เปิด 8  ขุมทรัพย์  จุดตัด รถไฟฟ้า สายสีส้ม 

13 ธ.ค. 2563 | 01:45 น.

เปิด 8  ขุมทรัพย์ใหญ่  จุดตัด รถไฟฟ้า สายสีส้ม เส้นทางฮอต เชื่อมการเดินทาง รถไฟฟ้าสายหลัก สายสีเขียว-สีน้ำเงิน สร้างชุมชนขยาย  หลัง บิ๊กทุนชิงประมูลเดือด

 

 

    จากความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่งให้กับทรัพย์บนดินได้อย่างมหาศาล สำหรับรถไฟฟ้าฮอตแห่งปี สายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) จนกลายเป็นศึกประวัติศาสตร์ชิงประมูล ถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล  เพราะนอกจากมีศักยภาพรองจากสายสีเขียวและสายสีน้ำเงินแล้ว  ยังเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพในตัวเองสูง มีจุดตัดเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายอื่นมากถึง 8 แห่ง ทำเลทองแห่งใหม่ ไม่แพ้สายสีเขียว เส้นทางผ่านใจกลางเมืองย่านเศรษฐกิจสำคัญ
 

 

   ด้วยระยะทางยาว 35.9 กิโลเมตร จำนวน 29 สถานี รับส่งผู้โดยสารจากโซนตะวันออก บริเวณ (สุวิทวงศ์) มีนบุรี สถานีปลายทาง ซึ่งมีจุดตัดหรืออินเตอร์เชนจ์ใหญ่กับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งรัศมีโดยรอบก่อตัวเป็นชุมชนขนาดใหญ่ราคาที่ดินขยับสูง ไปยืนอยู่ที่ 2 แสนบาทต่อตารางวาได้อย่างเหลือเชื่อ นั่นเป็นเพราะรถไฟฟ้าทั้งสองเส้นทางก่อสร้างเป็นรูปเป็นร่าง โดยเฉพาะสายสีส้มตะวันออก  อีกทั้งรอยต่อเขตมีนบุรี-สุวิทวงศ์ยังเชื่อมโยงกับฉะเชิงเทรา จังหวัดหนึ่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งรัฐบาลลงทุนระบบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบินเมืองใหม่ทั้งที่อยู่อาศัย ดังนั้นมีนบุรีจึงถูกจัดเป็นเมืองขยายรองรับการเติบโตจากกรุงเทพชั้นกลาง-ชั้นใน และเมืองอีอีซีที่อาจทะลักเข้ามา
    

เปิด 8  ขุมทรัพย์  จุดตัด รถไฟฟ้า สายสีส้ม 

 

ที่สำคัญแนวเส้นทางจะตัดผ่านย่านเศรษฐกิจสำคัญ เป็นแนวกากบาทกับสายสีเขียว ที่วิ่งในแนวเหนือ-ใต้ของกทม. แต่สำหรับสายสีส้ม วิ่งไปในแนวตะวันออก-ตะวันตก จึงกวาดผู้โดยสารได้ทุกสารทิศ และเกิดเมืองใหม่ตามแนวเส้นทางจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางสำคัญ อย่างลำสาลี ที่มีรถไฟฟ้าตัดกันถึง 3 สาย ปัจจุบันมีดีเวลอปเปอร์ปักหมุดสร้างอาณาจักรคอนโดมิเนียมกันมากแล้ว โดยเฉพาะเส้นทางผ่านบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง ชุมชนขนาดใหญ่และเมืองมหาวิทยาลัย ซึ่งล่าสุดยังมีการเจรจาซื้อขายที่ดินตึกแถวเก่า กันต่อเนื่อง ตลอดแนวสังเกตได้ว่าถูกพลิกโฉม กลายเป็นคอนโด มิเนียมสูง ทั้งนี้ ดีเวลอปเปอร์ย่านนี้มีความเจริญสูง เป็นเมืองที่รองรับการขยายตัวต่อมาจากกรุงเทพชั้นใน แม้แต่ที่ดินในซอยราคา ยังทะลุ ตารางวาละ 3-4 แสนบาท ถือว่า ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับช่วงที่ยังไม่มีรถไฟฟ้า 
 

 

 

   เมื่อเส้นทางเลี้ยวเข้าสู่เส้นทางของถนนพระราม 9-รัชดาภิเษก ศูนย์วัฒนธรรม อินเตอร์เชนจ์ใหญ่ใต้ดิน แห่งแรกของประเทศไทย กับสายสีน้ำเงิน ซึ่งรัศมีโดยรอบเติบโตสูง กลายเป็นย่านธุรกิจ
แหล่งงาน เมืองอยู่อาศัย ศูนย์รวมแห่งการช็อปปิ้ง ชั้นนำ ทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์กลุ่มเซ็นทรัล เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ดินผืนใหญ่ของตระกูลวิทยากร เป็นต้น บริเวณนี้ผังเมืองกรุงเทพมหานครใหม่กำหนดเป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่
  

 

 อย่างไรก็ตาม สายสีส้ม จะวิ่งต่อไปยังฝั่งตะวันตกของเมือง ลอดใต้ห้างเอสพานาด ห้างใหญ่กลางใจเมือง วิ่งเข้าสู่ชุมชนประชาสงเคราะห์ ผ่านประตูเมืองหลวง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เข้าย่านค้าปลีก-ค้าส่งระดับโลก ประตูน้ำ เชื่อมเมืองมักกะสันย่านนี้ ศูนย์การค้าจำนวนมากปรับโฉมรอการมาของรถไฟฟ้าเส้นใหม่  และตลอดแนวมุดใต้ดิน ไปยังย่านฝั่งธนบุรี ก่อนจะวิ่งไปบรรจบกับสายสีน้ำเงินที่บางขุนนนท์ บริเวณนี้ พลิกโฉมจนจำแทบไม่ได้จากชุมชนเก่ากลายเป็นคอนโดมิเนียม แบนด์ดัง 

 

แหล่งข่าวจาก กรุงเทพ มหานคร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สายสีส้ม เป็นเส้นทางที่มีศักยภาพสูงในบรรดารถไฟฟ้า ที่เปิดให้บริการ อันดับ 1. ต้องยกให้สายสีเขียวเพราะเป็นเส้นทางที่พาผู้คนเข้าสู่ใจกลางเมือง เปิดหน้าดิน กลายเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของประเทศและระดับโลก อันดับ 2. สายสีน้ำเงิน เป็นเส้นทางเนรมิตย่านอยู่อาศัย และธุรกิจสำคัญ รับส่งผู้โดยสารได้ครบรอบวง ทั้งในเขตเมืองและย่านฝั่งธนบุรี และอันดับ 3 เป็นสายสีส้มที่สามารถป้อนผู้โดยสารให้สองเส้นทางหลักและเปิดพื้นที่พัฒนาเมืองรอบสถานีได้มากถึง 8 แห่ง บวก-ลบ 
    ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ เจ้าระบบราง อย่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จะยอมพลีชีพชิงประมูลจนทะลุจุดเดือดในเวลานี้ !!! 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,635 วันที่ 13 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563