ลับ ลวง พราง ประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

07 ธ.ค. 2563 | 04:47 น.

รายงานพิเศษ ลับ ลวง พราง..ประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”  

การที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ขอเลื่อนยื่นคำชี้แจงต่อศาลปกครองกลางไปถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเลื่อนยื่นคำชี้แจงไปวันที่ 28 พฤศจิกายน และครั้งที่2 ขอเลื่อนไปเป็น วันที่15 ธันวาคม 2563 แต่กลับดอดไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองและทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์การคัดเลือกใหม่ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยอ้างว่าเป็นโครงการเร่งด่วน ไม่อาจรอคำขี้ขาดของศาลปกครองกลางได้นั้น

 

มันสะท้อนให้เห็นว่า รฟม.และคณะกก.คัดเลือกกำลังเล่นเอาเถิดกับศาลอย่างชัดเจน จากเดิม BTSC ยื่นร้องศาลปกครองกลาง จนมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์การคัดเลือกใหม่ ให้ใช้เกณฑ์การคัดเลือกเดิม และผู้เข้าประมูลยื่นซองประมูลตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน อีกด้านหนึ่ง รฟม. ก็ ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองและทุเลาของศาลปกครองกลาง และอีกด้านกลับประวิงเวลายื่นคำชี้แจงต่อศาลปกครองกลางโดยขอเลื่อนยื่นคำชี้แจงไปแล้วถึง 2 ครั้ง 2 คราและยังตั้งแท่นจะขอเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด เพราะก่อนหน้ารฟม.ก็สั่งเลื่อนการเปิดซองประมูลออกไปไม่มีกำหนดนำร่องไปแล้ว

 

ก่อให้เกิดขัอกังขา เพราะหากเป็นโครงการเร่งด่วนทำไมไม่เร่งประกวดราคาไปตามเงื่อนไขเดิมตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ที่ออกคำสั่งตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม หรือเหตุใดไม่รีบยื่นคำชี้แจงศาลปกครองกลางเพื่อที่จะได้เร่งพิจารณาชี้ขาดลงมา

          ​                      

เผือกร้อนในมือ”ลุงตู่”

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ​กำลังเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น”ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์”ที่กำลังเขย่าเสถียรภาพของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างหนักอยู่ในเวลานี้ กับเรื่องการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปีให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือ BTSC ของกรุงเทพมหานคร(กทม.)และกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกกระทรวงคมนาคม "กระตุกเบรกหัวทิ่ม" และลากเข้าไปเป็นวัวพันหลักข้ามโครงการกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เหมือนเป็นการท้าดวลกับ BTSC ที่กำลังร้องและแข่งโครงการสายสีส้ม มาแลกกับเรื่องการขยายสัญญาสายสีเขียว

 

แม้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะยืนยัน นั่งยันว่า ข้อโต้แย้งของกระทรวงคมนาคมที่ทำความเห็นคัดค้านการขยายสัญญาสัมปทานให้แก่รถไฟฟ้า BTSC ไม่ได้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังแอบแฝง ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือกันอย่างมีหลักเกณฑ์ พร้อมจะเปิดเผยและพิสูจน์ให้ทุกฝ่ายได้รับรู้

 

และแม้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะลงมาเคลียร์หน้าเสื่อเรียกทั้งสองฝ่ายมาหารือไปวันวาน แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปและไม่สามารถจะสยบศึกร้าวลึกภายในพรรคร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ได้

 

โดยประเด็นสำคัญที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ก็คือเรื่องของ ราคาค่าโดยสาร ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร เสนอไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย (68.2 กม.) ขณะที่กระทรวงคมนาคม โดยกรมขนส่งทางราง(ขร.)เห็นว่าเป็นราคาที่สูงเกินไป ราคาที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 50 บาท สุดท้ายพลเอกประยุทธ์ต้องตัดบทให้สองกระทรวงไปหารือร่วมกันอีกครั้ง ก่อนนำเสนอ คณะรัฐมนตรี(ครม.)

             

 กังขาข้อเสนอคมนาคม”เพื่อใคร?”

 

เมื่อย้อนรอยไปดูความเห็นของกระทรวงคมนาคมที่มีต่อเรื่องนี้ หลายฝ่ายต่างอดแปลกใจไม่ได้ เพราะมีถึง 3 Paper และแตกต่างกันโดยส้ินเชิง จากที่ทุกฝ่ายไม่เคยมีข้อโต้แย้งใดๆมาก่อน จนเรื่องการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผ่านไปจนจ่อรอเข้า ครม. แล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม แต่ไปสะดุดเพราะ รมต.คลังใหม่ คือ นายปรีดี ดาวฉาย เพิ่งมาวันแรก ขอถอนเรื่องเพราะยังไม่ทันได้ศึกษา จนล่าช้ามาเรื่อยๆ แล้วเมื่อโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ใครก็รู้ว่างานนี้ถูก “ตีตราจอง”กันเอาไว้ตั้งแต่ในมุ้งแล้ว โดยเจ้าพ่อวงการรับเหมาที่ต้อง “ชวด” โครงการรัฐไปหลายต่อหลายโครงการก่อนหน้า เจอคู่แข่งอย่าง BTSC

 

หนนี้จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อคว้าสัมปทานโครงการนี้มาให้ได้ จนถึงขนาดที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ลุกขึ้นมารื้อเกณฑ์ประมูลกัน "กลางอากาศ" ทั้งที่ภายหลังขายเอกสารประมูลกันไปแล้วกว่า 2 เดือน และเหลืออีกเดือนเดียวจะถึงกำหนดยื่นซองประมูล ทำให้ถูกบริษัทเอกชนที่ซื้อซองประมูลไปแล้วคือ BTSC ลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวยื่นฟ้องศาลปกครองกราวรูด ชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น

  ​แม้ในท้ายที่สุดศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งคุ้มครองและทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์การประมูลอื้อฉาวของรฟม.ดังกล่าว แต่ทั้ง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ยังคง “ดั้นเมฆ” จะใช้เกณฑ์ประมูลดังกล่าวอย่างไม่ลดละ และยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองและทุเลาการบังคับหลักเกณฑ์ประมูลอื้อฉาวดังกล่าว แต่จนแล้วจนรอดวันนี้ ศาลปกครองสูงสุดก็ยังไม่มีคำสั่งใด ๆ ลงมา...

 

ลับ ลวง พราง..ประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม!

 

สิ่งที่ทำให้ทุกฝ่าย "อึ้งกิมกี่" ได้เห็นพฤติการณ์ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในยุคที่นายกฯ ป่าวประกาศคนโกงจะต้องไม่ทีที่ยืน และรัฐบาลขุดนี้ยอมไม่ได้กับการทุจริตในทุกรูปแบบก็คือ พฤติกรรม “ลับ ลวง พราง” ของ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ที่มีต่อโครงการนี้

 

 เพราะในขณะที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดอดไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองและทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์พิจารณาคัดเลือกใหม่ดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด  ด้วยข้ออ้าง “เป็นโครงการเร่งด่วน ไม่สามารถรอฟังคำขี้ขาดของศาลปกครองกลาง” ได้นั้น ในอีกด้าน รฟม.ก็กลับขอเลื่อนการยื่นคำชี้แจงต่อศาลปกครองกลางถึงไปถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเลื่อนยื่นคำชี้แจงไป 28 พ.ย.63 และครั้งที่2 ขอเลื่อนไปเป็น 15 ธ.ค.63 และยังตั้งแท่นจะขอเลื่อนยื่นคำชี้แจงออกไปไม่มีกำหนด เพราะได้สั่งเลื่อนเปิดซองประมูลออกไปไม่มีกำหนดแล้วก่อนหน้านี้ ส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์อย่างชัดเจน แถมยังมีข่าวลือหากใช้เกณฑ์การคัดเลือกใหม่ไม่สำเร็จ ก็จะยกเลิกการประมูล แล้วเริ่มด้วยเกณฑ์การคัดเลือกใหม่แต่ต้น จะยิ่งล้าช้าไปเป็นปี

 

​สะท้อนให้เห็นว่า รฟม.และคณะกก.คัดเลือกกำลัง “เล่นเอาเถิด”กับศาลอย่างชัดเจน และทำให้ทุกฝ่ายได้แต่กังขา ตกลงโครงการประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้มนี้ เป็นโครงการเร่งด่วนดั่งที่รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก ยืนยัน นั่งยัน แน่หรือ

 

เพราะหากเป็นโครงการเร่งด่วนจริง เหตุใดรฟม.ถึงไม่เร่งประกวดราคาไปตามเกณฑ์คัดเลือกเดิมตามคำสั่งศาล หรือไม่ก็เร่งยื่นคำชี้แจงเหตุผล ความจำเป็นในการรื้อเกณฑ์คัดเลือก เพื่อที่ศาลปกครองจะได้เร่งพิจารณาชี้ขาดลงมา ซึ่งหากนับเนื่องจากวันที่ศาลกำหนดให้ รฟม.ยื่นคำชี้แจง และหาก รฟม.จะได้ชี้แจงเหตุในการรื้อเกณฑ์ประมูลตามที่ได้แถลงต่อสื่อมวลชนก่อนหน้าจนถึงวันนี้ที่กินเวลากว่า 2 เดือนแล้ว ก็เชื่อแน่ว่า ศาลปกครองน่าจะพิจารณาชี้ขาดออกมาได้ตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว

เดินเกมกระตุกเบรก..ต่อสัญญา BTS

  

​ย้อนกลับมาดูกรณีกระตุกเบรกการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ BTS  กับเหตุผลของกระทรวงคมนาคม ที่หยิบยกประเด็นเรื่องของค่าโดยสาร BTS ที่กทม. กำหนดไว้สูงสุดถึง 65 บาทสำหรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบ 68 กม.เมื่อเทียบกับค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินที่ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้บริการอยู่ ที่มีค่าโดยสารสูงสุดเพียง 42 บาทต่อระยะทาง 48 กม.อันเพื่อแสดงให้เห็นว่า อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS นั้นยังสามารถเจรจาปรับลดลงมาได้อีก​ดูเหมือนเหตุผลโต้แย้งของกระทรวงคมนาคมจะถูกจริต ทำให้ประชาชนคนกรุงเคลิบเคลิ้มตาม โดยไม่ได้พิจารณาไปถึงเนื้อแท้ของสัญญาสัมปทานของทั้งสองโครงการที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะรถไฟฟ้า กทม.นั้น บริษัทเอกชนคือ BTS จะต้องแบกภาระลงทุนเองทั้งหมด ทั้งงานโยธา งานระบบระบบรถไฟฟ้าและการให้บริการ และยังต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับกทม.อีกรวม 200,000 ล้าน

 

 ขณะที่รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินของ รฟม. นั้นนอกจากภาครัฐจะต้องแบกรับภาระค่าเวนคืนเงิน และเงินลงทุนด้านโยธาทั้งหมด เอกชนเพียงลงทุนเฉพาะระบบรถไฟฟ้าและการให้บริการเท่านั้น จน ทำให้หลายฝ่ายอดคิดไปไม่ได้ว่า เหตุใดกทม.และ BTS ไม่ลองศึกษาเชิงลึกดูว่า หาก BTS เป็นผู้รับสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอย่างที่ BEM ทำอยู่กับ รฟม.นั้น อัตราค่าโดยสารที่คนกรุงต้องจ่ายควรเป็นเท่าไหร่หรือหากอยากพิสูจน์กันนักว่า อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS และ BEM ควรเป็นเท่าไหร่ ใครอมหรือซุกผลประโยชน์เอาไว้กับตัวเองมากกว่ากัน  ก็น่าจะมาพิสูจน์กันที่การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ รฟม.กำลังโม่แป้งอยู่

 

เพราะ หากกระทรวงคมนาคมมั่นใจว่าค่าโดยสารของ รฟม.และ BEM ที่ให้บริการอยู่ต่ำกว่าแน่ ก็แล้วทำไม รฟม.ถึงไม่เปิดกว้างปัญหาที่จะให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จะไปปรับเปลี่ยนรื้อหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกให้ยุ่งขิงจนงานเข้าทำไมกัน เหตุใดไม่ประมูลไปตามหลักเกณฑ์เดิมซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ทุกโครงการของ รฟม. และของ รัฐใช้กันมาโดยตลอด ที่ผ่านจนไปขายซองประมูลแล้ว แม้แต่รถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินเองเพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้กระจ่างว่าราคาค่าโดยสารของ BEM ต่ำกว่า BTS จริงหรือไม่เมื่อต้องมายืนอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน

จริงหรือไม่จริง ฯพณ ท่าน รมต.ศักดิ์สยาม ชิดชอบ และนายกฯ”ลุงตู่” ที่เคารพ!