควรมีแผนงานที่ชัดเจน และทุกหน่วยงานควรประสานการทำงานเพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญควรวางแผนตามความเป็นจริง และพิจารณาศักยภาพของตนเอง พร้อมคำนึงถึงการรักษาฐานการผลิตเดิมด้วย” นายองอาจ กล่าว

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,635 วันที่ 13 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563