ย้ำไทยอย่าเดินซ้ำรอยไต้หวัน เปิดรับ “หมูเคลือบสารพิษ” มะกัน

09 ธ.ค. 2563 | 11:30 น.

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ย้ำสุขภาพคนต้องมาก่อน เตือนไทยอย่าเดินซ้ำรอยไต้หวันเปิดรับหมูสหรัฐฯเคลือบพิษสารเร่งเนื้อแดง

นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เขียนบทความเรื่อง สุขภาพคนต้องมาก่อน ไทยอย่าเดินซ้ำรอยไต้หวันเปิดรับหมูสหรัฐเคลือบพิษสารเร่งเนื้อแดง ดังนี้

 

เหตุชุลมุนขว้างปา "ไส้หมู" ในรัฐสภาไต้หวัน จากความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาล ของพรรคก๊กมินตั๋ง (เคเอ็มที) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของไต้หวัน มีชนวนเหตุจากการอนุมัติให้นำเข้าเนื้อหมูสหรัฐฯที่มีสารเร่งเนื้อแดง แรคโตพามีน (Ractopamine) ที่สหภาพยุโรป (อียู) และจีน ห้ามนำเข้าเนื้อหมูที่มีสารอันตรายดังกล่าว

 

ก่อนหน้านี้ชาวไต้หวันหลายพันคน ก็ออกมาชุมนุมบนท้องถนนในกรุงไทเป เพื่อประท้วงการตัดสินใจของรัฐบาล จากความกังวลของสาธารณชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร และย้ำว่า “หมูในไต้หวันไม่ได้กินสารแรคโตพามีน แล้วทำไมรัฐบาลจะให้ชาวไต้หวันกินเนื้อหมูนำเข้าที่มีสารนี้”

 

ภาพทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนสำคัญ ที่ประเทศไทยต้องศึกษาและไม่เดินซ้ำรอยไต้หวัน เพราะต้องไม่ลืมว่า ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา สหรัฐฯใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้รัฐบาลไทย ยอมเปิดรับเนื้อหมูปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงมาอย่างต่อเนื่อง จากสมัยที่บารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาจนถึงสมัย โดนัล ทรัมป์ ที่ใช้เรื่องการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย มาเป็นเครื่องมือในการกดดัน

 

เป้าหมายใหญ่ของสหรัฐฯในการส่งออกเนื้อหมูและชิ้นส่วนที่คนอเมริกันไม่บริโภค ทั้งขา หัว และเครื่องในหมู มาขายในไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียที่นิยมบริโภคชิ้นส่วนเหล่านี้ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับขยะเหลือทิ้ง แทนที่จะต้องทำลาย ก็ส่งขายให้ประเทศอื่น ทั้ง ๆที่สหรัฐฯรู้อยู่เต็มอกว่า ในขยะที่ว่านี้เต็มไปด้วยสารแรคโตพามีน ที่ผู้เลี้ยงหมูสหรัฐฯสามารถใช้ในการเลี้ยงได้อย่างเสรี

 

ย้ำไทยอย่าเดินซ้ำรอยไต้หวัน เปิดรับ “หมูเคลือบสารพิษ” มะกัน

ขณะที่ข้อกำหนดของไทยชัดเจนว่า “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด” ผู้ใดลักลอบใช้ถือว่าผิดกฎหมายมีโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2546 สอดคล้องกับแนวทางของสหภาพยุโรป

 

แต่ที่ผ่านมาสหรัฐฯก็ไม่ลดละความพยายาม ยังคงอ้างมาตรฐานของคณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX Alimentarius Commission - CAC) ที่กำหนดค่าสูงสุดที่อนุญาตให้มีได้ หรือที่เรียกว่าค่า MRL ของสารแรคโตพามีน ไว้ที่ 10 ppb (part per billion) สำหรับเนื้อหมู ซึ่งข้อกำหนดนี้กลายเป็นอาวุธลับที่สหรัฐฯสามารถนำไปกล่าวอ้างกับทุกประเทศเป้าหมายได้อย่างชอบธรรม เพื่อสร้างราคาให้สินค้าเหลือทิ้ง นำเงินตราเข้าประเทศ และปกป้องรักษาอาชีพเกษตรกรคนเลี้ยงหมูอเมริกา

 

ย้ำไทยอย่าเดินซ้ำรอยไต้หวัน เปิดรับ “หมูเคลือบสารพิษ” มะกัน

ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าคนเอเชียทานหมูทุกส่วน ทั้งเนื้อหมู หัว เครื่องใน หนัง มัน ฯลฯ โดยเฉพาะคนไทยที่มีวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างออกไป ทั้งการกินหมูแบบสุก แบบดิบ กึ่งดิบกึ่งสุก เช่น ลาบ ลู่ และเนื้อแดงๆ ผิดกับชาวยุโรปและอเมริกันที่รับประทานเฉพาะเนื้อหมู ความพยายามส่งผลิตภัณฑ์หมูที่เคลือบสารเร่งเนื้อแดงเป็นของแถมมาให้คนไทยกินนี้ ก็เท่ากับพญาอินทรีย์ตั้งใจยัดเยียดสารอันตรายให้คนไทยตายผ่อนส่ง

 

ยังโชคดีที่ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไทยยังคงยืนหยัดปกป้องคนไทย ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อภัยร้ายในเนื้อหมูสหรัฐฯ โดยใช้เหตุผลด้านผลกระทบต่อสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน ในการคัดค้านการนำเข้าชิ้นส่วนหมูสหรัฐมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

 

และยังช่วยปกป้องอาชีพเกษตรกรเลี้ยงหมู ไม่ยอมให้หมูสหรัฐฯที่มีต้นทุนต่ำกว่า และมีความสามารถทางการตลาดที่แข็งแกร่งกว่ามาขายในไทย เพื่อไม่ให้คนผู้เลี้ยงหมูไทยกว่า 2 แสนคน ที่เลี้ยงหมูได้ 22 ล้านตัวต่อปี ต้องล้มหายตายจากไปกันหมด ไม่ให้ผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ รวมถึงภาคอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์สัตว์ไทย ที่ทั้งหมดในอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ต่างเชื่อมโยงเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

 

วันนี้ยังต้องเชียร์ภาครัฐต่อ อย่ายอมอ่อนข้อให้สหรัฐ ขอให้คิดถึงคนไทยเป็นสำคัญ เพราะสารเร่งเนื้อแดงที่อยู่ในเนื้อหมูสหรัฐฯนั้นเป็นภัยร้ายที่แฝงมาทำร้ายคนไทย อย่าเดินซ้ำรอยไต้หวัน อย่ายอมให้หมูสหรัฐฯเคลือบพิษสารเร่งเนื้อแดง ที่ไม่ต่างจากระเบิดเวลา เข้ามาทำลายสุขภาพ ความปลอดภัยในอาหาร และอาชีพของคนไทย