รฟท. เร่ง เคลียร์ 2 สัญญา ‘รถไฟไทย-จีน’

02 ธ.ค. 2563 | 22:30 น.

รฟท.เร่งเคลียร์ 2 สัญญา ‘รถไฟไทย-จีน’หวั่นเข้าพื้นที่ล่าช้า ลุย ลงนามอีก 6 สัญญารวด ภายในม.ค. 64 ขณะที่สัญญา 3-1 เตรียมชงบอร์ดรฟท.เคาะผลประมูลรอบ 2 ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ลุยปรับแบบช่วงสถานีอยุธยา เหตุใช้ตอม่อร่วมไฮสปีด 3 สนามบิน

 

 

 

ล่าช้ามานานสำหรับขุมทรัพย์ใหญ่รถไฟไทย-จีน หรือ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ตามแผนต้องก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเชื่อมโยงรถไฟลาว-จีน และไฮสปีดเชื่อม 3 สนาม บิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกภายในปี 2566 

 

ด้วยอุปสรรครอบด้าน ทั้งการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผน เกิดสถานการณ์โควด-19 การฟ้องร้องอุทธรณ์เกิดจากความไม่ชอบมาพากล ในสัญญา 3-1 ที่ผู้เสนอราคาต่ำสุด อย่าง บีพีเอ็นพีกลับถูกกรรมการจับแพ้ฟาล์ว ปรับตกคุณสมบัติ กระทั้งมีการยื่นอุทธรณ์  แต่ในที่สุดแล้ว จ่อพลิกกลับมาเป็นฝ่ายชนะ ขณะความเคลื่อนไหว ของ 5 สัญญา ระยะทาง 96.65 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท ล่าสุด ได้ลงนามในสัญญาส่งผลให้ผู้รับเหมาสามารถลงพื้นที่ก่อสร้างได้ ส่วนที่เหลือ 6 สัญญา 119.91 กิโลเมตร 55,361.16 ล้านบาท  คาดว่าต้นปี 2564 ได้เห็นความคึกคักของเครื่องจักรและแรงงานในพื้นที่ ส่วนอีก 1 สัญญาช่วงบางชื่อ-ดอนเมือง 15 กิโลเมตร เกิดปมปัญหาทับซ้อนเส้นทาง ไฮสปีดอีอีซี ต้องเร่งเคลียร์พื้นที่ ก่อนเปิดประมูล ทั้งนี้ประเมินว่า จะเกิดการแข่งขันชิงงานกันอย่างดุเดือดโดยเฉพาะค่ายใหญ

 

รายงานข่าวจากจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  เปิดเผยว่า หลังลงนามสัญญาทั้ง 5 สัญญา แล้วเสร็จ จากนั้นจะเริ่มมอบหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ภายในเดือนมกราคม 2564 เนื่องจากต้องรอพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ซึ่งจะครบกำหนดภายในเดือนธันวาคม 2563 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือนหรือ 3 ปี คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในปี 2568 

 

รฟท. เร่ง เคลียร์ 2 สัญญา ‘รถไฟไทย-จีน’

 

 

 

นอกจากนี้ ยังเตรียมลงนามเพิ่มเติมอีก 6 สัญญา ต่อเนื่องประกอบด้วย สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน 8,626 ล้านบาท สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525 ล้านบาท สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท และสัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. วงเงิน 9,429 ล้านบาท เบื้องต้นผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.โดยจะเร่งลงนามสัญญาให้ทันภายในเดือนมกราคม 2564

 

ส่วนอีก 1 สัญญา คือ สัญญา3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดงและช่วงปากอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 11,386 ล้านบาท ที่จะลงนามสัญญาพร้อมกับอีก 5 สัญญาภายในเดือนมกราคม 2564 นั้น ขณะนี้ยังติดปัญหากรณีที่รฟท.ประกาศให้กลุ่มบริษัทอิตาเลี่ยน ดิเวลล๊อปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)หรือ ITD ที่จับมือพันธมิตรจีน ชนะประมูลสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในสัญญาที่ 3-1 ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ใช่ราคาที่ต่ำสุดในการประกวดทางอิเล็กทรอ นิกส์ แต่กลุ่มที่เสนอราคาต่ำสุด คือกลุ่มบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัดยื่นซองประกวดราคาในนามบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ได้เสนอราคาที่ต่ำสุดจริง

 

 

 

         แต่ในการยื่นเอกสารเพื่อพิจารณานั้นมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวนประกวดราคา ทำให้มีการยื่นอุทธรณ์ต่อกรมบัญชีกลาง ซึ่งหลังจากนี้จะต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณาผลการประกวดราคาอีกครั้งในกรณีที่มีบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดในการประมูลครั้งนี้

 

ทั้งนี้สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. วงเงิน 18,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการปรับแบบสถานีช่วงอยุธยา เนื่องจากต้องใช้โครงสร้างตอม่อร่วมกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งต้องดูรายละเอียดร่วมกับไฮสปีด เชื่อม 3 สนามบิน ขณะเดียวกันจากที่ทราบข้อมูลของไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าอาจจะเข้าพื้นที่ได้ล่าช้า ซึ่งจะต้องดูแผนงานของรถไฟไทย-จีนด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับสัญญา 2-3 ที่จะต้องวางระบบราง หากได้ข้อยุติจะเริ่มประกาศประกวดราคาโดยเร็ว คาดว่าจะลงนามสัญญาหลังจากที่ลงนามทั้ง 6 สัญญา เสร็จสิ้น

หน้า 7 ฉบับ 3632