Brexit แค่ปลายภูเขาน้ำแข็ง

07 ธ.ค. 2563 | 06:45 น.

หลายคนอาจมองว่าการที่สหราชอาณาจักร (United Kingdom: UK) ออกจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) ที่เราทราบในชื่อ Brexit ที่คน UK ทำประชามติให้ลาออกจากการเป็นสมาชิก EU เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 นั้น มีนักวิชาการหลายวงการต่างวิเคราะห์ว่าจะกระทบต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง

แต่มอง ๆ แล้ว หลายคนบอกว่าผลกระทบทางตรงคงไม่มาก แต่สำหรับคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจริง ๆ ต้องทำงานมากขึ้น เพราะข้อตกลงที่ EU ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ให้โควตาภาษีต่าง ๆ กับประเทศสมาชิก ซึ่งมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นก็จะมีผลกระทบด้วย

              เมื่อ UK ออกจาก EU ทาง EU ก็ต้องแยกตารางข้อผูกพันทางภาษีนี้ใหม่ โดยแยกโควตาภาษีศุลกากร (Tariff Quota) ที่ EU เคยให้กับประเทศต่าง ๆ ออกเป็นโควตาของ EU และ UK เพราะต่อไปนี้ชายแดนของ EU และ UK ได้แยกออกจากกัน ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ ที่ได้สิทธิ์ก็ต้องเฝ้าดูตารางข้อผูกพันทางภาษีของ EU และ UK ภายใต้ WTO นี้ ว่าโควตานำเข้าสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีแต่ละรายการที่แบ่งใหม่นั้นตอบโจทย์การส่งออกของตัวเองที่แท้จริงหรือไม่

เพราะตัวเลขที่ใช้จัดสัดส่วนใหม่นั้น ทาง EU ดูจากสถิติเดิมสามปีก่อนมีประชามติ(พ.ศ. 2556 – 2558) ว่ามีการนำเข้าที่ EU และ UK เป็นอย่างไร จากนั้นก็คำนวณแบ่งสัดส่วนตามนั้น แต่ความจริง ในอดีตที่ผ่านมาสินค้าไทยที่ส่งออกไป UK และ EU ขึ้นท่าเรือไหนก็ตามจะไม่ได้ระบุชัดเจน บอกแค่ EU เราก็ต้องดูให้ดีว่าโควตาที่เขาจัดสัดส่วนใหม่นั้นสะท้อนภาพการส่งออกที่แท้จริงของสินค้าไทยหรือไม่

เพื่อให้เห็นภาพว่าข้อตกลงนี้มีผลต่อการส่งออกของไทยมากน้อยอย่างไรนั้น เราดูจากการส่งออกของไทยไป EU และการได้รับลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีศุลกากรของ EU นั้น คิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี จากการส่งออกของไทยไปยุโรปที่ 780,000 ล้านบาทต่อปี โดยสินค้าที่ใช้สิทธิ์ตามโควตานี้มากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์แปรรูป และข้าว  

ในวันที่ 24 กรกฏาคม 2561 ทาง EU จึงได้ส่งตารางที่ปรับใหม่ให้ทุกประเทศ สำหรับประเทศไทยแล้วพบว่าหลายรายการสัดส่วนการแบ่งโควตาไม่สะท้อนตลาดสุดท้าย (Final Destination) ของสินค้าส่งออกไทยอย่างแท้จริง เช่น เดิม EU เสนอให้แบ่งโควตาเดิมออกใหม่ เป็นของ EU 109,441 ตัน และของ UK เท่ากับ 50,592 ตัน แต่ผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ ๆ แจ้งว่าตลาดส่วนมากของไทยอยู่ที่ UK เป็นส่วนมาก

หลังจากการหารือร่วมกับผู้ส่งออกของไทยแล้ว ทางรัฐบาลไทย โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ยื่นเจรจาขอเจรจาเปลี่ยนใหม่ให้เป็นของ EU เหลือ 53,866 และของ UK 106,167 ตัน แต่ดูแล้วอัตราภาษีนอกโควตายังเท่า ๆ กัน เพียงแต่แปลงค่าภาษีนำเข้าจากรูปเงินยูโรเป็นปอนด์แทน และยังมีหลายรายการ เช่น ไก่หมักเกลือ ปลาซาร์ดีนแปรรูป ฯลฯ ที่ประเทศไทยได้เจรจาทั้งหมด 9 ครั้งกับ UK และ EU ตั้งแต่ต้นปี 2562 จนตกลงกันได้

และต้องนำหนังสือความตกลงกับ EU และหนังสือแลกเปลี่ยนกับ UK ให้ทางรัฐสภาฯ รับรองก่อนที่โควตานี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่ UK ประกาศใช้อัตราภาษีนำข้าวของตนเอง (United Kingdom Global Tariff: UKGT) ที่แต่เดิมใช้อัตราเดียวกันกับ EU รายการสินค้าที่เจรจากันครั้งนี้ส่วนมากเป็นสินค้าอาหารและเกษตร อาทิ ไก่ปรุงสุก ข้าว มันสำปะหลัง อาหารสำเร็จรูป ฯลฯ ซึ่งทาง EU ได้ให้โควตาทางภาษีศุลกากร (Tariff Quota) กับประเทศสมาชิก WTO ซึ่งเราก็ต้องเจรจากับทั้ง EU และ UK

ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ก็ได้ใช้หลักการในการเจรจาครั้งนี้ว่าประเทศไทยต้องได้ไม่น้อยกว่าก่อนมี Brexit และโควตาที่ไทยได้รับจาก EU รวมกับ UK ต้องไม่น้อยกว่าที่ได้จาก EU ก่อนมี Brexit ซึ่งผลการเจรจาครั้งนี้ หลังจากปรับสัดส่วนการจัดสรรโควตาใหม่จาก EU (28) มาเป็น EU (27) + UK แล้ว และเมื่อเทียบสถิติการส่งออกเดิมแล้ว พบว่า ผู้ส่งออกไทยสามารถประหยัดภาษีนำเข้าได้ถึง 2,140 ล้านบาท

ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องนี้ ต้องให้ทางรัฐสภารับรองร่างข้อตกลงระหว่างไทยและ EU และร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับสหราชอณาจักรตามข้อตกลงที่ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลกก่อนที่ทาง UK จะประกาศใช้ต้นปี 2564 ไม่เช่นนั้นผู้ส่งออกไทยจะไม่สามารถใช้สิทธิ์โควตาดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดทั้งสองเป็นไปได้ยาก และช่วยให้ผู้ส่งออกรู้ชัดเจนว่าได้สิทธิประโยชน์อะไร เพื่อให้บริหารจัดการการส่งออกได้เหมาะสม

หากดูภาษีนำเข้าสินค้าของทั้ง EU และ UK ในรายการสินค้าที่ไทยส่งออกมากที่สุด คือ ไก่ปรุงสุก ที่อัตราภาษีคิดเป็นภาษีเฉพาะ เท่ากับ 1024 ยูโรต่อตัน และของ UK เท่ากับ 826 ปอนด์ต่อตัน ซึ่งเทียบกับก่อน Brexit ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก ยกเว้นบางรายการที่อัตราภาษีใหม่ของ UK จะต่ำกว่า EU บางรายการ ช่วยให้ผู้ส่งออกไทยภายใต้ UKGT ต่ำกว่า EU ประมาณ 737 ล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้ผ่านการรับรองจากรัฐสภาก่อนเดือนมกราคม 2564

              เราต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องข้อตกลงภายใต้ WTO แต่วันนี้สินค้าไทยที่ส่งออกไป EU และ UK นั้นประเทศไทยได้ดุลการค้าเกินดุลจาก EU มาตลอด แม้จะมีโควตาพิเศษให้ แต่ปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยที่ส่งไปก็จะเกินโควตาที่เขาให้เสมอและเกินจำนวนมาก ทำให้เสียภาษีขาเข้าสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งของไทยที่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับยุโรปจะได้เปรียบสินค้าของไทยมาก เช่น เวียดนามที่มูลค่าการส่งออกรวมแซงหน้าไทยในปีนี้เป็นปีแรกแน่ ๆ ตัวเลข 10 เดือนแรกของปี 2563 เวียดนามส่งออก 2.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.9%

ในขณะที่ไทยส่งออกรวม 1.92 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 7.26% และยิ่งความตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามกับ EU มีผลใช้บังคับในเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งคาดว่าการส่งออกของเวียดนามไป EU น่าจะเพิ่มขึ้นอีก และอาจจะกินสัดส่วนตลาดสินค้าไทยใน EU มากขึ้น เพราะแนวโน้มที่ผ่านมา 10 ปี อัตราการขยายตัวของสินค้าจากเวียดนามเข้า EU สูงขึ้นกว่า 270% แต่ของไทยเพิ่ม 30% และวันนี้การส่งออกของเวียดนามไป EU มากกว่าไทยเกือบเท่าตัวแล้ว ดังนั้น เรื่องของ Brexit ในการรักษาตลาดทั้งสองนี้ถือว่าแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง

เพราะมูลค่าการส่งออกทั้ง EU และ UK รวมกันแล้วไม่ถึง 10% ของการส่งออกรวมของไทย แต่ก็เตือนให้รู้ว่าเราต้องทำให้ผู้ส่งออกได้มีโอกาสต่อสู้ในเวทีระนาบเดียวกับคู่แข่ง นึกง่าย ๆ ว่าหากเขามีข้อตกลงการค้าเสรีแต่เราไม่มี ดังนั้น โอกาสเอาตัวรอดก็ยากแล้ว 

แต่ถ้าพูดง่าย ๆ เราต้องนึกถึงการพัฒนาสินค้าส่งออกใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูง หรือไม่ก็ต้องลุยเจรจาการค้าระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้าสำคัญเพิ่มขึ้นให้เร็ว เพราะไม่เช่นนั้นเราจะเสียเปรียบคู่แข่งตั้งแต่ท่าเรือนำเข้าแล้ว แต่พอลงมือทำจริงอาจมีพวกเท้าราน้ำบอกว่าเราไม่พร้อม ไม่พัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เราไม่เปิดเจรจาเพราะสู้ไม่ได้ หรือกลัวเขาเอาเปรียบ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เรากำลังถอยหลังในทุกมิติในเวทีการค้าโลก