“จีน”หนุนไทยป้องกันโรคเอดส์-แก้ปัญหาหมอกควัน

11 ธ.ค. 2563 | 10:24 น.

“จีน”หนุนไทยป้องกันควบคุมโรคเอดส์ ทั้งสนับสนุนแก้ไขปัญหาหมอกควัน รักษาระบบนิเวศแม่น้ำโขง การยกระดับอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง

วันนี้(11ธ.ค.63) พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับรูปธรรมของความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน กรณีที่จีนให้การสนับสนุนไทยในด้านสาธารณสุขในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคเอดส์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-โขง และสนับสนุนสถาบันวิจัยของประเทศไทยดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหมอกควัน รักษาระบบนิเวศแม่โขง การยกระดับอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ฯลฯ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๗ ธ.ค.๖๓ นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือสาธารณสุขในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษล้านช้าง-แม่โขง ปี ค.ศ.๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) โดยจีนจะสนับสนุนไทยในการดำเนินโครงการป้องกันโรคเอดส์ในอนุภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง

๑.๑ นับตั้งแต่กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) เป็นต้นมา ประเทศสมาชิกต่างๆ ได้ดำเนินโครงการสาธารณสุขและการลดความยากจน ๔๐๐ กว่าโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง

    

 

๑.๒ ปีนี้ เมื่อเผชิญหน้ากับโรคระบาดโควิด-๑๙ ประเทศสมาชิกของกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ได้ร่วมกัน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางด้านสาธารณสุข สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในอนุภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำลังร่วมกันศึกษาการพัฒนาระบบรายงานข้อมูลเหตุการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขและการจัดการร่วมกัน เพื่อความร่วมมือในการเตือนภัยโรคระบาดในระยะต้นและปฏิบัติโครงการสาธารณสุข อันจะทำให้ความร่วมมือทางสาธารณสุขยกระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างประโยชน์ให้ประชาชนในอนุภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

๒. เมื่อวันที่ ๘ ธ.ค.๖๓ นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานทูตจีนประจำประเทศไทย และ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือภายใต้กองทุนพิเศษล้านช้าง-แม่โขง ปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว จีนจะสนับสนุนมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของประเทศไทยดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหมอกควัน รักษาระบบนิเวศแม่โขง การยกระดับอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ฯลฯ

๒.๑ นับตั้งแต่กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ได้จัดตั้งขึ้น เมื่อปี ค.ศ.๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ ของประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการกองทุนล้านช้าง-แม่โขงอย่างแข็งขัน

๒.๒ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถานบันอุดมศึกษาอื่นๆ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพิเศษล้านช้าง-แม่โขง โดยดำเนินโครงการในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม บริการสาธารณสุข รักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

รวมทั้งโครงการต่างๆ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำกำลังเสนออยู่ในช่วงระยะที่ประเมินและพิจารณา มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ของไทยกำลังส่งเสริมให้ความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงพัฒนาไปในเชิงรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนทางปัญญาและองค์กรสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาค

 

๓. ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมก่อนหน้านี้

๓.๑ เมื่อวันที่ ๑๗ พ.ย.๖๓ นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานทูตจีนประจำ ประเทศไทยและดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านเกษตรในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษล้านช้าง-แม่โขงประจำ ปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ตามบันทึกฉบับนี้ จีนจะสนับสนุนฝ่ายไทยใน ๔ โครงการ ซึ่งได้แก่โครงการความปลอดภัยอาหาร การป้องกันกำ จัดแมลง การบริหารที่ดิน และการพัฒนาระบบเกษตรแบบยั่งยืน เพิ่มความสามารถในการปรับตัวของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปรงสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการผลิตทางด้านเกษตรของอนุภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขงในระดับโลก

 ๓.๒ เมื่อวันที่ ๒๓ พ.ย.๖๓ นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานทูตจีนประจำประเทศไทย และนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือพาณิชย์ในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษล้านช้าง-แม่โขง ปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) โดยจีนจะสนับสนุนฝ่ายไทยเพื่อดำเนินโครงการวิจัยการค้าขายและส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามแดนล้านช้าง-แม่โขง ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาศักยภาพของความร่วมมือระดับภูมิภาค รวมทั้งลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างชนบทและตัวเมืองและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค

บทสรุป ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างไทยกับจีนดังกล่าว เกิดขึ้นจากการให้ความสำคัญกับการพัฒนามิตรภาพระหว่างสองประเทศ ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ระบุไว้ในสารแสดงความยินดีเนื่องในวันชาติไทยเมื่อวันที่ ๕ ธ.ค.๖๓ ว่า จีน-ไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพัฒนาอย่างราบรื่น มีความสำเร็จอย่างชัดเจนในการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ส่วนในด้านการรับมือความท้าทายจากโควิด-19 นั้น รัฐบาลและประชาชนสองประเทศได้ช่วยเหลือกัน ร่วมกันขจัดอุปสรรค ทั้งยังกระชับมิตรภาพระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น