"เพื่อไทย" จ่อถกสภา วางหลัก ขรก.เกษียณพักบ้านหลวง

02 ธ.ค. 2563 | 11:31 น.

"เพื่อไทย" ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรธน. แต่ยังเห็นต่าง เล็งถกในสภา วางหลักเรื่อง ขรก.เกษียณอยู่บ้านหลวง หวัง ลดความเหลื่อมล้ำ ขรก.ชั้นผู้น้อย

2 ธันวาคม 2563 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังรับฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ (ศาลรธน.) ในคดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พักบ้านทหาร หรือ บ้านหลวง ว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะผู้ร้องได้ทำเต็มที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนถึงที่สุดแล้ว

 

ส่วนข้อเท็จจริงเรื่องความปลอดภัยที่ศาลวินิจฉัยว่า นายกฯจะต้องได้รับการดูแลความปลอดภัยเป็นพิเศษเพราะเป็นผู้บริหารประเทศ ก็เห็นว่า นายกรัฐมนตรีคนก่อนๆก็อยู่บ้านพักตัวเอง และได้รับการดูแลจากรัฐเช่นเดียวกัน ไม่ได้มีมาตรการดูแลเป็นพิเศษแต่อย่างใด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด่วน "บิ๊กตู่" รอดคดีบ้านพักทหาร 

เปิดประวัติ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ชะตา "นายกฯ" ปม "บ้านพักทหาร" 

คำต่อคำ มติศาลรธน.เอกฉันท์ "บิ๊กตู่" ไม่ผิดคดีบ้านพักทหาร

 

หลังจากนี้พรรคจะกลับไปหารือกันโดยจะดูรายละเอียดของคำวินิจฉัย เพราะคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานให้องค์กรอื่นที่เป็นหน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติตาม จึงมีข้อสังเกตที่น่าคิดว่า ในอนาคตจะทำแบบนี้ได้หรือไม่ เพราะเมื่อศาลวินิจฉัยว่า นายกฯไม่ได้ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและไม่ได้กระทำการขัดจริยธรรม เราก็ยื่นร้องต่อไม่ได้
 

“บุคคลที่เป็นนายกฯต้องมีวุฒิภาวะ มีมาตรฐานทางจริยธรรมสูงกว่าคนอื่น วันนี้สังคมกังขาถึงการใช้น้ำไฟฟรี เพราะนายกฯเคยเป็นอดีต ผบ.ทบ. เมื่อมาดำรงตำแหน่งนายกฯถือเป็นข้าราชการการเมือง ซึ่งต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184(3)  ซึ่งในอนาคตหากหน่วยงานอื่นนอกจากกองทัพบกออกระเบียบภายในกันเอง ว่าข้าราชการที่เกษียณแล้วสามารถพักอยู่บ้านหลวงได้ โดยกระทำคุณงามความดี เราคงต้องใช้งบประมาณอีกเป็นจำนวนมากเพื่อสร้างบ้านรองรับข้าราชการเกษียณที่ทำคุณงามความดีหรือไม่” 

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการรัฐสภา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเรื่องระเบียบการใช้บ้านพักของหน่วยงานราชการควรเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งปัญหานี้เราห่วงข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ไม่มีบ้านอยู่ แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กลับมีบ้านหลายหลังสิ่งเหล่านี้เป็นช่องว่าง เป็นรอยต่อ เป็นความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในอนาคตต้องมีการพูดคุยเรื่องนี้ต่อไป เพราะเรามอง ว่าการที่คนเกษียณไปแล้ว สามารถใช้ทรัพย์สินของรัฐได้ ต้องมีกฎหมายรองรับ แต่เมื่อคำวินิจฉัยออกมาในลักษณะนี้ก็ต้องผลักดันเรื่องความเหลื่อมล้ำความเสมอภาคต่อไป และเรื่องนี้คงนำไปอภิปรายไม่ไววางใจต่อไม่ได้ เพราะไม่มีประเด็นอื่นแล้ว และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด