ดร.กนก ชู สมุทรปราการโมเดล ยกระดับ เกษตรกร สู่การเป็น ผู้ประกอบการ

13 ธ.ค. 2563 | 01:26 น.

ดร.กนก หนุน ยกระดับ “เกษตรกร” สู่การเป็น “ผู้ประกอบการ” ผ่าน “สมุทรปราการโมเดล”

13 ธันวาคม 2563 ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำเสนอรูปแบบแนวทางในการปรับเปลี่ยน “เกษตรกร” ไปสู่ “การเป็นผู้ประกอบการ” ผ่านโครงการที่มีชื่อว่า “สมุทรปราการโมเดล” ในการลงพื้นที่ร่วมไปกับคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายนายอัครวัฒน์  อัศวเหม ประธานคณะ กมธ. ชุดนี้ และดร.พิมพ์รพี  พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเดินทางไปด้วย

 

รองประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม คนที่หนึ่ง เล่าว่า “กว่า 40 ปี พื้นที่สมุทรปราการถูกปรับเปลี่ยนจากการเป็นชนบท มีรายได้จากการปลูกข้าว ปลูกผักผลไม้ และเลี้ยงปลาสลิด ไปสู่การเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท และการทำธุรกิจค้าปลีกในด้านต่างๆ ซึ่งทิศทางของเศรษฐกิจอันขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมดังกล่าวนั้น สร้างรายได้มหาศาลผ่านการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศ

 

“แต่ที่น่าเสียดายก็คือ จำนวนรายได้ที่เกิดขึ้นอยู่ในสัดส่วนของนักธุรกิจจำนวนหนึ่งเท่านั้น ส่งผลให้เกษตรกรที่ถูกผลักเข้าไปอยู่ในภาคแรงงานตามโรงงานหรือร้านค้าต่างๆ ด้วยความจำเป็นจากการถูกแทนที่ด้วยภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องของรายได้ ที่เป็นส่วนแบ่งอันน้อยนิดจากเจ้าของธุรกิจ ในสถานการณ์ที่ความเจริญได้ยกระดับค่าครองชีพในพื้นที่ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ผม และคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร เดินทางลงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการในเขตอำเภอเมือง และอำเภอบางบ่อ เพื่อไปช่วยกันค้นหาทางออกจากความยากจนของชาวสมุทรปราการ ว่าควรมีแนวทางอย่างไร”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เบร็กซิตหนุนส่งออกไก่ไปอียูพุ่ง

"ทุเรียนใต้" ราคาหน้าสวนพุ่ง 170 บาท/กก.

จ่ายจริง! "เงินประกันรายได้ยางพารา" ผู้ถือบัตรสีเขียวและสีชมพู

 

ด้วยเหตุผลเบื้องต้น อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีท่านนี้ จึงสรุปแนวทางในการบริหารจัดการการพลิกฟื้นเกษตรกรในจังหวัดสมุทรปราการผ่านรูปแบบแผนงานที่มีชื่อว่า “จังหวัดโมเดล” ดังนี้ 

 

1.กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจากสมุทรปราการจะเข้าร่วมโครงการกับพวกเราจำนวน 25 แห่ง โดยจะเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ความต้องการของตลาดในปัจจุบัน และศักยภาพของคู่แข่งขัน เพื่อค้นหาเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึงด้วยการนำนวัตกรรมทางการผลิต และองค์ความรู้มาใช้ ผ่านผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันอาหารของกระทรวงอุตสาหกรรม เข้ามาช่วยกัน “พาทำ” ผ่านการสนับสนุนเครื่องมือจากหน่วยงานของรัฐ และความใส่ใจของชาวบ้านในชุมชน

2.การเลี้ยงปลาสลิดสำหรับชาวบางบ่อ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 26 ราย ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของที่ดินเอง (นอกเหนือจากการแบ่งขายไปบางส่วน) รวมๆ กันแล้วประมาณ 300 ไร่ ซึ่งต้องทำให้พวกเขามีรายได้พอที่จะไม่ต้องขายที่ดินทำกินเพื่อเลี้ยงครอบครัวอีกต่อไป ดังนั้น การยกระดับในด้านราคาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัย และสถาบันอาหาร จะเข้ามาเติมเต็มด้วยการสร้างความสมบูรณ์ของอาหารให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง อาทิ การทำปลาสลิดทอดกรอบให้ไม่มีกลิ่นหืนเมื่อเก็บไว้นาน จนถึงไม่มีน้ำมันตกค้างในปลาสลิดทอดกรอบ เป็นต้น รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันด้านการตลาด ที่มีแผนงานในการสร้างอัตลักษณ์ให้กับสินค้าที่มีความเฉพาะถิ่นเอาไว้แล้ว

 

“นี่คือแนวทางของสมุทรปราการโมเดล ที่ไม่ได้เริ่มต้นจากการพัฒนากระบวนการผลิตขั้นพื้นฐาน เหมือนกับสกลนครโมเดล กระบี่โมเดล และจันทบุรีโมเดล ที่ผมได้ดำเนินการไปแล้ว แต่เป็นการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มายกระดับเกษตรกรของชุมชน ให้กลายเป็น ผู้ประกอบการสำหรับท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นรากแก้วให้แก่ความยั่งยืนในแต่ละพื้นที่ชนบททั่วประเทศไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม ตามความตั้งใจของผม และทีม กมธ.วิทย์ฯ ที่ได้ร่วมกันวางเจตนารมณ์เอาไว้” ศ.ดร.กนก กล่าวทิ้งท้าย