‘ใบยา ไฟโตฟาร์ม’เจ๋ง เร่งทดสอบวัคซีนโควิดในมนุษย์กลางปี 64

03 ธ.ค. 2563 | 04:00 น.

“ใบยา ไฟโตฟาร์ม” เตรียมทดสอบวัคซีนโควิด1-9 กับมนุษย์กลางปี 64 มั่นใจราคาถูกกว่านำเข้า ระบุเป็นวัคซีนจากพืชเจ้าแรกของอาเซียน คาดจะผลิตได้ 2 ล้านโดสต่อเดือน

ทั่วโลกกำลังแข่งขันกันผลิตและทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในส่วนของไทย คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกว่า 6,000 ล้านบาท เพื่อจองซื้อวัคชีนจำนวน 26 ล้านโดสจาก บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด คาดจะสามาถผลิตและใช้ได้จริงกลางปี 2564 ขณะที่ในประเทศก็กำลังเร่งวัคซีนทางเลือก
นางสาวสุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทกำลังอยู่ในขั้นตอนของการสร้างพื้นที่ตามหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิตยา (GMP) เพื่อใช้สำหรับทดสอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Covid-19) กับอาสาสมัครที่เป็นมนุษย์ของบริษัท โดยคาดว่าขั้นตอนดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้ภายในกลางปี 2564   
สำหรับพื้นที่ GMP ดังกล่าว บริษัทจะต้องใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท โดยจะอยู่ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ซึ่งหากผลทดสอบออกมาประสบความสำเร็จคาดจะสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ประมาณ 2 ล้านโดสต่อเดือน  โดยจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการพัฒนาวัคซีนที่มาจากพืชสำหรับคนไทย  และเป็นบริษัทไทยรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) ที่สามารถทำได้

‘ใบยา ไฟโตฟาร์ม’เจ๋ง เร่งทดสอบวัคซีนโควิดในมนุษย์กลางปี 64
“บริษัทใบยาจะเป็นรายแรกหรือไม่ที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ในไทย  คงไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน  เพราะในเวลานี้ก็มีอีก 1 บริษัทที่ได้ดำเนินการพัฒนามาอยู่ในขั้นตอนในระดับที่ไล่เลี่ยกัน แต่หากเป็นวัคซีนที่มีแหล่งที่มาจากพืชบริษัทจะเป็นรายแรกของไทย และรายแรกของภูมิภาคนี้ที่ทำได้สำเร็จ ปัจจุบันได้เริ่มกระบวนการพัฒนา และกระบวนการผลิตแล้วที่ห้องทดลอง โดยสามารถผลิตได้ประมาณ 2 แสนโดสต่อเดือน ซึ่งพื้นที่ GMP ที่กำลังก่อสร้างคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นก็จะต้องมีการดำเนินการเรื่องการขอใบอนุญาตด้านต่างๆ และจะสามารถทำการทดสอบวัคซีนกับมนุษย์ได้ในช่วงกลางปีหน้า”

 

สำหรับราคาวัคซีนที่บริษัทผลิตได้จะอยู่ที่เท่าใดนั้น ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนในเวลานี้ แต่เชื่อว่าจะมีราคาตํ่ากว่าราคาของวัคซีนในตลาดโลก ที่ประเมินกันว่าจะอยู่ที่ประมาณ 500 บาทต่อ 1 โดส อย่างแน่นอน ในส่วนของเงินทุนของบริษัทเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตคาดจะต้องใช้ทั้งหมดประมาณ 500 ล้านบาท โดยเวลานี้บริษัทก็อยู่ในกระบวนการพิจารณาพาพันธมิตรทางธุรกิจที่สนใจเข้ามาร่วมทุน หรือพิจารณาทางเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในกรณีที่มีการเปิดกระดานเพื่อระดมทุนสำหรับสตาร์ทอัพ (Startup) ได้เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันบริษัทได้มีการดำเนินงานผลิตยารักษาโรคโควิด-19 ควบคู่ไปด้วย
อนึ่ง บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นสตาร์ตอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตที่ใช้เซลล์พืช เงินลงทุน 3.94 ล้านบาท