นับถอยหลัง โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (2)

10 ธ.ค. 2563 | 04:20 น.

นับถอยหลัง โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปึก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

นับถอยหลัง  โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (2)

แต่รัฐบาลจีนดูจะมองไกลกว่าที่หลายประเทศเคยทำมา เพราะจีนได้เตรียมหลายสิ่งไว้สร้างความตื่นตะลึงอีกมากมาย กล่าวคือ รัฐบาลจีนลงทุนก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นมากมาย อาทิ สนามบิน รถไฟความเร็วสูง และวงแหวนรอบที่ 7 รวมทั้งระบบและโบกี้รถไฟใต้ดินโฉมใหม่ 

 

นักกีฬา ทีมงาน กรรมการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั้งจีนและเทศจะได้มีโอกาสใช้บริการสนามบินนานาชาติต้าชิง สนามบินสุดล้ำที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่ง ซึ่งเปิดใช้งานเมื่อปี 2019 สนามบินแห่งนี้คาดว่าจะพัฒนาเป็นสนามบินที่รองรับผู้โดยสารมากที่สุดในโลกในอนาคตอันใกล้

 

จีนยังเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นเมื่อสนามแข่งขันกระจายตัวอยู่หลายแห่ง ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์กีฬาเยี่ยนชิ่ง และจางเจียโคว่ตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านนักกีฬาและใจกลางกรุงปักกิ่งราว 80 กิโลเมตร และ 220 กิโลเมตร ตามลำดับ 

 

เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกในการเดินทางภายในเมือง รัฐบาลจีนได้วางแผนขยายเส้นทางและยกระดับบริการรถไฟใต้ดินในกรุงปักกิ่ง หลายคนที่เคยไปใช้บริการขนส่งสาธารณะที่ปักกิ่ง ซึ่งเก็บค่าบริการแบบเหมาตลอดสายจนถึงจุดหมาย คงจะรู้สึกเหมือนกับผมว่า ปักกิ่งมีบริการขนส่งสาธารณะที่ถูกมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

นับถอยหลัง  โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (2)

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังลงทุนก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเปิดให้บริการแล้วเมื่อปี 2019 ซึ่งทำให้การเดินทางระหว่างสองเมืองดังกล่าวใช้เวลาเพียง 50 นาทีเท่านั้น

 

จีนยังลงทุนก่อสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 7 ของกรุงปักกิ่ง โดยให้เส้นทางไปเกี่ยวผ่านเมืองจางเจียโคว่ สนามบินนานาชาติต้าชิง และเมืองใหม่สวงอันไว้เรียบร้อยแล้ว ที่น่าสนใจก็คือ วงแหวนนี้มีระยะทางยาวถึงราว 950 กิโลเมตร ซึ่งนับเป็นถนนวงแหวนที่มีระยะทางยาวที่สุดในโลกในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ จีนยังวางแผนจะนำเสนอนวัตกรรมอีกหลายส่วนต่อสาธารณชน การเปิดให้ผู้คนได้รู้จักและทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลในวงกว้าง เพื่อเป็นเชื้อให้ชาวต่างชาติได้นำไปใช้ต่อในประเทศของตนเองเป็นสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจีนประกาศไว้

 

ในด้านการถ่ายทอดและการดูแลสื่อมวลชนก็น่าตื่นเต้นยิ่ง เมื่อจีนกำลังซุ่มดำเนินการถ่ายทอดการแข่งขันด้วยระบบ 8K ที่มีความละเอียดของภาพแบบซูมเห็นริ้วรอยบนใบหน้าเป็นครั้งแรกอีกด้วย

นับถอยหลัง  โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (2)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

นับถอยหลัง โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (1)

 

อีกนวัตกรรมหนึ่งก็ได้แก่ รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า (Maglev) ที่มีความเร็วถึง 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จีนวางแผนจะทดลองวิ่งรถไฟนี้ภายในสิ้นปีนี้ และประกาศจะเปิดให้บริการเส้นทางแรกระหว่างปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ในปี 2021 ซึ่งจะทำให้การเดินทางระหว่างสองมหานครดังกล่าวใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง เทียบกับ 2 ชั่วโมงการบิน และราว 4 ชั่วโมงครึ่งของรถไฟความเร็วสูงในปัจจุบัน

 

อันที่จริง รถไฟเวอร์ชั่นใหม่นี้ต่อยอดมาจากเทคโนโลยีของซีเมน (Siemen) แห่งเยอรมนี ซึ่งจีนซื้อเทคโนโลยีมาเปิดให้บริการในเส้นทางสั้นๆ ราว 35 กิโลเมตรระหว่างสนามบินผู่ตงและตัวเมืองผู่ตงของเซี่ยงไฮ้ด้วยความเร็ว 430 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผ่านมาราว 20 ปี วันนี้จีนกำลังจะมีระบบรถไฟเดียวกันที่ดีและรวดเร็วกว่าของตนเองแล้ว

 

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ การใส่ใจอย่างจริงจังในด้านสุขอนามัย กล่าวคือ รัฐบาลยุคใหม่ของจีนได้หันมาให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาด้านการกีฬา โดยมีมุมมองว่า “ถ้าคนจีนไม่แข็งแรง จีนก็ไม่ต้องหวังไปแข่งกับใครในโลก” 

 

ทัศนคติที่เฉียบคมนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการวางรากฐานของท่านเหมา เจ๋อตง ผู้ประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อครั้งพยายามพลิกฟื้นสถานการณ์สุขภาพของคนจีน ที่ต้องเผชิญกับสงครามฝิ่นและความอดอยากจนจีนถูกตราหน้าว่าเป็น “คนป่วยของเอเซีย” เมื่อราว 100 ปีก่อน

 

รัฐบาลจีนจึงหวังใช้โอกาสของการเป็นเจ้าภาพฯ ในครั้งนี้ปลุกจิตสำนึกของความห่วงใยในสุขภาพของภาคประชาชน และลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐตามนโยบายดูแลรักษาสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชน

 

เท่านั้นไม่พอ เพื่อให้การลงทุนโดยตรงในการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโลกในครั้งนี้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจในระยะสั้น และยั่งยืนในระยะยาว รัฐบาลจีนจึงร่วมมือกับภาคเอกชน พัฒนาแนวคิดและรูปแบบการดำเนินงานที่มุ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศอย่างเป็นระบบและครบวงจร เพื่อหวังจะก่อให้เกิด “แรงกระเพื่อม” ต่อไปยังภาคเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ได้ในอนาคต

 

ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาฤดูหนาวเชิงคุณภาพสูงที่ประกาศเดินหน้าเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้กำหนดใช้กลยุทธ์ “การขยายสู่ทิศเหนือ ตะวันตก และตะวันออก” เพื่อโปรโมทกิจกรรมกีฬาน้ำแข็งและหิมะในทุกฤดูกาล

 

นับถอยหลัง  โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (2)

จีนตั้งเป้าหมายในปี 2025 ที่จะพัฒนาระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมกีฬาฤดูหนาว อาทิ การมีโรงเรียนอนุบาลและประถมการศึกษาที่เน้นกีฬาฤดูหนาวจำนวน 5,000 แห่ง ซัพพลายเออร์ 20 ราย และโครงการสาธิต 20 โครงการ รวมทั้งฐานอุตสาหกรรมกีฬาฤดูหนาวระดับชาติอีก 5 แห่ง

 

ในความพยายามที่จะประชาสัมพันธ์การเตรียมงานและโปรโมทกีฬาฤดูหนาว รัฐบาลจีนได้ลงทุนจัดกิจกรรมมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2020 รัฐบาลจีนจัด“Winter Expo” นิทรรศการและการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือประเด็น “เศรษฐกิจฤดูหนาว” ในเชิงลึก โดยมีผู้ผลิตและผู้ทำตลาดของต่างชาติกว่า 300 แห่ง และผู้แทนองค์การกีฬาระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมกีฬาต่างชาติกว่า 100 แห่งเข้าร่วมงาน

 

รัฐบาลจีนยังอาศัยเวทีสำคัญที่จัดขึ้นนำเสนอการเตรียมงานการเป็นเจ้าภาพฯ และประชาสัมพันธ์ “เศรษฐกิจฤดูหนาว” อย่างครึกโครม ยกตัวอย่างเช่น งาน China International Fair for Trade in Services (CIFTIS) ณ กรุงปักกิ่ง และงาน China International Import Expo (CIIE) ณ นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งท่านสี จิ้นผิงเป็นประธานการเปิดงาน

 

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังเดินหน้าผลักดันการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องให้เกิดเป็นรูปธรรม อาทิ ความร่วมมือในการลงทุนก่อสร้างและพัฒนาสนามกีฬา การฝึกอบรมบุคลากร การพัฒนาอุปกรณ์กีฬา และการท่องเที่ยว เป็นต้น (อ่านตอนจบฉบับหน้า) 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3634 วันที่ 10-12 ธันวาคม 2563