อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "อ่อนค่า"

30 พ.ย. 2563 | 23:48 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไม่มาก หลังมีข่าวธปท.จะคุม FX เพิ่ม แต่นักค้าเงินส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะเป็นการสกัดเงินทุนไหลเข้าอย่างรุนแรง

 

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.28 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.26 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 30.18-30.38 บาทต่อดอลลาร์
 

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO) ระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีความเคลื่อนไหวไม่มากโดยมีการอ่อนค่ากลับไปเล็กน้อยหลังมีข่าวว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีนโยบายควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้น แต่นักค้าเงินส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะเป็นการสกัดเงินทุนไหลเข้าอย่างรุนแรง โดยระยะถัดไปมองว่าความเสี่ยงอยู่ที่ตลาดหุ้นที่อาจถูกทยอยขายทำกำไรตามตามฝั่งสหรัฐ ซึ่งมีโอกาสกดดันให้เกิดแรงขายในสินทรัพย์เสี่ยงในไทย และจะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าไปพร้อมกัน

ส่วนในคืนที่ผ่านมาตลาดหุ้นปรับฐานจากจุดสูงสุด โดยดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ และดัชนี STOXX 600 ของยุโรป ปรับตัวลง 0.9-1.0% พร้อมกับราคาน้ำมันดิบ WTI และราคาทองคำที่ย่อตัวลง 0.7% โดยนักลงทุนเริ่มขายทำกำไรสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆและกลับมาถึงเงินสด เพื่อรอความชัดเจนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลในหลายประเทศ

 

โดยภาพดังกล่าวหนุนให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีปรับตัวขึ้น 1bps มาที่ระดับ 0.85% ขณะที่บอนด์ยีลด์เยอรมันก็ปรับตัวขึ้น 1.5bps มาที่ระดับ -0.57% เช่นกัน โดยในฝั่งตลาดอัตราแลกเปลี่ยนกลับเป็นการซื้อเงินดอลลาร์และขายสกุลเงินปลอดภัยอื่นๆ จนอ่อนค่าลงราว 0.1%

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาททรงตัวในกรอบแคบๆ หลังจากเปิดตลาดในช่วงเช้าที่ระดับประมาณ 30.25-30.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 30.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยสัญญาณฟันด์โฟลว์อาจเป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น หลังจากที่ล่าสุด ธปท. เปิดเผยว่า เตรียมที่จะออกมาตรการดูแลเงินบาทระยะที่ 2 ในช่วงสัปดาห์หน้า พร้อมกับระบุว่า จะติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดเพื่อสกัดการเก็งกำไร 

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ตลาดรอติดตามสัญญาณฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์ทางการเมืองและการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ส่วนปัจจัยสำคัญในต่างประเทศจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของประธานเฟด และดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ