ลุ้นปีหน้าจีดีพีไทยโต 2.6% ปีนี้คาดยังติดลบ 6.7%

09 ธ.ค. 2563 | 02:57 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยย้ำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังจำเป็น ปรับคาดการณ์แนวโน้มปีนี้ดีขึ้นจากเดิมคาดว่าจะติดลบ 10% ปรับเป็นติดลบเพียง 6.7% จากนั้นจึงจะเริ่มมีการขยายตัวของ GDP ในปีหน้า ที่ระดับ 2.6% ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการผ่อนคลายล็อกดาวน์ หนุนด้วยการใช้จ่ายภาครัฐ

 

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยวันนี้ (9 ธ.ค.) ว่า ได้ปรับประมาณการตัวเลข เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2563 จะขยายตัวดีขึ้นที่ ติดลบ 6.7% จากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 10% เป็นผลจาก การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐบาล ขณะที่ตัวเลขการส่งออกเติบโตดีขึ้นที่ติดลบ 7% จากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 12% โดยการส่งออกยังมีทิศทางการฟื้นตัวช้าจากปัจจัยกดดันทั้งในเรื่องเงินบาทที่มีแนวโน้มหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 

ลุ้นปีหน้าจีดีพีไทยโต 2.6% ปีนี้คาดยังติดลบ 6.7%

ขณะที่ ปี 2564 มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก ที่ระดับ 2.6% โดยมีแรงหนุนจาก การใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งการบริโภคและการลงทุน แต่อัตราการเติบโตของจีดีพียังถือว่าไม่สูงมากนัก สะท้อนภาพของความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังเป็นตัวกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า

 

“ปีหน้าแม้ว่าจะมีข่าวดีเรื่องวัคซีนโควิด-19 ออกมา แต่ในรายละเอียดเรื่องการนำวัคซีนมาใช้จนกระทั่งปัจจัยเรื่องวัคซีนดังกล่าวจะมีผลบวกต่อเศรษฐกิจนั้นยังคงเร็วไป คงจะเริ่มเห็นปัจจัยนี้มีผลต่อเศรษฐกิจได้ในช่วงปลายปี 2564 และจะเห็นผลชัดเจนช่วงต้นปี 2565” นางสาวณัฐพรกล่าว และว่า

 

ในส่วนภาคการท่องเที่ยวของไทย แม้จะมีข่าวดีเรื่องวัคซีนเข้ามา แต่ทั้งหมดก็ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ประเมินว่าการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติคงค่อย ๆ ทยอยเปิดได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ซึ่งคาดว่าปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะอยู่ที่ 4.5-7 ล้านคน จากปีนี้อยู่ที่ 6.7 ล้านคน รวมทั้งมองว่าปีหน้ายังเผชิญสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทตลอดทั้งปี โดยประเมินว่าค่าเงินบาทจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 29.00-29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง และเงินต่างประเทศยังไหลเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มองว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะในครึ่งแรกของปี 2564 คาดว่าจะยังไม่มีการเปิดประเทศมากนัก ดังนั้น การพึ่งพิงการใช้จ่ายในประเทศอาจจะไม่เพียงพอที่จะมาทดแทนเม็ดเงินรายได้จากนอกประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องผลักดันมาตรการด้านการคลัง ผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจจะยังต้องดำเนินต่อไป

 

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีงบประมาณเพียงพอหรือไม่นั้น มองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้จะใช้งบไม่มากเหมือนช่วงที่มีการล็อกดาวน์ โดยประเมินว่ามาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นการบริโภคน่าจะใช้เม็ดเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาจากพระราชการกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ที่ยังมีเม็ดเงินเหลือ 4 แสนกว่าล้านบาท รวมกับงบกลาง ปีงบประมาณ 2564 ที่กันไว้ดูแลสถานการณ์โควิด-19 อีก 1.4 แสนล้านบาท รวมแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท ก็น่าจะเพียงพอดูแลเศรษฐกิจในปีหน้า (2564) หรือจนกว่าจะมีวัคซีนออกมาอย่างชัดเจนได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“โควิด-ม็อบ” ปัจจัยลบซ้ำซ้อนทุบเศรษฐกิจไทย

ธปท.ส่องเศรษฐกิจไทย หลังโควิด-19 โรคปฏิวัติโลก ยกเครื่องสู่อนาคต

เศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นจริงหรือ ?

 

สำหรับปัจจัยเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบันนั้น มองว่ายังทำได้ยากที่จะประเมินมูลค่าความเสียหายจากประเด็นดังกล่าว เพราะยังไม่มีผลกระทบรุนแรงจนถึงขั้นภาครัฐไม่สามารถเบิกจ่ายได้ หรือเบิกจ่ายงบประมาณได้ล่าช้าลง ทำให้การคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีในปี 2564 ยังไม่ได้รวมเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจเข้าไป เพราะยังยากที่จะคาดเดาว่าสถานการณ์จะเป็นไปในทิศทางใด

คาด กนง. ยังมีพื้นที่ในการลดดอกเบี้ย

นางสาวธัญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นระยะ โดยหากปรากฎสัญญาณลบของการฟื้นตัว คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ยังมีพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยนโยบายได้เพิ่มเติมอีก 0.25% หรือลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งการดำเนินการต้องควบคู่กับนโยบายอื่น ๆ ที่น่าจะมีประสิทธิผลตรงจุดมากกว่าด้วย เช่น การปรับปรุงโครงการซอฟท์โลน และการค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นต้น

 

ทั้งนี้ เห็นว่า โจทย์สำคัญของภาคการเงินในปี 2564 คือ การดูแลเรื่องคุณภาพหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ที่ยังมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของพอร์ตสินเชื่อรวม ให้สามารถประคองการจ่ายหนี้ปกติได้ต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการผ่อนปรนเกณฑ์จัดชั้นหนี้ของ ธปท. คงทำให้คุณภาพหนี้ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย แม้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.53% ในสิ้นปี 2564 จากสิ้นปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 3.35% แต่ก็ถือเป็นระดับที่ไม่สูงนัก ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ยังเป็นโจทย์ที่ต้องติดตามต่อเนื่อง เพราะสัดส่วนหนี้เอกชนต่อจีดีพียังเร่งตัวสูงขึ้น แตะระดับ 165-166% ต่อจีดีพี สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ ภาคท่องเที่ยว ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งความสามารถในการชำระหนี้ถดถอย

 

 “ยืนยันว่าหนี้เสียในปีนี้ยังไม่พีค แม้ว่าทิศทางหนี้เสียจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ทั้งหมดยังอยู่ภายใต้มาตรการผ่อนปรนของ ธปท. แต่ในปี 2565 ต้องกลับมาดูว่ามาตรการผ่อนปรนดังกล่าวจะมีการต่ออายุหรือไม่ และจะมีผลกับสัดส่วนหนี้เสียเพียงใด ขณะที่ปีหน้าสถานการณ์สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 4% ชะลอลงจากปีนี้ที่ 4.5% โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ปีหน้าจะขยายตัวที่ 4% ลดลงจากปีนี้ที่ 5.5% เนื่องจากปี 2563 มีการเติบโตที่สูง และปีหน้ากำลังซื้อยังไม่ชัดเจนด้วย” นางสาวธัญลักษณ์ กล่าว

 

ท่องเที่ยว-อสังหาฯ-รถยนต์ ค่อยๆ ฟื้นตัว

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ปีหน้าแม้อุตสาหกรรมหลักจะฟื้นตัวเป็นบวก แต่ก็ยังมีอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวช้าและต้องติดตาม ได้แก่

ภาคการท่องเที่ยว ที่ยังได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 ซึ่งภาครัฐยังต้องพิจารณามาตรการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีประเด็นเรื่องสภาพคล่อง รวมทั้งหน่วยเหลือขายสะสมที่คาดว่าจะสูงถึง 2.2 แสนยูนิต ในปีหน้า (2564)

ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวและคงผ่านปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่โจทย์หลังจากนี้คือ การยกระดับไปสู่รถยนต์แห่งอนาคต ไม่เช่นนั้นจะสูญเสียศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกได้