"ไอลอว์" ชี้ 4 สิ่งนี้จะเกิด ถ้า "บิ๊กตู่" พ้นนายกฯ

02 ธ.ค. 2563 | 05:13 น.

"ไอลอว์" ชี้ ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ จะเป็นบรรทัดฐานสำคัญต่อ "อภิสิทธิ์" ของบรรดาอดีตผู้นำเหล่าทัพ ทั้งยังจะมีผลต่อการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และบรรดาคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช. ที่อาจจะต้องพ้นไปจากตำแหน่งยกชุด

 

ไอลอว์ (iLaw) หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน เผยแพร่บทวิเคราะห์ผ่านทางเว็บไซต์ https://ilaw.or.th/ กรณี การอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้ (2 ธ.ค.) ระบุว่า วันนี้จะเป็นวันชี้ชะตาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ จากกรณีอาศัยอยู่ในบ้านพักทหารทั้งที่เกษียณอายุราชการไปแล้วถึง 6 ปี และอาจจะเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

 

ไอลอว์ ระบุว่า ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ จะเป็นบรรทัดฐานสำคัญต่อ "อภิสิทธิ์" ของบรรดาอดีตผู้นำเหล่าทัพในการเข้าพักบ้านหลวงหลังเกษียณแต่ยังดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังจะมีผลต่อการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และบรรดาคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช. ที่อาจจะต้องพ้นไปจากตำแหน่งยกชุด และ พล.อ.ประยุทธ์ ยังอาจจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี แต่อย่างไรก็ดี ด้วยกลไกสืบทอดอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 การพ้นจากตำแหน่งในครั้งนี้ของ "รัฐบาลประยุทธ์" ก็อาจจะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในเชิงตัวบุคคลแต่ยังอยู่ภายใต้ระบอบคสช. หรือ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เหมือนเดิม

"ไอลอว์" ชี้ 4 สิ่งนี้จะเกิด ถ้า "บิ๊กตู่" พ้นนายกฯ

"บ้านหลวง" กับข้อหาผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง

 บ้านหลวง หรือ "อาคารที่พักอาศัยของทางราชการ" จัดเป็นสวัสดิการสำหรับข้าราชการทหาร โดยมีระเบียบที่เกี่ยวข้อง คือ "ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคาร บ้านพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก ปี 2553" ซึ่งกำหนดให้ ข้าราชการประจำการ หรือลูกจ้างประจำ สังกัดกองทัพบก ที่ไม่มีบ้านพักอาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือของคู่สมรส และไม่ได้รับการสงเคราะห์จากทางราชการให้มีอาคารหรือบ้านพัก มีสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยของราชการ แต่สิทธิดังกล่าวจะหมดไปเมื่อผู้นั้นเสียชีวิตหรือออกจากราชการ

 

ทั้งนี้ การจะอาศัยอยู่บ้านหลวงต่อแม้ว่าได้ออกจากราชการกองทัพไปแล้วสามารถกระทำได้ ภายใต้ "ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก ปี 2548" ซึ่งกำหนดให้ อดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบกและประเทศชาติและเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้วมีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก ที่ผ่านมา มีอดีตผู้นำกองทัพหลายคนที่ยังคงพักในบ้านหลวง รวมไปถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของคดีพักบ้านหลวง ที่มี ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงพักอาศัยในบ้านพักทหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งที่ได้เกษียณและพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาตั้งแต่ปี 2557 เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) ประกอบมาตรา 186 หรือไม่

 

โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) ประกอบมาตรา 186กำหนดว่า "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐมนตรี ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ"

 

หลังการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กองทัพได้เข้าชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีใจความสำคัญว่า การอยู่บ้านพักทหารของอดีตผู้บังคับบัญชาทหารบกที่เกษียณแล้ว เป็นเรื่องของ ระเบียบที่ได้รับการยกเว้น หรือ เป็นไปตาม "ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก ปี 2548"

 

ด้านพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ออกมายืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งอย่างแน่นอน เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ และ รมว.กลาโหม มีอำนาจบังคับบัญชากองทัพบก การเข้าพักบ้านอาศัยบ้านพักของกองทัพบก จึงเข้าข่ายประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานภายใต้บังคับบัญชาของตนเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 “นายกฯ”ย้ำเคารพคำตัดสินศาลรธน.คดีบ้านพักทหาร 

ศาลห้ามคนไม่เกี่ยวข้องเข้าฟังคดีพักบ้านหลวง-ให้ดูยูทูป

ม็อบคณะราษฎรนัดชุมนุมห้าแยกลาดพร้าว 4 โมงเย็น

 

อีกทั้ง โดยหลักการทางกฎหมาย การให้บุคคลซึ่งมิใช่ข้าราชการเข้าใช้ทรัพย์สินของทางราชการได้นั้น ต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ จึงจะออกระเบียบเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายนั้นได้ หากไม่มีแล้วจะอ้างระเบียบภายในกองทัพบกมาอนุญาตไม่ได้ ไม่สามารถอ้างระเบียบใดๆ ที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ  

"ไอลอว์" ชี้ 4 สิ่งนี้จะเกิด ถ้า "บิ๊กตู่" พ้นนายกฯ

คำวินิจฉัยศาลอาจเปลี่ยน ครม. ยกชุด-ประยุทธ์เว้นวรรค 2 ปี

ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 170 (5) กำหนดว่า ถ้ารัฐมนตรีกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือ มาตรา 187 หรือ รัฐมนตรีกระทำการอันเป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 184 ที่ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ให้ความเป็นรัฐมนตรีของบุคคลนั้นสิ้นสุดลง

 

ดังนั้น ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงพักอาศัยในบ้านพักทหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งที่ได้เกษียณและพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาตั้งแต่ปี 2557 เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ สถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะสิ้นสุดลง

 

อีกทั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 ยังกำหนดด้วยว่า รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 ดังนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสิ้นสุดสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรี บรรดารัฐมนตรีที่ประยุทธ์เป็นคนเสนอชื่อแต่งตั้งก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยแต่ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

 

นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 160 ยังกำหนดเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีไว้ด้วยว่า ต้องไม่เป็นนผู้เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุกระทําการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือ มาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึง 2 ปี นับถึงวันแต่งตั้ง หรือหมายความว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งจากคดีพักบ้านหลวงจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี

 

พล.อ.ประยุทธ์อาจพ่าย แต่ระบอบคสช. ยังไม่แพ้

 แม้จะมีความเป็นไปได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้การ "พักบ้านหลวง" ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และทำให้สถานะความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลง แต่ทว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็ยังคงมีกลไกในการพยุงระบอบคสช. ให้ยังดำรงต่อไปได้ กล่าวคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นการเปลี่ยนตัวบุคคลแต่ไม่ได้เปลี่ยนระบอบคสช. แต่อย่างใด

 

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบอบคสช. ยังคงดำรงต่อไปได้ ก็คือ การที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 269 กำหนดให้ ส.ว.ชุดแรก มาจากการคัดเลือกโดยคสช. จำนวน 250 คน และในมาตรา 272 กำหนดว่า การให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมาจากที่ประชุมร่วมของรัฐสภา หรือหมายความว่า ส.ว. 250 คน ของคสช. ยังคงมีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ และที่ผ่านมา ส.ว. ชุดนี้ก็เป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกนายกฯ และทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังรักษาตำแหน่งนายกฯ ไว้ได้หลังการเลือกตั้ง

 

นอกจากนี้ มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลก็มีทางเลือกพิเศษเอาไว้ ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอได้ ให้ใช้การลงมติของ ส.ส. + ส.ว. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือเกือบ 500 เสียง ก็จะเปิดทางให้มีการเสนอชื่อ "นายกฯ คนนอก" หรือ การเสนอให้ใครก็ได้มาดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็ได้ ซึ่งหากพิจารณาจากเสียงของพรรครัฐบาล และเสียงของ ส.ว.ชุดพิเศษนี้ ก็ไม่ได้ถือว่า เป็นทางเลือกที่ยากจนเกินไป

 

ที่มา ไอลอว์