นับถอยหลัง โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (1)

05 ธ.ค. 2563 | 04:50 น.

นับถอยหลัง โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (1) : คอล้มน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

นับถอยหลัง  โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (1)

 

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2022 มีความสำคัญที่โลกต้องจารึกไว้เมื่อกรุงปักกิ่ง จะเป็นเจ้าภาพเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว (Olympic Winter Games) ครั้งที่ 24 หรือในชื่อย่อว่า “Beijing 2022” ณ กรุงปักกิ่ง ขณะที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับนี้อยู่ ก็เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 400 กว่าวันเท่านั้นแล้ว ที่พิธีอันยิ่งใหญ่ดังกล่าวจะเริ่มขึ้น

 

การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวในครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่จีนได้รับโอกาสนี้ ซึ่งจะทำให้ปักกิ่งเป็นเมืองแรกในโลกที่ได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาวในเมืองเดียวกัน  

 

มหกรรมกีฬานี้กำหนดพิธีเปิดไว้ในวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ และพิธีปิดในวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2022 แค่เพียงการกำหนดวันจัดการแข่งขันฯ ก็ทำให้ผมรู้สึกว่า รัฐบาลจีนได้วางแผนจัดงานใหญ่นี้ไว้อย่างลุ่มลึก 

 

ประการแรก “วันตรุษจีน” ในปี 2022 จะตรงกับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งชาวจีนส่วนใหญ่นิยมหยุดพักผ่อนกันราว 7-10 วันหรือมากกว่านั้น เท่ากับว่า ชาวจีนจะมีวันหยุดยาวที่สามารถเดินทางไปสัมผัสบรรยากาศที่สนามแข่งขัน หรืออยู่บ้านชมการถ่ายทอดสดกับสมาชิกครอบครัวได้อย่างมีความสุข  นับถอยหลัง  โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (1)

แน่นอนว่า รัฐบาลจีนจะใช้โอกาสนี้อวยพรปีใหม่และเผยแพร่วัฒนธรรมจีนผ่านพิธีเปิดการแข่งขันกับนักกีฬา กรรมการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ชมการถ่ายทอดสดทั่วโลกในโอกาสเดียวกัน

 

ในแง่ของการจัดเตรียมงาน นับแต่กรุงปักกิ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพฯ ในการประชุมคณะกรรมการโอลิมปิก หรือ “IOC” ครั้งที่ 128 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2015 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย รัฐบาลจีนก็ระดมสรรพกำลังและเริ่มเดินหน้าเตรียมจัดงานใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง

 

ในแง่ของสนามจัดการแข่งขัน โอลิมปิกกรีน (Olympic Green) ศูนย์กีฬาแห่งชาติในกรุงปักกิ่งที่ถูกใช้จัดโอลิมปิกฤดูร้อนเมื่อปี 2008 จะถูกใช้เพื่อจัดพิธีเปิดปิดและการแข่งขันกีฬาในร่มบางประเภท ขณะที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ กำหนดให้อีกเมืองอื่นของจีนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการแข่งขันในครั้งนี้ โดยเขตเยี่ยนชิ่ง (Yanqing) กรุงปักกิ่ง และเมืองจางเจียโคว่ (Zhangjiakou) มณฑลเหอเป่ย (Hebei) จะถูกใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬากลางแจ้ง 

 

“จุดนัดพบที่เปี่ยมด้วยความสนุกสนานบนพื้นน้ำแข็งและหิมะที่บริสุทธิ์” (Joyful Rendezvous Upon Pure Ice and Snow) ถูกใช้เป็นสโลแกนในครั้งนี้ ขณะที่ตัวนำโชค หรือที่เราเรียกทับศัพท์กันจนติดปากว่า “มาสก็อต” (Mascot) ก็มีชื่อว่า “ปิงตวนตวน” (Bing Dwen Dwen) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันในเชิงความหมาย นับถอยหลัง  โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (1)

เพราะ “Bing” (ปิง) มีความหมายว่า “น้ำแข็ง” ซึ่งสะท้อนถึงความบริสุทธิ์และความแข็งแกร่ง ขณะที่ “Dwen Dwen” (ตวนตวน) หมายถึง “เด็กๆ” ทำให้ตัวน้ำโชคมีความหมายโดยรวมที่แสดงถึงความแข็งแกร่งและความมุ่งมั่นของนักกีฬา และจะช่วยเสริมสร้างจิตวิญญาณของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

 

การออกแบบมาสก็อตนี้ก็ยังเต็มไปด้วยความหมายเชิงบวก โดยมีรูปลักษณ์เป็นหมีแพนด้าที่สวมใส่ชุดเกราะน้ำแข็งในอากัปกริยาที่ยืนโบกมือซ้ายทักทายผู้พบเห็นพร้อมรอยยิ้ม หากท่านสังเกตดีๆ จะเห็นรูปหัวใจสีแดงที่ฝ่ามือซ้าย ซึ่งต้องการบ่งบอกถึงการพร้อมต้อนรับด้วยความจริงใจของเจ้าภาพอีกด้วย 

นับถอยหลัง  โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (1)

นอกจากนี้ ในบริเวณใบหน้าของปิงตวนตวนก็มีเส้นสายหลากสีเขียนเป็นวงรีล้อมไว้ เส้นสายเหล่านี้หมายถึงลู่แข่งขันบนพื้นน้ำแข็งและหิมะ และการเชื่อมโยงและเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ สำหรับผมแล้ว เส้นสายเหล่านี้ยังช่วยเพิ่มสีสันให้แพนด้าน้อยตัวนี้ดูสดใสยิ่งขึ้น ขณะที่บริเวณท้องก็มีสัญลักษณ์ของโอลิมปิกและของการแข่งขันฯ ครั้งนี้ 

 

หากผู้อ่านเห็นมาสก็อตนี้ปุ๊บก็อาจหลงรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้นเหมือนกับผม เพราะ “ปิงตวนตวน” เปี่ยมไปด้วยความน่ารัก ร่าเริง และเป็นมิตร แต่ผมขอสารภาพว่า มองแว่บแรกก็ยังนึกว่าหมีแพนด้าตัวน้อยนี้สวมใส่ชุดนักอวกาศอยู่เสียอีก

 

แต่ท่านอาจทึ่งมากขึ้นเมื่อทราบว่า กว่าจะมาเป็นตัวนำโชคสุดน่ารักนี้ คณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ เปิดให้นักออกแบบทั่วโลกส่งชิ้นงานเข้าประกวดออกแบบ ซึ่งผลปรากฏว่ามีนักออกแบบส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 5,800 ชิ้นงานจาก 35 ประเทศ

ในการคัดกรองงานออกแบบดังกล่าว คณะกรรมการจัดงานฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญของจีนและนานาชาติมาร่วมกิจกรรมกัน และแต่งตั้งให้คณะผู้แทนของสถาบันด้านวิจิตรศิลป์แห่งนครกวางโจว (Guangzhou Academy of Fine Arts) และคณะศิลปศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจี๋หลิน (Jilin University) มาร่วมกันตัดสินผู้ชนะเลิศในขั้นสุดท้าย นับถอยหลัง  โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (1)

คณะรัฐมนตรีจีนเล็งเห็นถึงควาวมสำคัญของการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฯ โดยมุ่งหวังประโยชน์ในการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างเต็มที่ และไม่อยากทิ้งโอกาสในการเชื่อมโยงและเข้าถึงผู้บริโภคและแฟนกีฬาของจีนและทั่วโลกจากการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้

ในส่วนของผลตอบแทนโดยตรง รายได้จากค่าสปอนเซอร์ ค่าโฆษณา ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขัน และบัตรผ่านประตู รวมทั้งการจำหน่ายของขวัญของที่ระลึก และลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้อง แต่จากประสบการณ์การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาที่ผ่านมาของจีนพบว่า เม็ดเงินที่ทำกำไรจากส่วนนี้โดยตรงมีมูลค่าไม่มากนัก 

 

สิ่งหนึ่งที่เจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ ได้มาก ก็คือ การเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ และสินค้าและบริการของจีนในเวทีโลก หลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างใช้มหกรรมการกีฬานานาชาติเป็นเสมือนกระดานดีดเพื่อสร้างสถานะของตนเองในเวทีระหว่างประเทศด้วยกันทั้งสิ้น 

 

จีนยังสามารถใช้งานนี้เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาทิ การเป็นพันธมิตรด้านกีฬาฤดูหนาวกับต่างประเทศ โดยเมื่อต้นปี 2019 ถือเป็นปีแห่งกีฬาฤดูหนาวระหว่างจีนและฟินแลนด์ (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3633 วันที่ 6-9 ธันวาคม 2563