ระวังเงินร้อน รั้งเศรษฐกิจไทย 2564

03 ธ.ค. 2563 | 12:43 น.

ซีไอเอ็มบีไทยมอง เงินบาทแตะระดับ 28.60 บาทต่อดอลลาร์ปลายปีหน้า ชี้ 4 ปัจจัยเสี่ยงชี้เศรษฐกิจไทยปี64 "การเมือง -เงินบาท-การระบาดของโควิด รอบสอง และสงครามการค้า"

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยเปิดเผยว่า คาดว่า เศรษฐกิจไทย ปี 2564 จะขยายตัว 4.1% ดีขึ้นจากที่คาดไว้ก่อนหน้าที่ 2.8% และปีนี้ที่คาดว่า จะหดตัว 6.6% ดีขึ้นกว่าที่คาดจะหดตัว 7.5% เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ที่ออกมาดีกว่าคาด และ เศรษฐกิจโลก ที่ฟื้นได้เร็วจากมาตรการกระตุ้นในแต่ละประเทศ โดยเราอาจเห็นเศรษฐกิจไทยเริ่มขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนได้ในไตรมาส 2 ปีหน้า แต่ภาพการฟื้นตัวน่าจะชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง 

ระวังเงินร้อน รั้งเศรษฐกิจไทย 2564

"เศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากภาคการส่งออกตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เน้นเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนระดับล่าง และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องทั้งอัตราดอกเบี้ยต่ำลากยาว และมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ แม้จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อยู่เป็นระยะๆ" 

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และยุโรป ก็จะมีการเติบโตที่เร่งแรงขึ้นจากปีนี้ ตามการฟื้นตัวของการส่งออก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ และเมื่อการส่งออกสินค้าฟื้นตัว ภาคการผลิตก็จะเร่งขึ้น แม้การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกหรือการลงทุนภาคเอกชนใหม่ๆ อาจล่าช้าตามการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติ แต่จากกำลังการผลิตที่ขยับขึ้นจะทำให้เกิดการจ้างงาน การขยายชั่วโมงการทำงาน ส่งผลให้รายได้ของครัวเรือนและกำลังซื้อโดยรวมดีขึ้น 


สอดรับกับรายได้ภาคเกษตรปีหน้า ที่มีทิศทางสดใสขึ้นตามปริมาณผลผลิตที่น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นหลังเผชิญปัญหาภัยแล้งในปีนี้ และน่าจะส่งเสริมให้การบริโภคสินค้ามีการเติบโตที่ดีขึ้นและมีการกระจายตัวจากสินค้าไม่คงทนในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ไปสู่สินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์ได้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าหลังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนและสนับสนุนให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคขยับสูงขึ้น 

ขณะที่แรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ น่าจะยังมีต่อเนื่อง ทั้งจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่อาจขยับเป็นโครงการจ้างงานในพื้นที่ชนบทเพื่อให้เกิดรายได้ในท้องที่ได้ดีขึ้น ส่วนมาตรการทางการเงินทางธนาคารแห่งประเทศไทยธปท.) ไม่น่าจะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม แต่น่าจะมีการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมมาช่วยสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กเป็นมาตรการที่ตรงจุดแทน และอาจผ่อนคลายเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้สินเชื่อเติบโตได้ดีขึ้น 

 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย น่าจะอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะกว่าที่จะสามารถเปิดประเทศให้ต่างชาติเดินทางได้สะดวกมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ธุรกิจกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง และภาคการค้าปลีกต่างยังประสบปัญหาขาดรายได้ และอาจทำให้การจ้างงาน การใช้จ่ายของคนในกลุ่มนี้ยังฟื้นตัวช้า 

ระวังเงินร้อน รั้งเศรษฐกิจไทย 2564

"ระวังเงินร้อนฉุดบาทแข็ง แม้เศรษฐกิจปีหน้ากำลังฟื้นตัวได้ดีขึ้น ผ่านเครื่องจักรสำคัญคือภาคการส่งออกสินค้า แต่ปัจจัยเสี่ยงของปีหน้าก็คือตัวแปรสำคัญที่กระทบภาคการค้าระหว่างประเทศ นั่นคือ ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจแข็งค่าเทียบประเทศคู่ค้าสำคัญรายอื่นๆ ของไทยด้วย"

สำหรับเงินบาทที่แข็งค่ามาจากสองปัจจัยคือ ปัจจัยแรก เกิดจากการเกินดุลการค้าที่มากขึ้นตามการส่งออก ขณะที่การนำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอาจยังไม่เติบโตมากนักตามการลงทุนภาคเอกชนที่ยังฟื้นตัวช้า และปัจจัยที่สอง คือ กระแสเงินไหลเข้าในตลาดทุนที่มากขึ้น ทั้งจากการคลายความกังวลในวิกฤติเศรษฐกิจ จากสภาพคล่องที่ล้นระบบตลาดการเงินในประเทศสหรัฐฯและอีกหลายประเทศ ส่งผลให้เงินลงทุนเก็งกำไรจากต่างชาติเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย

 

"เงินร้อนหรือเงินลงทุนหวังผลกำไรระยะสั้นจากสภาพคล่องที่ล้นเหล่านี้ ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานของไทยที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง น่าจะมีส่วนสำคัญให้เงินบาทแข็งค่าได้เร็วในปีหน้า  โดยเรามองว่า เงินบาทที่แข็งค่าได้ถึง 6% จากปลายปีนี้หรือไปแตะระดับ 28.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯปลายปีหน้านี้ อาจมีผลให้การส่งออกสินค้าเติบโตได้ช้าลงกว่า กรณีที่เงินบาทไม่ได้แข็งเช่นที่คาดนี้"

 

อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ยังเป็นบวกตามความต้องการที่ดีขึ้นในตลาดโลก บาทที่แข็งค่าเร็วและแรงอาจดูเป็นไปได้ยาก แต่หากดูภาพการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่แข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ หลังวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ช่วงเฟดทำ QE ต่อเนื่องและหลังตลาดคลายความกังวลในสภาพคล่องรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เราอาจได้เห็นเงินร้อนท่วมตลาดเกิดใหม่อีกรอบ ผู้ส่งออกอาจลองหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินช่วยป้องกันความเสี่ยงจากบาทแข็งและหาทางถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯไว้ใช้จ่ายมากกว่าแลกกลับเป็นเงินบาทเพื่อลดต้นทุนจากการแลกเปลี่ยนเงิน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงจับตาสถานการณ์"แรงงาน-น้ำแล้ง-โควิดรอบใหม่"

คลังมั่นใจ เศรษฐกิจไทยปีหน้าเป็นบวกได้

อาคม ยันเศรษฐกิจไทย ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

“เศรษฐพุฒ”รับ ผลโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจไทย แรงและยาว