เผยสาเหตุ!! ป.ป.ช.นัดถก คมนาคม ปมการบินไทยส่อทุจริต 14 ธ.ค.นี้

02 ธ.ค. 2563 | 07:44 น.

คณะทำงานฯ สอบทุจริตบินไทย เร่งปิดดีลปมการบินไทยส่อทุจริต หลังป.ป.ช.นัดถกข้อมูล-เอกสารเพิ่มเติม 14 ธ.ค.นี้ เผย 9 สาเหตุขาดทุนยับ

พล.ต.ท.สาโรช นิ่มเจริญ รองหัวหน้าคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และปัญหาการทุจริตของบริษัทฯ ซึ่งทำให้ประสบภาวะขาดทุน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะตรวจสอบเท็จจริงฯ โดยมีพล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในฐานะประธาน ว่า ขณะนี้คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ชุดนี้ ดำเนินการตรวจสอบกว่า 43 วัน  แล้วเสร็จ เบื้องต้นทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งว่าคณะกรรมการฯ ชุดนี้ไม่สามารถตรวจสอบได้แล้ว เนื่องจากบริษัทการบินไทย พ้นสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยที่ผ่านมาทางคณะได้ทำข้อสรุปรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และประธานป.ป.ช. ล่าสุดสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งหนังสือกลับมาถึงนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง และขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา

 

“เบื้องต้นสำนักงาน ป.ป.ช.จะเชิญคณะทำงานฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ไปให้ถ้อยคำภายในวันนี้ ( 2 ธันวาคม 2563) แต่ทางคณะกรรมการฯ ติดภารกิจ จึงขอเลื่อนให้ถ้อยคำในวันที่ 14 ธันวาคม  2563 แทน ขณะเดียวกันเป็นการให้ข้อมูลเพิ่มเติมในบางข้อที่ ป.ป.ช. มีข้อสงสัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการไต่สวนของ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่มี นายสุพจน์ ศรีงามเมือง ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการสุจริตภาครัฐวิสาหกิจ 1 รับหน้าที่เป็นหัวหน้าพนักงานไต่สวนในครั้งนี้ ซึ่งอาจมีการดึงคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ไปร่วมเป็นหนึ่งในอนุคณะกรรมการไต่สวนฯ ด้วย”  

 

พล.ต.ท.สาโรช  กล่าวต่อว่า  ส่วนกรณีที่จะให้ถ้อยคำและเอกสารข้อมูลเพิ่มเติมกับ ป.ป.ช. ในวันที่ 14 ธันวาคม 2563  จะยึดจากข้อมูลทั้ง 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารการบินไทย โดยป.ป.ช.ได้ขอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ส่อทุจริตว่ามีเรื่องใดบ้าง พร้อมทั้งขอทราบชื่อและนามสกุล ตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งข้อหาความผิดในเรื่องใด มีผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยหรือไม่  2.ทางคณะกรรมการฯ เคยมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐ หรือฟ้องผู้ถูกร้องเป็นคดีอาญาต่อศาล หรือร้องเรียนต่อศาลแล้วอย่างไรบ้าง  ที่ผ่านมาจากการตรวจสอบตลอดระยะเวลา 43 วัน ได้มีการเสนอไปที่ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 แต่ไม่ได้ระบุว่าผู้กระทำผิดเป็นใครบ้าง ซึ่งใน 6 ด้าน ที่ได้ทำการตรวจสอบแต่ละกรณีพบว่ามีผู้กระทำผิดไม่เกิน 20 ราย ถือว่าอยู่ในข่ายที่จะต้องสืบสวนออกมาให้ชัดเจนว่าผิดหรือไม่   

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ถาวร” เปิดผลสอบ แกะปม “การบินไทย” ทำไมเจ๊ง

ทุจริตในองค์กร-ซื้อฝูงบินยุคทักษิณ ฉุด “การบินไทย” ดิ่งเหว

 

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานฯ  ที่พบสาเหตุปัญหาการขาดทุน  ประกอบด้วย 1.การจัดหาเครื่องบินรุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ มูลค่ารวม 28,266.9 ล้านบาทและ B787-900 จำนวน 2 ลำ แบบเช่าดำเนินงาน โดยพบว่า เครื่องบินรุ่น B787-800 แต่ละลำที่เช่าดำเนินงานมีราคาไม่เท่ากัน เริ่มต้นที่ 4,475.3-5,064 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างของราคาต่างกันอยู่ถึง 589 ล้านบาท โดยทั้ง 8 ลำ มีสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่าย (TCA)  เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ จำนวน 19 เครื่องยนต์ เป็นเงิน 14,342 ล้านบาท ประกอบกับเครื่องบิรุ่น B787-800 ทั้ง 6 ลำ ไม่มีการวางแผนติดตั้งที่นอนของลูกเรือและนักบิน ทำให้บริษัทต้องเสียค่าใช้จ่าย 1,652 ล้านบาท

 

2.การทำสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่ายในช่วงปี 2560-2562 ทำให้บริษัทเสียหายไม่ต่ำกว่า 12,792 ล้านบาท เช่น การทำสัญญาการบินแบบ Stage Length ไม่เป็นไปตามชั่วโมงบิน โยสัญญาเฉลี่ย 8 ชั่วโมง แต่บินได้จริงเพียง 5.5 ชั่วโมง  

 

3.ช่วงปี 2561-2562 มีแผนจัดหาเครื่องบินอีก 38 ลำ วงเงิน 156,169 ล้านบาท แต่บริษัทได้ทบทวนใหม่จากการทักท้วงของนายถาวร เสนเนียม  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้กำกับดุแล แต่บริษัทยังไม่ดำเนินการแก้ไขประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวการบินไทยได้จัดหาเครื่องบินใหม่แบบเช่าดำเนินการ จำนวน 3 ลำ โดยส่งมอบในปี 2563 วงเงิน 16,604 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีภาระผูกพันจากสัญญาเช่าดังกล่าว ทั้งหมด 42 ลำ วงเงิน 108,818 ล้านบาท

 

4.การจ่ายชดเชยการคืนสภาพเครื่องบินแบบเช่าดำเนินงานรุ่น A330-300 จำนวน 2 ลำ มีค่าใช้จ่ายถึง 1,458 ล้านบาท ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการชดเชยการคืนสภาพเครื่องบินช่วง 10 ปี สูงถึง 30,638 ล้านบาท

5.ผลประกอบการของบริษัทในปี 2562 ประสบปัญหาขาดทุนมากที่สุดถึง 12,017 ล้านบาท แต่มีรายได้ตั๋วโดยสารเฉลี่ยเพียง 6,081 บาทต่อใบ  ค่าล่วงเวลาฝ่ายช่างสูงถึง 2,022 ล้านบาท เนื่องจากมีการส่อทุจริตทำโอทีเกินจำนวน วันที่มีอยู่จริง  ซึ่งมีผู้ทำโอที สูงสุด 3,354 ชั่วโมง  เป็นเงินค่าโอที 246,503 บาทต่อเดือน โดยเกณฑ์มาตรฐาน 1 คนไม่ควรทำโอทีเกิน 1,500 ชั่วโมง แต่กลับพบว่าในปี 562 มีพนักงานฝ่ายช่างทำโอทีเกินเกณฑ์ที่กำหนด ราว 567 คน วงเงิน 603 ล้านบาท

 

6.ในปี 2560-2561 สายการบินพาณิชย์ไม่มีการจัดทำงบประมาณการ แต่ใช้วิธีการกำหนดเปลี่ยนแปลงงบประมาณเองโดยผ่านคณะกรรมการบริหารนโยบายของบริษัทเท่านั้นและมีการขายตั๋วโดยสารในราคาที่ต่ำมาก รวมทั้งมีการเอื้อประโยชน์ให้กับตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสาร (Agent) ทั้งในรูปค่าคอมมิชชั่นและค่าอินเซนทีฟ

 

7.การบริหารงานบุคคลที่ไม่มีคุณภาพส่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง เช่น กรณีผู้รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษในอัตราเดือนละ 2 แสนบาท แต่เมื่อผ่านไป 9 เดือน เพิ่มเป็น 6 แสนบาท ดดยอ้างว่าให้คณะกรรมการฯบริษัทอนุมัติค่าตอบแทนดังกล่าวตามที่เคยให้อดีตผู้รักษาการตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ในอัตราเดือนละ 1.5 แสนบาท  ทำให้บริษัทประสบปัญหาการขาดทุนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

 

8.บริษัทส่อเอื้อประโยชน์ในการขยายอายุสัญญาให้สิทธิเอกชนดำเนินการขายสินค้าปลอดภาษีบนเครื่องบินให้กับผู้รับสิทธิรายเดิมอีก 9 เดือน แทนการแข่งขันแบบประมูลสัมปทาน 3 ปี

 

9.การบริหารจัดการสายการบินไทยสมายล์  โดยบริษัทถือหุ้น 100นับตั้งแต่เริ่มทำการบินตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งขนาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 บริษัทเริ่มนโยบายซื้อตั๋วโดยสารสายการบินไทยสมายล์แบบ Block Seat ในสัดส่วน 90:10 และในปี 2562 ได้ดำเนินการเต็มรูปแบบในทุกสาย ทุกเที่ยวบิน ส่งผลให้ขาดทุนในงบดุลในรายการค่าเช่าเครื่องและอะไหล่ของบริษัทแทน วงเงิน 5,357 ล้านบาท