“รถเก่าแลกรถใหม่” มาตรการที่ดี …. เป้าหมายต้องชัด

11 ธ.ค. 2563 | 05:00 น.

ผมเห็นสื่อประโคมข่าวมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (รถเก่าแลกรถใหม่) โดยนำรถยนต์เก่ามาแลกซื้อรถยนต์ใหม่ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ แต่รายละเอียดยังไม่มีอะไรชัดเจน เพราะมีคำถามจากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้บริโภคมากมายหลายประเด็น เท่าที่ผมสรุปได้ซึ่งตอนนี้คนที่เกี่ยวข้องยังบอกว่าต้องไปดูรายละเอียดอีกที

แม้แต่รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ยังบอกว่าหยุดคุยกันเรื่องนี้ก่อนจนกว่าทุกฝ่ายจะตกผลึก แต่เท่าที่มีการแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ของผู้เกี่ยวข้องหลายคน หลายหน่วยงาน ทั้งสภาพัฒน์ฯ (สศช.)  ศบศ. หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งอาจแตกต่างออกไปบ้างในรายละเอียด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังไม่ตกผลึกกันในรายละเอียดจริง ๆ ซึ่งผมสรุปสาระสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องพูดออกมา คือ 

1.ต้องนำรถเก่าเข้าสู่ระบบรีไซเคิล

2.รถเก่าที่เข้าโครงการอายุ 10 – 12 ปี

3.ลดหย่อนภาษี 100,000 บาท ในเวลา 5 ปี

4.หรือเป็นคูปองไปลดราคาซื้อ 100,000 บาท

5.หรือบริษัทที่รับรีไซเคิลได้รับการสนับสนุนจากรัฐในการรับรถเก่า

6.บริษัทขายลดราคาร้อยละ 2 และค่ากำจัดซากอีก 1%

              รายละเอียดของมาตรการที่ออกมานั้น อาจต้องมองทั้งระบบ ตั้งแต่การเอารถเก่าออกจากถนน ธุรกิจการกำจัดซาก การจัดการรีไซเคิล และรถยนต์ใหม่ที่เข้ามาแทนของโครงการนี้ เพราะแต่ละจุดนั้นมีทั้งต้นทุน ค่าใช้จ่ายและรายได้ หากจัดระบบดี ๆ และโปร่งใสแล้ว เราสามารถสร้างรูปแบบการดำเนินการแบบธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมในทุกจุด ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในต้นทุนที่ต่ำสุด

“รถเก่าแลกรถใหม่” มาตรการที่ดี …. เป้าหมายต้องชัด

 ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้รับผิดชอบในโครงการ เช่น บริษัทรถยนต์เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการซาก หรือผู้ใช้รถยนต์เก่าเป็นผู้รับผิดชอบต้องกำหนดให้ชัด รูปแบบที่คิดว่าน่าจะมีประสิทธิภาพ ทุกจุดในห่วงโซ่ผู้รับผิดชอบต้องมีหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้ 

จุดแรก (การรวบรวมขยะ): การรวบรวมเครื่องไฟฟ้าเก่า รถเก่า และอื่น ๆ ที่ชุมชนต้องทิ้ง ที่ทิ้งเพราะกลายเป็นขยะ หรือต้องเลิกใช้ตามกฎหมาย เช่น อายุการใช้งานของรถเก่าตามกฎหมาย หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หมดอายุหรือเสีย ฯลฯ ต้องมีคนรวบรวม (Collector) ที่ได้รับมอบหมายโดยผ่านการประมูล ซึ่งจะมีต้นทุนในการรวบรวม และในขณะเดียวกัน คนรวบรวมก็จะมีรายได้จากการขายซากเหล่านี้ต่อธุรกิจแยกขยะ

ดังนั้น คนที่อยากได้สิทธิ์ในการเข้ามาทำหน้าที่รวบรวมซากต้องรู้ต้นทุนและรายได้จากการขายซากขยะที่รวบรวม คนบริหารระบบการจัดการภาพรวมก็สามารถ bid หาคนรวบรวม (Collector) ที่จะได้สิทธิ์รวบรวมในราคาต่ำสุด อาจจะเป็น 0 หรือขอค่าสนับสนุนในต้นทุนอุดหนุนจากผู้รับผิดชอบเก็บซากในจำนวนต่ำสุด

หรืออาจจะเสนอให้ผลตอบแทนกับผู้รับผิดชอบก็ได้ ถ้าคิดว่าตนสามารถทำกำไรได้จากการเก็บซากไปขายต่อ ต้องประมูลครับ เหมือนขยะบ้านเราในปัจจุบัน ผมว่าได้เงินจากผู้เก็บขยะแน่ ๆ แทนที่จะต้องจ่ายค่าจ้างในการจัดเก็บขยะ ยิ่งซากรถยนต์เก่าแล้วสร้างรายได้ได้มากแน่นอน                

จุดสอง (ธุรกิจแยกขยะ): จะมีค่าใช้จ่ายในการแยกชิ้นส่วนต่าง ๆ โดยรถทั้งคันนั้นมีทั้งของที่มีค่าและที่ไม่สามารถขายต่อให้กับบริษัทรีไซเคิลได้ ดังนั้น เราต้องรู้ข้อมูลว่าเมื่อรถเก่าเข้ามา ดูรายได้ในการขายของเก่าที่ใช้ได้ และต้นทุนการแยกชิ้นส่วน และของที่ต้องกำจัด ดูว่ามีกำไรหรือไม่ หากไม่พอก็ต้องชดเชยเพื่อให้ธุรกิจนี้สามารถดำเนินการได้ (อาจมาจาก ธรกิจในขั้นตอนอื่นที่มีกำไร)

จุดที่สาม (ธุรกิจรีไซเคิล): ธุรกิจแรกจะขายชิ้นส่วนที่แยกจากรถยนต์เก่าขายให้ร้านรีไซเคิลโดยการประมูล บริษัทรีไซเคิลที่อยากได้ก็ต้องรู้ข้อมูลตนเองว่า เมื่อนำมาแยกในชิ้นส่วนที่ประมูลมามีต้นทุนเท่าไรในการจัดการ และจะมีกำไรเท่าไร ดังนั้นเมื่อประมูล ก็จะเสนอราคาซื้อได้ถูก คนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดก็จะสามารถเสนอราคาสูงสุด ซึ่งมีผลดีต่อคนทำที่จุดแรก

บริษัทขายรถยนต์: เป็นคนรับรถยนต์เก่า และนำไปมอบให้ธุรกิจแยกชิ้นส่วนรถยนต์เก่า และเป็นผู้ขายรถยนต์ใหม่ โดยจะรับผิดชอบในการสนับสนุนธุรกิจแยกรถยนต์เก่าให้สามารถคุ้มทุนในการดำเนินการ วิธีการอาจประมูลการช่วยเหลือให้ธุรกิจแยกชิ้นส่วน หากรายใดที่เสนอขอรับการสนับสนุนน้อยที่สุดก็จะได้อยู่ในโครงการ

ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการคัดเลือกคนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดมาอยู่ในโครงการ และคนขายก็จะรู้สามารถลดราคาให้ผู้ซื้อได้สูงสุดเท่าไร หากคนขายคนใดสามารถเลือกคนกำจัดได้ต่ำสุดก็สามารถเสนอราคาขายให้ลูกค้าที่ซื้อรถใหม่ได้มากสุด 

ข้อสำคัญก็คือ ทุกส่วนต้องมีการกำหนดมาตรฐานและการกำกับให้ทุกธุรกิจดำเนินงานตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย … ไม่ใช่ลดต้นทุนโดยวิธีการผิดกฎหมาย

ระบบนี้ทำให้ผมนึกถึงระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ระบบ WEEE (Waste Electronic and Electrical Equipment) ของสหภาพยุโรป ที่กำหนดให้ผู้ค้าผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ต้องจ่ายเงินลงขันเป็นกองทุนตามสัดส่วนของยอดขายของตนเองในแต่ละปี เพื่อใช้ในการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งในแต่ละปี และวิธีการของเขาก็คือ การจัดหาผู้บริหารการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดตามระเบียบ และเป้าหมายที่กำหนด

ตั้งแต่การจัดเก็บ จนถึงการกำจัดซาก ซึ่งผู้ดำเนินการส่วนมากจะเรียกตัวเองว่า Scheme Provider ซึ่งมักเป็นมูลนิธิ คือเป็นองค์กรที่ไม่หวังกำไร จะเข้ามาเสนอตัวรับดำเนินการจากกองทุน ซึ่งจะเป็นการประมูลแข่งกันจากหลายมูลนิธิ ซึ่งปกติราคาที่นำเสนอเพื่อประมูลแข่งกันนั้น ต้นทุนจะประกอบด้วยต้นทุนค่าโลจิสติกส์ต่างๆ ต้นทุนในการจัดการขยะทั้งการแยกทำลายและการรวบรวมขยะ

และต้นทุนการบริหาร ดังนั้น หากบริษัทจัดระบบเก็บขยะต้องการได้สัญญางานจากลูกค้าตนเองก็ต้องเสนอราคาที่ต่ำมากๆ นั่นก็หมายถึง เขาต้องไปจัดการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพที่สุดทั้งระบบ เพราะบางกิจกรรมสามารถทำรายได้ บางกิจกรรมต้องจ่ายเงินอุดหนุน แต่รวมแล้วค่าใช้จ่ายทั้งระบบให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ตนเองเสนองานที่ดีที่สามารถจัดการขยะได้ตามที่ระเบียบกำหนดและในต้นทุนที่ต่ำ

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้า WEEE ก็ใช่ว่ามีอำนาจการต่อรองมากเสียจนสามารถกดราคาบริการของผู้บริหารระบบเก็บขยะลงมาต่ำจนเกินไปได้มาก เพราะหากค่าบริการที่ต่ำเกินไปทำให้การจัดการไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการเก็บและรีไซเคิลขยะ

ตามระเบียบของ WEEE ผู้ที่ถูกปรับก็คือผู้ผลิตและผู้นำเข้าเอง เงื่อนไขนี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องพยายามดำเนินการให้มีประสิทธิภาพภายใต้งบประมาณที่เหมาะสมที่สุด ดังนั้น ในการเจรจาสัญญาแต่ละครั้งระหว่าง Scheme Provider กับบริษัทที่รับผิดชอบหรือกองทุน จะมีการเปิดเผยข้อมูลต้นทุนทุกส่วนรวมทั้งค่าบริหารของ Scheme Provider ว่าเหมาะสมหรือไม่ 

ผู้จัดการระบบ (Scheme Provider) เหล่านี้ก่อนจะเสนอราคาประมูลงานให้กับผู้ผลิตสินค้าที่มีภาระในการเก็บขยะสินค้าเก่าของตนเองคืน โดยสัญญานั้นระบุผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบและแสดงต้นทุนในการจัดเก็บทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร สถานที่จัดเก็บ ส่งมอบเป็นอย่างไร โดยในกิจกรรมต่างๆ ในระบบนั้น ใช้แนวคิดระบบตลาดเสรีเพื่อดึงประสิทธิภาพ
การทำงานของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมา เช่น

การทำสัญญากับหลายบริษัทเพื่อให้เกิดการแข่งขันกันเองระหว่างผู้รวบรวมขยะ เพื่อให้ผู้จัดการระบบสามารถเลือกใช้ผู้รวบรวมขยะที่มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บและต้นทุนที่แข่งขันได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องมีการจัดการด้านโลจิสติกส์ทั้งการบริหารคลังขยะและการส่งโรงงานกำจัดและแยกขยะ

โดยให้มีการประมูลการแข่งขันกันเองระหว่างบริษัทโลจิสติกส์ และผู้จัดการระบบจะมีสัญญากับหลายบริษัทเพื่อเช็คต้นทุนและประสิทธิภาพการจัดการของแต่ละบริษัทเพื่อให้เกิดการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา อันจะเป็นกดดันให้บริษัทโลจิสติกส์ต้องเสนอบริการที่ดีที่สุดและเสนอต้นทุนการจัดการที่ต่ำที่สุดให้กับผู้จัดการระบบ

นอกจากนี้ ผู้จัดการระบบจะต้องเป็นผู้ว่าจ้างให้โรงงานกำจัดขยะ WEEE ในการทำลายหรือรีไซเคิลขยะ ในกรณีขยะบางอย่างไม่สามารถขายได้ เช่น แบตเตอรี่ ฯลฯ วิธีการในการทำสัญญาก็คือ ผู้จัดการระบบจะทำการประสานกับโรงงานกำจัดขยะหลายๆ โรงงานและให้แต่ละโรงงานเสนอค่าบริการในการกำจัดขยะมาให้ตนเอง ราคาที่เสนออาจจะเป็นตามน้ำหนัก จำนวน และประเภทของสินค้าที่ต้องกำจัด แล้วแต่ข้อตกลง

ซึ่งโรงงานเหล่านี้มีสิ่งที่ต้องพิจารณาในการเสนอราคาคือราคาคู่แข่ง ต้นทุนการจัดการ และความมั่นใจในการเสนอบริการต่างๆ ให้ได้ตามมาตรฐานของรัฐ และในการเสนอราคานี้ โรงงานกำจัดขยะต้องนำเอารายได้ที่เกิดจากการกำจัดขยะมารวมอยู่ด้วย เพราะขยะหลายประเภทมีส่วนประกอบที่สามารถทำรายได้ให้กับโรงงานกำจัดขยะ อาทิเช่น ส่วนประกอบตะกั่ว ทองแดง โลหะมีค่าต่าง ๆ ฯลฯ

ในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ แม้แต่พลาสติกเองก็มีการตัดเป็นชิ้นๆ เพื่อขายต่อโรงงานอื่นๆ ทำรีไซเคิลหรือส่งออกในบางกรณี ทำให้ค่าใช้จ่ายสุทธิที่มีต่อผู้จัดการขยะก็มีน้อยลง (แม้ว่าในระบบการผลิตแบบนี้ต้องเป็นโรงงานขนาดใหญ่เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดก็ตาม และทำให้ระบบตลาดเป็นแบบ Oligopoly ที่มีผู้เล่นไม่มาก แต่ระบบการแข่งขันและการบังคับเปิดเผยข้อมูลของผู้เล่นทั้งหมดจะทำให้ราคาหรือต้นทุนอยู่ในระดับต่ำที่สุดที่จะทำได้ในการประกอบธุรกิจ) ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานทั้งระบบและรัฐสามารถควบคุมได้โดยคนทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ผมเชื่อว่าในระบบการจัดการแบบนี้ไม่ใช่มีแต่ในยุโรปเท่านั้น ผมเห็นการจัดเก็บขยะและซากพลาสติกและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขาก็ใช้ระบบแบบนี้ โดยจัดการในรูปแบบสมาคมและได้รับอุดหนุนจากรัฐที่เก็บเงินจากผู้ผลิตและจากผู้ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องซื้อแสตมป์หรือสติ๊กเกอร์มาให้ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าก่อนถึงจะซื้อได้ และวิธีการนี้ก็ใช้ในกิจการอื่น ๆ ด้วย 

ในเกาหลีก็มีการจัดการคล้าย ๆ กัน เช่น การบริหารงานสนับสนุน SME ที่รัฐจัดการเรื่องสถานที่ ส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการ Scheme Provider จะทำหน้าที่หาพันธมิตรทุกระดับมาช่วย SME ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดตามเป้าที่รัฐต้องการ โดยมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เพื่อประมูลเสนอทำงานมาตรการนี้จากรัฐในการรับการอุดหนุนจากรัฐต่ำที่สุดในการแข่งขันกับมูลนิธิอื่น ๆ

สำหรับญี่ปุ่น ก็มีการประมูลหาสมาคมผู้ประกอบการหรือสถาบันต่าง ๆ เข้ามาประมูลในการรับเป็นผู้ให้คำปรึกษา SME ในแต่ละพื้นที่ของประเทศ และมีการติดตามประเมินผลตลอดเวลา และทุกปีก็จะมีการประมูลแข่งกัน ทำให้ทุกคนต้องมีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน หลายสมาคมประมูลต้นทุนต่ำ เพราะใช้รายได้ที่สร้างได้จากการประสานงานกับพันธมิตรต่าง ๆ ในพื้นที่ที่เข้ามาทำงานหรือทำธุรกิจกับ SME ที่ได้รับการปรึกษาหรือที่เข้าไปสร้างโอกาสให้ ทำให้ต้นทุนรวมสุทธิต่ำและการทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด และรัฐใช้งบประมาณน้อยสุด

เรากลับมาเรื่องรถยนต์เก่าแลกรถใหม่อีกที่ ผมว่าวันนี้เรายังไม่ตกผลึกในรายละเอียดของมาตรการที่จะออกมา และที่สำคัญ เป้าหมายของมาตรการนี้คืออะไรผมยังไม่แน่ใจ เพราะคนที่เกี่ยวข้องดูเหมือนจะเน้นเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยทดแทนรถยนต์เก่าที่ส่วนมากใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ PM 2.5 เป็นสำคัญ

หรือบางแหล่งก็พูดถึงเป้าหมายไปที่การสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย มาตรการนี้จะช่วยสร้างอุปสงค์รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ที่ช่วยสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้มีการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย สหรัฐอเมริกาก็เคยทำในยุคเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่ก็โดนแรงกดดันของบริษัทยักษ์ใหญ่ให้ใช้แบบไฮบริดได้ 

แต่ตอนหลัง ๆ มากคน เริ่มมากความ เริ่มมีการขยายวัตถุประสงค์ไปเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยขยายประเภทรถใหม่ที่เอารถเก่ามาแลกซื้อนั้น เดิมจากรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จริง ๆ ไปถึงประเภทปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และ Hybrid แถมยังผู้ประกอบการหลายบริษัทเสนอให้รวมรถยนต์ประเภท ECO Car เข้ามาด้วย

แม้ว่าจะไม่ใช่ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าก็ตาม โดยอ้างถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมนี้ โยงไปถึงบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ต่าง ๆ และการจ้างงาน สารพัดเหตุผล แบบนี้ก็ไม่ต้องมีรถเก่ามาแลกก็ได้ เพราะคนซื้อรถยนต์คันแรก หรือซื้อรถใหม่ แต่ไม่อยากทิ้งรถเก่าก็สามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นนี้ได้ ไม่งั้นต้องไปซื้อซากรถมาเป็นคูปองในการขอส่วนลดหรือใช้ประโยชน์จากมาตรการ เอาแบบมาตรการ “รถยนต์คันแรก” ไปเลย กระตุกยอดขายปัจจุบันได้จริง แม้ว่าจะเป็นการดึงอุปสงค์ในอนาคตมาใช้ก็ตาม

ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลหรือจะเอาเป้าหมายอะไรก็ไม่ผิดในการออกมาตรการนี้ แต่เป้าหมายต้องชัด เพราะไม่เช่นนั้น เราจะไม่สามารถออกแบบมาตรการและรูปแบบการดำเนินงานในทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง และหากคิดจะเอาทุกเป้าหมายแล้ว ก็ให้แน่ใจว่าในหลายเป้าหมายไม่ขัดกันเอง เพราะไม่เช่นนั้น มาตรการที่ออกมา รูปแบบบูด ๆ เบี้ยว ๆ ซึ่งนอกจากจะไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นอุปสรรคนโยบายอื่น ๆ ที่เราตั้งใจไว้อีกด้วย

ดังนั้น ก่อนจะกำหนดมาตรการ เราน่าจะคุยกันเรื่องเป้าหมายหลักให้ชัด ๆ ก่อนดีกว่า ว่าจะเอาอะไรกันแน่ ครับ