“เยียวยาเกษตรกร” รายละ 3,000 บาท ซับน้ำตาชาวสวนยางใต้

03 ธ.ค. 2563 | 07:55 น.

บิ๊ก กยท.  สั่งการด่วน ช่วยเหลือผ่านเกษตรกรภายใต้กองทุนพัฒนายางพารา  ชี้ใครเข้าเงื่อนไขพร้อมจ่ายทันทีรายละ 3,000 บาท  ล็อกโควตาเฉพาะบัตรสีเขียว พร้อมเชิญชวนให้ร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยผ่าน กยท. 

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท

 

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนัก และทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล และนราธิวาส ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทั้งหมดประมาณ 5,274,333 ไร่ เป็นเกษตรกร จำนวน 478,760 ราย โดยขณะนี้ได้สั่งการให้ กยท.เขต และ กยท.จังหวัดในภาคใต้เร่งสำรวจสวนยางที่เกิดความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่ง กยท. มีมาตรการช่วยเหลือกรณีสวนยางประสบอุทกภัยผ่านกองทุนพัฒนายางพารา โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้ ต้องเป็นสวนยางที่ถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหายจนเสียสภาพสวน หรือได้รับความเสียหายในคราวเดียวกันไม่น้อยกว่า 20 ต้นต่อไร่ เกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 3,000 บาท

 

 

นอกจากนี้ กรณีสวนปลูกแทนที่ประสบอุทกภัยซึ่งหากพบว่าเสียสภาพสวนจะให้ระงับการปลูกแทน โดยไม่เรียกเงินคืนในส่วนที่เสียหาย จากนั้นจึงอนุมัติให้การปลูกแทนใหม่ แต่ต้องไม่เกินเนื้อที่ที่ระงับการปลูกแทน กรณีไม่เสียสภาพสวน ต้นยางหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่น (พืชหลัก) อายุไม่เกิน 2 ปีครึ่ง ได้รับความเสียหายหนัก ไม่สามารถค้ำยันได้ ต้องปลูกซ่อมเท่านั้น กยท. จะช่วยเหลือเป็นเงินค่าปลูกซ่อมครั้งเดียว อัตราต้นละ 45 บาท ส่วนต้นยางหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่น ที่เสียหายเอนล้ม แต่สามารถตัดแต่งและค้ำยันให้ตรงได้ กยท. จะช่วยเหลือค่าค้ำยันครั้งเดียว โดยต้นยางที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีครึ่งขึ้นไป แต่ไม่เกิน 3 ปี อัตราต้นละ 35 บาท และต้นยางฯ อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป อัตราต้นละ 110 บาท

 

 

“เยียวยาเกษตรกร” รายละ 3,000 บาท ซับน้ำตาชาวสวนยางใต้

 

นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้นยางพาราเป็นพืชที่สามารถทนต่อน้ำท่วมขังได้พอสมควร ประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน โดยขึ้นอยู่กับอายุของต้นยาง ระดับน้ำและความยาวนานของน้ำที่ท่วมขัง ดังนั้นการฟื้นฟูสวนยางให้ดีขึ้นหลังจากน้ำลดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด กยท. แนะนำเกษตรกรสำรวจความเสียหายสภาพสวนยาง เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูและจัดการสวนยางหลังจากถูกน้ำท่วม รวมถึง การเฝ้าระวังเรื่องโรคยางพาราที่มากับช่วงหน้าฝน คือ โรคใบร่วงไฟทอฟธอรา (Phytophthora) เกษตรกรควรบำรุงรักษาสวนยางให้สมบูรณ์โดยใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คือช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน เพื่อสร้างความทนทานแข็งแรงให้ต้นยาง เกษตรกรในรายที่ปลูกพืชร่วมยาง ควรจัดการสวนยางให้โปร่งอยู่เสมอ ไม่ให้สวนยางมีความชื้นสูง และควรกำจัดวัชพืชและตัดแต่งกิ่งในสวนยางให้อากาศถ่ายเท ให้แสงแดดส่องได้สะดวกทั่วถึง เพื่อลดความชื้นในสวนยาง

 

“กยท. ขอเชิญชวนร่วมช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ โดยร่วมบริจาคทรัพย์ผ่านบัญชี การยางแห่งประเทศไทย เลขที่บัญชี 058-0-38679-1 ธนาคารกรุงไทย สาขาบางขุนนนท์ ได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 31 มกราคม 2564 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การยางแห่งประเทศไทย (กองกลาง) โทร 0-2433-2222 ต่อ 291”

 

 

สังข์เวิน ทวดห้อย

 

ด้านนายสังข์เวิน ทวดห้อย กรรมการการยางแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานคณะอนุกองทุนพัฒนายางพารา 49 (5) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เกษตรกรชาวสวนยางที่จะเข้าคุณสมบัติเงื่อนไขจะต้องเป็นบัตรสีเขียวทั้งนั้น ส่วนในอนาคตกำลังแก้ไขระเบียบเพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งเกษตรกร 2 กลุ่มเท่าเทียมกัน ซึ่งในแต่ละปีทางคณะจะอนุมัติเงินไว้ 50 ล้านบาท กระจายไปยังทุกจังหวัดที่มีการปลูกยาง ดังนั้นเกษตรกรก็สามารถแจ้งได้ที่ กยท.สาขา ก็เข้าเงื่อนไขสามารถสั่งจ่ายได้ทันที ยกเว้นกรณีเงินไม่พอ ก็ให้ขอมาที่ส่วนกลาง