แบรนด์ดังสั่งผลิตเพิ่ม เบอร์ 1 ส่งซิก การ์เมนต์ไทยปี 64 ฟื้น

13 ธ.ค. 2563 | 06:55 น.

ไนซ์กรุ๊ป เบอร์ 1 ส่งออกเสื้อผ้ากีฬา ส่งสัญญาณการ์เมนต์ไทยปี 64 กลับมาฟื้นตัว เตรียมขยายผลิตป้อนแบรนด์ดัง 60 ล้านตัว

การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึง ณ เวลานี้สถานการณ์ในหลายประเทศดีขึ้น แต่อีกหลายประเทศสถานการณ์น่าห่วงมีการกลับมาระบาดในรอบสอง ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2563 ทะลุกว่า 68 ล้านคน นอกจากผลกระทบต่อชีวิตผู้คนแล้ว โควิดยังกระทบเศรษฐกิจ การค้าโลกชะลอตัว อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในรอบ 30-40 ปี โรงงานในอุตสาหกรรมกว่า 3,200 โรง ทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ระสํ่าถ้วนหน้าจากคำสั่งซื้อหดหาย คนงาน/พนักงานรวมกว่า 5 แสนคน ถูกลดเวลาทำงาน และถูกเลิกจ้าง

 

เบอร์ 1 วงการเริ่มฟื้น

นายประสพ จิรวัฒน์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไนซ์กรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่สุดของประเทศ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ล่าสุดของบริษัทกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยลูกค้ารายใหญ่ (ไนกี้,อาดิดาส,มิซูโน่, ฟุต ล็อกเกอร์) เวลานี้ได้เริ่มกลับมาเจรจาวางแผนธุรกิจร่วมกันอีกครั้ง มีคำสั่งซื้อ คำสั่งผลิตมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของลูกค้ายังไปได้ดี และขยาย ตัวมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด

 

“ในปีนี้เราน่าจะผลิตได้ที่ประมาณ 56 ล้านตัว ลดลงจากปี 2562 ที่ผลิตและส่งออก 58-59 ล้านตัว ส่วนยอดขายปีนี้ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด เราคาดยอดจะเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ 15% หรือมีมูลค่ามากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จากผลกระทบโควิดที่เกิดขึ้น คาดปี 2563 นี้ เราน่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว (ปี 2562 ไนซ์กรุ๊ปมียอดขาย 440 ล้านดอลลาร์) หรือหากลดลงคงไม่ถึง 10%”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ไนซ์กรุ๊ป”โชว์แผน เซฟ 2.6 หมื่นชีวิต รอวันกลับมาผงาด

การ์เมนต์CLMVระสํ่า ‘ไนซ์กรุ๊ป’ปรับแผนสู้

 

แบรนด์ดังสั่งผลิตเพิ่ม เบอร์ 1 ส่งซิก การ์เมนต์ไทยปี 64 ฟื้น

 

เป้าปี 64 เล็งผลิต 60 ล้านตัว

ส่วนปี 2564 ทางกลุ่มอยู่ระหว่างวางเป้าหมายธุรกิจ เบื้องต้นในแง่การผลิตคาดจะผลิตได้มากกว่า 60 ล้านตัว ผลพวงจากทางกลุ่มได้มีการพูดคุยและวางแผนงานกับลูกค้าในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งลูกค้าได้ให้ภาพมาระดับหนึ่งหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง และมีข่าวดีจากจะมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด ซึ่งจะทำให้การไปมาหาสู่ การเดินทางเจรจาติดต่อธุรกิจ รวมถึงอีเวนต์การแข่งขันกีฬาต่าง ๆ น่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นแต่ยังคงมีมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวด อย่างไรก็ดี ภาพรวมของไนซ์กรุ๊ปที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นนี้คงไม่สามารถเป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าผู้ประกอบการสิ่งทอและการ์เมนต์ทุกรายจะฟื้นตัวเช่นเดียวกัน เพราะสถานการณ์แต่ละรายแตกต่างกัน แต่ก็ขอเอาใจช่วยทุกรายให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้

 

เริ่มรับคนทดแทนลาออก

นายประสพ เผยว่า ช่วงสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดที่ผ่านมา ฐานการผลิตของไนช์กรุ๊ปที่มีอยู่ใน 4 ประเทศคือ ไทย กัมพูชา เวียดนาม และจีน คนงานรวมกว่า 26,000 คน ต้องปรับลดคนงานในเครือลงรวมกัน 2,000-3,000 คน โดยเป็นการลาออกของคนงานเองในช่วงที่ต้องปรับลดเวลาทำงานลงจาก 6 วันเหลือ 4 วัน (เวลานี้กลับมาทำงาน 6 วันเช่นเดิม) ไม่ใช่การเลย์ออฟ แต่เวลานี้ได้เริ่มรับคนงานเพิ่มจากสถานการณ์ตลาดในไตรมาสสุดท้ายรวมถึงแนวโน้มปีหน้าที่เริ่มดีขึ้น

 

“ปัจจุบันในแง่ของการผลิตเพื่อส่งออกเราจะใช้ฐานผลิตในไทยสัดส่วน 35-36% กัมพูชาประมาณ 30% เวียดนามกว่า 20% และจีนประมาณ 10% โดยฐานการผลิตในกัมพูชาเน้นส่งไปที่ตลาดอียู ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาถูกถอนสิทธิพิเศษทางภาษี (EBA) ทำให้เสื้อผ้าที่เราส่งออกจากกัมพูชาไปอียูต้องเสียภาษีนำเข้า 8-12% แล้วแต่พิกัด จากเดิมไม่ต้องเสียภาษีทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่เรายังคงฐานในกัมพูชาไม่ย้ายไปไหน โดยหวังอียูจะคืนสิทธิ EBA ให้กัมพูชาในอนาคต ส่วนฐานในจีน (ที่เมืองชิงเต่า) แม้จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ฐานในจีนก็ยังโอเค ตลาดเริ่มดีขึ้นหลังโควิดคลี่คลาย และเรายังใช้ฐานจากจีนส่งออกต่างประเทศด้วย”

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 9 ฉบับ 3635 วันที่ 13-16 ธันวาคม พ.ศ. 2563