ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน “ร้อนแรงอย่างมาก” รอบ 2 ปี

03 ธ.ค. 2563 | 08:53 น.

FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” ครั้งแรกในรอบ 2 ปี ชี้นักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าออกของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด ส่วนการเมืองในประเทศเป็นปัจจัยฉุด

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” ครั้งแรกในรอบ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 161.41 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 161% โดยนักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าออกของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐรวมถึงผลสำเร็จของวัคซีนป้องกันไวรัส-19 ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด คือสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ, การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นนักลงทุนบุคคลและสถาบันในประเทศ ปรับตัวขึ้นอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” และความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติปรับตัวขึ้นอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” ด้านหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพลังงาน และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดประกันภัยและประกันชีวิต 

“ผลสำรวจ ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้น 91% อยู่ที่ระดับ 150.00 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 167% อยู่ที่ระดับ 166.67 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 150% อยู่ที่ระดับ156.52 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวเพิ่มขึ้น 338% อยู่ที่ระดับ 175.00”

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวแรงตอบรับข่าวดีทั้งจากปัจจัยนอกประเทศ ที่ได้รับข่าวความสำเร็จของวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ทั้งของ Pfizer/BioNTech, Moderna และ AstraZeneca  ที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดไวรัสโควิด-19 สูง อีกทั้งข่าวความชัดเจนของผลการเลือกตั้งสหรัฐที่คาดว่าจะได้นายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 รวมถึงข่าวดีจากปัจจัยในประเทศจากการประกาศการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ปี 2563 แม้จะยังหดตัวที่ -6.4% แต่ปรับตัวดีกว่าคาดการณ์ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ 

นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2563 เพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาสก่อนหน้าหลังมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่อนคลายลง จากปัจจัยข้างต้นส่งผลให้เงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเป็นบวกสุทธิเป็นเดือนแรกของปี โดย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน ดัชนีปิดที่ 1,408.31 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.9% จากเดือนก่อนหน้า

ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลของสหรัฐ, การเริ่มดำเนินการตามนโยบายของนายโจ ไบเดน และสถานการณ์เศรษฐกิจในยุโรปหลังเพิ่มความเข้มงวดมาตรการล็อกดาวน์จากการระบาดระลอกสองของไวรัสโควิด-19 ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย, มาตรการภาครัฐในกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคเอกชนเพิ่มเติม และการทยอยอนุมัติงบประมาณให้แก่โครงการภายใต้กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 4 มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปีอาจปรับตัวลดลงเนื่องจากในช่วงปลายปีจะมีเม็ดเงินจากการซื้อกองทุนเข้ามาในตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงอาจมีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยมากขึ้นจากปัจจัยด้านการเมืองสหรัฐที่มีความชัดเจนและนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีไบเดนที่มีแนวโน้มประนีประนอมมากกว่า ทำให้เงินลงทุนจากสหรัฐไหลเข้า Emerging Markets มากขึ้น