"บสย." ชู 5 ยุทธศาสตร์สู่New Business Model ยั่งยืน

30 พ.ย. 2563 | 02:20 น.

บสย.โฟกัส5ยุทธศาสตร์เดินแผนปี64สู่การเติบโตยั่งยืนหลังพิสูจน์กลไก “ค้ำประกัน” พลิกฟื้น SMEsรายใหม่ 1.3แสนราย

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงาน บสย. ในปี 64 โดยระบุว่า เป้าหมายการค้ำประกันสินเชื่อในปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ภายใต้แผนการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อที่หลากหลาย ตอบโจทย์ “เอสเอ็มอี” (SMEs) ทุกกลุ่ม  ภายใต้กลยุทธ์การทำตลาด Segmentation และการพัฒนา Product เจาะกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน รวมถึงการขยายช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านช่องทาง non bank เพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ บสย. ยังได้เตรียมความพร้อมการดำเนินแผนงาน รองรับการอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อใหม่จำนวน 2 โครงการคือ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS-9 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้สถาบันเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมถึงช่วยเหลือลูกค้า SMEs ที่มีปัญหา ภายใต้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย.SMEs สร้างไทย เฟส 2 

"บสย." ชู 5 ยุทธศาสตร์สู่New Business Model ยั่งยืน

และ 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 4 วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีวงเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญในการช่วย ผู้ประกอบการ SMEs ฐานราก กลุ่มอาชีพอิสระ โดยให้ บสย.พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์เยียวยาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  ซึ่งทั้ง 2 โครงการกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาซึ่งมั่นใจว่ารัฐบาลจะมอบโครงการนี้ให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในเร็ว ๆ นี้

 

 

สำหรับ ผลดำเนินงาน 11เดือน(ม.ค. - พ.ย. 2563)มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 1.4 แสนล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ 130,000 ราย สร้างปรากฏการณ์การช่วยผู้ประกอบการ SMEs ครั้งสำคัญในรอบ 29 ปี ด้วยผลดำเนินงานการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งด้านยอดการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ จำนวนลูกค้าใหม่ และจำนวนการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) ของ บสย. ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19)

ส่วนผลดำเนินงาน 2563 เปรียบเทียบกับปี 2562 (ระหว่าง ม.ค.-ต.ค.62-63) ที่เติบโตขึ้นประกอบด้วย 1.ยอดการอนุมัติค้ำการค้ำประกันสินเชื่อ ปี 63 เพิ่มขึ้น 122% จาก 6.13 หมื่นล้านบาทเป็น 1.35 แสนล้านบาท 2.ช่วยผู้ประกอบการSMEs รายใหม่เข้าถึงสินเชื่อ เพิ่มขึ้น 167% จาก 47,626 รายเป็น 127,054 ราย และ 3.จำนวนการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) เพิ่มขึ้น 174% จาก 61,979 สัญญาLG เป็น 169,959 สัญญาLG เป็นต้น