ทรานสฟอร์มองค์กร ต้องเริ่มที่ CEO

11 ธ.ค. 2563 | 08:35 น.

"อริยะ" CEO & Founder Transformational แนะ ทรานสฟอร์มองค์กร ให้สำเร็จ ต้องเริ่มที่ ซีอีโอ และบอร์ดบริหาร เพื่อส่งต่อให้ฝ่าย HR ทำหน้าที่คัดเลือกคน อัพสกิลและรีสกิล ให้ตอบรับกับโลกยุคใหม่ พร้อมเผย 5 แนวทาง การใช้เทคโนโลยีสร้างนวัตกรรมสูงสุด

ในเวทีสัมมนางาน THAILAND HR DAY 2020 - HYBRID CONFERENCE “Building Organizational Resilience: HR & the Future Strategy on Transformation” ซึ่งจัดโดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) นายอริยะ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่นนอล ได้พูดคุยในห้วข้อ (Culture) Transformation & Crisis Survival in 2021 “ซ้อมวิ่งให้เร็วที่สุดภายในอีก 1 ปีที่เหลือ ก่อนที่สถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ”

ทรานสฟอร์มองค์กร ต้องเริ่มที่ CEO

นายอริยะ กล่าวว่า การทำ Organizational Transformation ที่ยากที่สุด คือ Culture Transformation ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร CEO รวมไปถึงบอร์ด คือกุญแจที่สำคัญที่สุด ถ้าจะต้องการเปลี่ยนทิศทางองค์กรไปในโลกใหม่ ก็ต้องมีคนที่เข้าใจโลกใหม่อยู่ในระดับสูงขององค์กรด้วย ซึ่งวิกฤติการณ์โควิด -19 ได้ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีกลายเป็นกฎของโลกใหม่ ทุกคนต้องเรียนรู้เทคโนโลยีเหมือนเรียนภาษาใหม่ 

เทคโนโลยีกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก 7 ใน 10 คือ Tech company ในมุมมองที่ HR หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องสนใจก็คือ "Tech company มีพนักงานน้อยกว่าบริษัททั่วไปหลาย 10 เท่า แต่กลับมีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า” ทำไมบริษัทเหล่านั้นจึงก้าวหน้าได้ สิ่งสำคัญก็คือ HR ต้องทำความเข้าใจเทคโนโลยีด้วย เพราะ HR จะเป็นคนแรกที่ได้รับโจทย์ในการหาพนักงานที่ไม่เคยมีมาก่อนในองค์กร ทั้งๆ ที่ไม่มีใครรู้เลยว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนอย่างไร หรือต้อง Reskill ให้พนักงานคนไหน เป็นแบบไหน และก่อนที่จะไปถึงคำตอบ ที่ว่า HR ควรทำอย่างไร คนที่จะบอกสิ่งเหล่านี้ได้ก็คือ CEO

Organizational Transformation ไม่ใช่ทางเลือก พลังของเทคโนโลยีสามารถสร้างธุรกิจใหม่ได้ และเป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจต้องปรับตัว หากต้องการมีอนาคต แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องมาร่วมกันสร้างบ้านหลังใหม่ Transform เปรียบเทียบได้กับการที่องค์กรจะเปลี่ยนตัวเองไปสร้างบ้านรูปทรงใหม่ 

ทรานสฟอร์มองค์กร ต้องเริ่มที่ CEO

"ในขณะที่บ้านเรากำลังไหม้ เราต้องแยกร่างว่า ใครจะสร้างบ้านใหม่หรือใครจะดับเพลิง นั่นคือต้องมีคน 2 กลุ่มในองค์กรที่มี Skill Set ต่างกัน เมื่อได้เป้าหมายในการสร้างบ้านและดับเพลิงแล้ว ก็จะเห็นกระบวนการ Upskill, Reskill และในที่สุดก็ต้องมีการวัดความสำเร็จของนวัตกรรมในบ้านใหม่ ทั้งจากจำนวนผู้ใช้ การเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ รายได้ของบริษัทที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมอย่างน้อย 20 – 30% จะเป็นตัววัดว่าเราจริงจังกับการสร้างบ้านใหม่ของเรามากเพียงใด” นายอริยะกล่าว
 

นอกจากนี้ ในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันบ่อยๆ ว่า ทำไมบริษัทจึงล้มเหลวในการสร้างนวัตกรรม ซีอีโอ ทรานส์ฟอร์เมชั่นนอล แนะนำ 5 ข้อ ที่องค์กรต้องปฏิบัติ เพื่อการอยู่กับเทคโนโลยีและใช้เทคโนโลยีให้เกิดนวัตกรรมสูงสุด ได้แก่ 

ทรานสฟอร์มองค์กร ต้องเริ่มที่ CEO
1. เล่นเกมเดียวกับเทคโนโลยี เข้าใจเทคโนโลยี เพราะเป็นคนออกแบบเทคโนโลยีเอง 
2. ไม่จ้างคนมาทำเทคโนโลยี ถ้าเรายังไม่มีไอเดีย
3. หาช่องทางใหม่ ๆ สำหรับไอเดียของเรา การก็อปปี้คือการทำตามความสำเร็จจากสิ่งที่เราเห็น แต่เราไม่สามารถก็อปปี้สิ่งที่ไม่เห็นได้เลย 
4. ระวังการใช้เทคโนโลยีโดยไม่มีแผน และมองเทคโนโลยีเป็นแค่กิมมิคหรือการพีอาร์ ถ้าทำเช่นนั้นผ่านไป 6 เดือนทุกอย่างที่ลงแรงไปจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม
5. ในช่วง COVID – 19 องค์กรพยายามที่จะอยู่รอดในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การไม่ตระหนักถึงการไปต่อขององค์กรในอนาคต ตกหลุมพรางคิดว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิมเมื่อสถานการณ์นี้สิ้นสุดลง