โรงสีเซ็ง “ข้าวไทย” หลุดโค้งพัฒนาสายพันธุ์

09 ธ.ค. 2563 | 10:50 น.

เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย  ปลุกรัฐตื่น ผวา “ข้าวหอมมะลิ” หลุดโค้งพัฒนาสายพันธุ์ เล็งไม่ช้าโดนคู่แข่งแซงแน่ เร่งอัดงบช่วยนักวิจัยปั้นพันธุ์ข้าวตัวใหม่สู้ ก่อนสายเกินไป

หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ

 

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย และว่าที่แคนดิเดตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย   เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขอแสดงความยินดีกับ “ข้าวหอมมะลิ” ของไทยที่ได้รับการโหวตให้เป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลกอีกครั้งหนึ่ง ในงาน World Rice Conference ครั้งที่ 12 จัดโดย The Rice Trader ซึ่งครั้งนี้เป็นการประกวดออนไลน์ ในการประกวดข้าวของโลกทั้ง 12 ครั้ง ไทยได้ชนะเลิศ ทั้งหมด 6 ครั้ง โดยการเป็นการชนะเลิศร่วม 1 ครั้ง ข้าวกัมพูชา 4 ครั้ง เป็นการชนะร่วม 2 ครั้ง

 

“ข้าวจากสหรัฐฯ ชนะ 2 ครั้ง เป็นการชนะร่วม 1 ครั้ง ข้าวจากเมียนมา 1 ครั้ง และเมื่อปีที่แล้วข้าวจากเวียดนามชนะเลิศเป็นครั้งแรก 1 ครั้ง อย่างไรก็ตามผมตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ทั้ง 6 ครั้งที่ไทยได้ชนะเลิศได้มาจากข้าวหอมมะลิเพียง 1 สายพันธุ์ ส่วนกัมพูชาที่ชนะเลิศ 4 ครั้ง มาจาก 2 สายพันธุ์ และในครั้งที่ 12 มีประเทศเข้าร่วมการประกวด 5 ประเทศคือไทย เวียดนามกัมพูชา สหรัฐและจีน มีตัวอย่างข้าวส่งเข้าประกวด 20 กว่าตัวอย่าง แต่มาจากประเทศไทย 1 ตัวอย่าง ซึ่งก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ นั่นหมายความว่าประเทศอื่นๆ มีการส่งข้าวเข้าประกวดมากกว่า 1 สายพันธุ์ต่อประเทศ

 

นายหัสดิน กล่าวว่า  ข้าวหอมมะลิของไทยมีการปลูกมาตั้งแต่ปีพศ. 2502 และกลายเป็น Product Champion หนึ่งเดียวของไทย ผมตั้งคำถามว่าเราควรที่จะพัฒนาสายพันธุ์ ให้ข้าวหอมมะลิของไทยมีความโดดเด่นมากขึ้น เมล็ดยาวขึ้น หอมมากขึ้น เปอร์เซ็นต์การแตกหักต่ำลง ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นหรือไม่ หรือเราอาจจะเพิ่มสายพันธุ์อื่นๆให้เป็นสายพันธุ์ Product Champion ในอนาคต

 

สำหรับการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของไทย โดยส่วนใหญ่มาจากกรมการข้าว และสถาบันการศึกษา ผมอยากให้กรมการข้าวได้มีการประชุมร่วมกับ ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวทุกปี เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาสายพันธุ์ที่ตอบสนองกับความต้องการของตลาด เพราะตลาด เป็น Dynamic ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ วันนี้ความต้องการของผู้บริโภคเป็นแบบหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าใน 5-10 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรสนิยมในการบริโภค นอกจากเราจะต้องมีความหลากหลาย ของสายพันธุ์ที่ตอบสนองความต้องการของตลาด ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าว ก็มีความ ต้องการที่เหมือนกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง

เช่น ชาวนาต้องการพันธุ์ข้าว ที่สั้น เตี้ย ดก ดี คืออะไร คือพันธุ์ที่มีอายุสั้น ต้นเตี้ย ผลผลิตมาก คุณภาพดี ต้านทานต่อโรค และสภาพภูมิอากาศ เปอร์เซ็นต์การงอกสูง โรงสีก็มีความต้องการ ข้าวเปลือกที่ให้เปอร์เซ็นต์ต้นข้าวสูง สามารถแยกชนิดของข้าวชนิดต่างๆโดยดูจากกายภาพได้ หรือตรวจสอบได้ด้วยกระบวนการที่ง่ายและไม่ซับซ้อน ความบริสุทธิ์ของพันธุ์ข้าวชนิดต่างๆ ที่ชาวนานำมาขาย ก็มีความสำคัญมาก ผู้ขายข้าวภายในประเทศก็มีความต้องการข้าวหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้าวนุ่มเพื่อการบริโภค ข้าวแข็งเพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรม ผู้ส่งออกข้าวไปต่างประเทศก็ต้องการข้าวที่ต้นทุนไม่สูงมากนัก เพื่อที่จะสามารถนำไปขายประเทศต่างๆในราคาที่ไม่สูงกว่าราคาตลาดโลก และตอบสนองกับผู้บริโภคในต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศก็มีความต้องการที่แตกต่าง

 

ทั้งรสนิยมในการบริโภคข้าวใหม่ ข้าวเก่าหรือวิธีการหุงข้าว การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวจึงต้องตอบสนองกับความต้องการของตลาด ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงได้ ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวจึงมีความสำคัญครับ และเนื่องจากเกษตรกรต้องเปลี่ยนข้าวเปลือกที่นำไปปลูก ทุก 3-4 ปี เนื่องจากหากปลูกซ้ำๆ ก็จะเกิดการกลายพันธุ์ได้ ความต้องการเมล็ดพันธุ์ที่ดีเพื่อนำไปเพาะปลูก จึงมีความสำคัญมาก

 

“วันนี้ผมเรียกร้องให้รัฐบาล ใช้งบประมาณกับการพัฒนา สายพันธุ์ข้าวใหม่ๆและการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด ปัจจุบันความต้องการอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี แต่ว่าวันนี้ “กรมการข้าว” ผลิตเม็ดพันธุ์ได้ 85,000 ต่อปี น่าจะตั้งเป้าให้สามารถผลิตได้ อย่างต่ำ2 แสนตัน และสนับสนุนให้ศูนย์ข้าวชุมชน สหกรณ์การเกษตรและเอกชน ซึ่งสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้อีก 442,000 ตันต่อปี ให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้อย่างต่ำอีก 8 แสนตันต่อปี เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการนำเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีไปเพาะปลูก”

 

นายหัสดิน กล่าวว่า เอกชน หรือสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว เสมือนเป็น "ลูกเมียน้อย" ไม่ได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากภาครัฐ ทั้งที่ความจริง เป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวของประเทศ เพราะเป็นผู้ที่ทำให้พันธุ์ข้าวไปสู่ในมือเกษตรกรได้มีอย่างเพียงพอ เกษตรกรเอง ต้องใช้พันธุ์ข้าวอย่างน้อย 2-3 ปี ต้องเปลี่ยนแล้ว เพื่อให้ผลผลิตต่อไร่สูง มีความนิ่งเสถียร อาทิ ผลผลิตข้าว 1 ไร่ ได้ 1,000 ตัน เป็นต้น

 

นอกจากเรื่องพันธุ์ข้าวแล้วหน่วยงานของภาครัฐต้องดูกฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข้าว ต้องเป็นกฎระเบียบที่ขออนุญาตได้ง่ายและรวดเร็ว สนองความต้องการของตลาดในทุกด้าน เพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้รวบรวมข้าว สหกรณ์ฯ โรงสีข้าว   ผู้ค้าข้าวและผู้ส่งออกข้าว ในช่วงที่ข้าวออกต้นฤดูเพื่อเป็นการดูดซับผลผลิตในช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาดมากๆ ลดต้นทุนการขนส่งและอุปสรรคในการส่งออก สร้างทีมการตลาดของไทย เพื่อรักษาตลาดเดิม ฟื้นฟูตลาดเก่าและแสวงหาตลาดใหม่ ทำสื่อประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลก ทีมการตลาดข้าวจากไทยต้องเข้มแข็ง เพื่อให้ข้าวไทยเป็นหนึ่ง ไปอีกนาน

 

นายหัสดิน กล่าวในตอนท้ายว่า ตอนนี้รัฐบาลจะต้องมาทุ่มงบในการพัฒนาสายพันธุ์ไม่ใช่มาแก้ปัญหารายปี เพื่อตอบโจทย์ตลาด โรงสี เกษตรกร ซึ่งหากเปรียบเทียบงบในการพัฒนาสายพันธุ์ของเวียดนาม ไทยแค่20% ส่วนที่เหลือเป็นงบบุคลากร วันนี้ จะเห็นว่าคู่แข่ง มีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ของไทย ใช้ข้าวหอมมะลิตั้งแต่ปี 2502 มีระยะเวลา 61 ปีแล้ว ที่เราไม่ได้เปลี่ยน Product Champion เลย เรามีข้าวตัวธง ตัวเดียวเลย ปีนี้มีประเทศที่เข้าร่วมประกวด 5 ประเทศ รวมแล้วส่งไปกว่า 20 ตัวอย่าง แต่ประเทศไทย ส่งตัวอย่างเดียว ข้าวชนิดเดียว ก็คือ “ข้าวหอมมะลิ”

 

เมื่อเทียบกับประเทศอื่น จะส่งหลายชนิด แสดงว่าแต่ละประเทศมีความหลากหลายของสายพันธุ์เข้าประกวด ผมถามว่า เราจะกินบุญเก่าไปเรื่อยหรือ แต่ถ้าวันนี้เราไม่เริ่มทำ คู่แข่งจะตามเราทัน แล้วจะแซงหน้าเรา ผมจึงตั้งข้อสังเกตว่านอกจากจะพัฒนาข้าวหอมมะลิให้มีความโดดเด่นมากกว่าเดิม อาทิ มีเมล็ดยาว ผลผลิตต่อไร่สูง เพื่อให้เกษตรกรมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ความหอมเพิ่มขึ้น เปอร์เซ็นต์การแตกหักการสีข้าวควรจะน้อยลง จะเป็นแนวทางการพัฒนาสายพันธุ์เดิม ในขณะเดียวกันจะต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่เพื่อที่จะหา Product Champion ในอนาคตต่อๆ ไป เพราะวันหนึ่งก็ไม่รู้ว่าอนาคตของข้าวหอมมะลิอาจจะมีคนที่สามารถเทียบกับเราได้ เพราะระยะเวลา 61 ปีแล้ว ที่ใช้พันธุ์นี้พันธุ์เดียวเลย ในขณะที่คู่แข่งเริ่มรู้แล้ว วันหนึ่งในอนาคต ไม่ช้าก็คิดว่าคู่แข่งจะสามารถเทียบกับเราได้ เพราะวันนี้เห็นแล้วว่า เค้าสามารถขึ้นมาเทียบได้ถึง 6 ครั้งแล้ว ใน 12 ครั้ง จากการประกวด ต่อไปในอนาคตก็กลัวว่าจะโดนแซง ผมถึงบอกว่าการพัฒนาสายพันธุ์รัฐบาลจะต้องทุ่มงบประมาณลงไปในการพัฒนาสายพันธุ์ เพราะปัจจุบันงบประมาณน้อยมาก นี่คือสิ่งที่อยากจะขอฝากรัฐบาลไว้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

“หอมมะลิไทย”ผงาด คว้าแชมป์ข้าวโลก 2020

"ข้าวหอมมะลิไทย 105" ผงาดทวงแชมป์รางวัลข้าวรสชาติดีที่สุดในโลก (มีคลิป)

ปั้น “ข้าวหอมมะลิ” ทวงแชมป์ข้าวรสชาติดีสุดในโลก