ควันหลง คดีบ้านพักทหาร • ศาลแจ้งจับแกนนำราษฎร • สอบรับประโยชน์เกิน 3 พัน

04 ธ.ค. 2563 | 01:30 น.

 

 

เป็นไปตามคาดกับผลการวินิจิฉัยคดี “บ้านพักทหาร” ของ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เมื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียง ชี้ขาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความผิด สามารถอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อไปได้ 

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ พักอาศัยในบ้านพักรับรองที่กองทัพบกจัดให้ และได้รับการสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้าและนํ้าประปา เป็นไปตามดุลยพินิจของกองทัพบก ที่มีอำนาจพิจารณาตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 ซึ่งระเบียบดังกล่าวใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.2548 ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่ง เป็นผบ.ทบ. และนายกรัฐมนตรี

“ตำแหน่งนายกฯ เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของประเทศ นอกจากเป็นหัวหน้าของคณะรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ยังมีฐานะเป็นผู้นำของประเทศ ความปลอดภัยของนายกฯ รวมทั้งครอบครัวจึงมีส่วนสำคัญ รัฐมีหน้าที่จัดการดูแลให้ปลอดภัยแก่นายกฯ และครอบครัว ตามความเหมาะสมแก่สภาพการณ์ ทั้งการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศ ล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักของผู้นำของประเทศในขณะที่ดำรงตำแหน่ง”

การที่กองทัพบกอนุมัติให้ใช้บ้านพักรับรองของกองทัพบก และสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้า ค่านํ้าประปา ซึ่งพล.อ. ประยุทธ์เคยได้รับสิทธิตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยปฏิบัติ เป็นไปตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นกฎที่ยังคงใช้บังคับอยู่โดยไม่ได้ถูกยกเลิกหรือเพิกถอน 

ประกอบกับกองทัพบกให้สิทธิดังกล่าวกับผู้มีคุณสมบัติตามระเบียบนั้น จึงไม่ได้เป็นการกระทำที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากกองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยราชการเป็นพิเศษ นอกเหนือจากปฏิบัติกับบุคคลอื่น จึงไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นกรณีการถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ 

 

 

ควันหลง คดีบ้านพักทหาร • ศาลแจ้งจับแกนนำราษฎร • สอบรับประโยชน์เกิน 3 พัน

 

 

แจ้งจับแกนนำราษฎร

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยออกมาดังกล่าว ได้สร้างความไม่พอใจให้กับ “แกนนำราษฎร” เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ได้โพสต์ข้อความโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ อย่างรุนแรง

ทำให้วันรุ่งขึ้น (3 ธ.ค. 63) ส.ต.ท. มนตรี แดงศรี ผู้อำนวยการกลุ่มงานนิติการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดี ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ผ่าน พ.ต.ท.นิติธร เดชระพีร์ รองผกก.สอบสวน กก.3 บก.ปอท. ให้ดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มราษฎรปราศรัย ที่โจมตีการทำหน้าที่ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว 

 

 

 

 

ส.ต.ท.มนตรี ระบุว่า เนื้อหาการปราศรัยของแกนนำตามที่ปรากฏผ่านสื่อโซเชียลเข้าข่ายดูหมิ่นศาล จึงมาแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้า ปอท. โดยให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะพิจารณาว่า การปราศรัยของแกนนำคนใดบ้างเข้าข่ายเป็นความผิด รวมถึงกรณีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของแกนนำกลุ่มราษฎร การล้อเลียนการทำหน้าที่ของศาล ซึ่งก็เป็นการดูภาพรวมทั้งหมด เบื้องต้นความผิดดังกล่าวเข้าข่ายผิดมาตรา 198 ประมวลกฎหมายอาญา 

สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณา หรือพิพากษาของศาลต้องระวางโทษจำคุกตั้ง 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เช่นเดียวกับ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ก็ได้เข้าแจ้งความเอาผิด นายนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำม็อบราษฎรที่ สน. ทองหล่อ กรณีโพสต์ข้อความหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ และดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

โดย น.ส.ปารีณา ระบุว่า ถือเป็น การนำข้อความเอกสารอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ดูหมิ่นศาล ขั้นร้ายแรง

 

คดีบ้านพักนายกฯจบแล้ว

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล ระบุว่า  สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมานั้น ถือว่าจบสิ้นกระบวนการในการพิจารณาเรื่องนี้แล้ว

“ขออย่านำไปอ้างอิงเรื่องนี้ในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องที่เข้าไปเกี่ยวโยงทางการเมือง ไม่อยากให้ประชาชนมองถึงประโยชน์ทางการเมือง แต่ขอให้คิดถึงประเทศชาติ โดยการดำเนินการทุกอย่างตามกลไกและขั้นตอนกฎหมายที่มีอยู่”

 

 

 

 

ลุยต่อรับของเกิน 3 พัน

ขณะที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักกิจกรรมทางการเมือง ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแหละประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน เพื่อให้ตรวจสอบกรณี พล.อ.ประยุทธ์ พักบ้านหลวง และมีสิทธิได้ค่านํ้า ค่าไฟฟรี และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย 

โดยตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นที่ศาลชี้ว่าไม่พ้นจากตำแหน่ง แต่สิ่งที่ศาลชี้เป็นการเข้าข่ายการรับประโยชน์อื่นใด ตามมาตรา 228 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ซึ่งสามารถตั้งข้อกล่าวหาไปยังศาลฎีกานักการเมืองได้ จึงต้องขอพึ่งอำนาจ กมธ.ให้รีบสอบสวนเรื่องนี้ ให้เร็วที่สุด และขอให้เชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้ออกระเบียบปี 2548 เข้ามาชี้แจงในที่ประชุมด้วย เพราะเป็นระเบียบที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการวินิจฉัย

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า จะรับเรื่องไว้ไต่สวนตามอำนาจหน้าที่ เพราะฟังแล้วแม้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันทุกองค์กร แต่กรณีกองทัพบกออกระเบียบให้อดีตผบ.ทบ.อยู่บ้านพักได้นั้น ไม่มีกฎหมายใดรองรับ และไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น ต้องเรียก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ.,​ พล.อ.ณรงค์พันธุ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.  รวมถึง พล.อ.ประวิตร มาสอบถามข้อมูล 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,633 หน้า 12 วันที่ 6 - 9 ธันวาคม 2563