มา “กินคลีน”กันเถอะ ช่วยลดนํ้าหนัก-ดีต่อสุขภาพ

29 พ.ย. 2563 | 07:19 น.

อาหารคลีนดีอย่างไร ทำไมต้อง "กินคลีน" มาหาคำตอบกันเถอะ

ในยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค จากการรับประทานอาหารแบบตามใจปาก หลายคนก็เริ่มหันมาใส่ใจกับการสรรหาของดีมีประโยชน์มาบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพที่ดีมากขึ้น ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หลายคนจะได้ยินคำว่า “อาหารคลีน” กันมาบ้างแล้ว ทั้งจากทางสื่อต่างๆ หรือในเมนูตามร้านอาหาร เราจะมาทำความรู้จักกับอาหารคลีนว่าคืออะไรกันแน่  แล้วอาหารแบบไหนถึงจะเรียกว่าอาหารคลีน รวมถึงอาหารคลีนดีกับร่างกายเราอย่างไร ทำไมถึงฮิตกันเหลือเกิน?

 

อาหารคลีน หรือ Clean Food เป็นที่นิยมในต่างประเทศมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 แล้ว อาหารคลีน คือ อาหารที่ผ่านกรรมวิธีแปรรูปและปรุงแต่งน้อยที่สุด ไม่ผ่านกระบวนการหมักดองหรือปรุงรสใด มากจนเกินไป เช่น เค็มจัด เปรี้ยวจัด หรือหวานจัด เรียกได้ว่ามันคือการคืนสู่รูปแบบอาหารที่เรียบง่าย มาจากธรรมชาติมากที่สุด เพื่อให้วัตถุดิบยังคงเป็นวัตถุดิบที่คงไว้ซึ่งสารอาหารครบถ้วน

 

หลายท่านอาจเข้าใจผิดว่า อาหารคลีน คือ ผักและผลไม้เท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว อาหารคลีนไม่ใช่อาหารที่เน้นกินผักเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเมนูอาหารที่มีสัดส่วนสารอาหารที่เหมาะสม ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ลดการใช้นํ้ามันในการปรุงอาหาร รวมทั้งเนื้อสัตว์ที่ใช้ จะใช้เป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งสังเคราะห์ใด ๆ เพราะอาหารที่ผ่านการแปรรูป ปรุงแต่งมา มักจะประกอบไปด้วยสารที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย มีทั้งนํ้าตาล โซเดียม สารกันบูด ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ โรคอ้วน และไปลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นต้น

 

มา “กินคลีน”กันเถอะ ช่วยลดนํ้าหนัก-ดีต่อสุขภาพ

แล้วอะไรที่ “คลีน” บ้าง?

 ประเภทคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ขนมปังและเส้นพาสต้าแบบโฮลวีต Steel-cut โอ๊ต และคินัว (Quinoa), ประเภทโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันตํ่าหรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เช่น อกไก่ หมูสันใน ปลา และพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ ฯลฯ รวมถึงเต้าหู้ขาว นมถั่วเหลืองและนมอัลมอนด์, ประเภทไขมัน ได้แก่ นํ้ามันมะกอก (กินสด) นํ้ามันคาโนลา นํ้ามันมะพร้าว อัลมอนด์ วอลนัต ถั่วลิสง และอโวคาโด

 

ประเภทสารให้ความหวาน อาหารคลีนจะไม่ใช้นํ้าตาลเป็นส่วนประกอบเลย แต่จะใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่ให้ความหวานแทน เช่น นํ้าผึ้ง และใช้ในปริมาณที่เหมาะสม (โดยปกติร่างกายของคนเราจะต้องการนํ้าตาลเพียง 6 ช้อนชาหรือ 30 กรัมต่อวันเท่านั้น) ส่วนอาหารประเภทโปรตีนในส่วนของอาหารคลีนจะเป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา เนื้อไก่ ไข่ หรือพืชตระกูลถั่ว เน้นเนื้อสีขาวๆ เป็นหลัก เพราะเป็นลักษณะของเนื้อไขมันตํ่า หรืออาหารทะเล เป็นต้น

 

ส่วนประเภทเครื่องดื่ม ได้แก่ กาแฟดำ ชาสมุนไพร หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ที่ไม่ใส่นํ้าตาล หลีกเลี่ยงพวกกาแฟเย็น ชาเย็น เพราะพวกนี้มีทั้งนมและนํ้าตาล รวมถึงชาเขียวบรรจุขวดก็มีนํ้าตาลเป็นส่วนประกอบสำคัญเช่นกัน

 

ทั้งนี้การรับประทานอาหารคลีนอย่างต่อเนื่องจะส่งผลดีและให้ประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก ทั้งช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรง รวมถึงยังช่วยลดนํ้าหนักอย่างได้ผล และช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น เพราะการกินอาหารคลีนทำให้ร่างกายได้รับ fiber จากการบริโภคผักและผลไม้ ซึ่งดีต่อระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย นอกจากนี้ยังช่วยทำให้เรานอนหลับได้ง่ายขึ้น 

มา “กินคลีน”กันเถอะ ช่วยลดนํ้าหนัก-ดีต่อสุขภาพ

                                    วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า หลายคนอาจจะมองว่าอาหารสำเร็จรูป ค่อนข้างสวนทางกับอาหารคลีน เพราะอาหารสำเร็จรูปจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ในการแปรรูปและปรุงแต่ง เช่น กระบวน การแช่แข็ง กระบวนการให้ความร้อนต่าง ๆ การเติมแต่งสิ่งปรุงรสเพื่อสร้างรสชาติ หรือกระบวนการยืดอายุการเก็บรักษาต่างๆ แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ก็ช่วยทำให้อาหารสำเร็จรูปมีความหลากหลายมากขึ้น ช่วยลดความสูญเสียด้านสารอาหารจากกระบวนการแปรรูปต่างๆ

               

“ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ในรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่อาหารที่ผ่านการแปรรูปขั้นต้น จนถึง Functional Food ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานได้ตามความต้องการ และกลุ่มผู้รับประทานอาหารคลีน ก็สามารถเลือกใช้อาหารสำเร็จรูปนี้มาเป็นส่วนประกอบของเมนูคลีนได้ด้วย เช่น ทูน่าในนํ้าแร่กระป๋อง ถั่วหรือผักต่างๆ บรรจุกระป๋อง เป็นต้น”

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 18 ฉบับที่ 3,631 วันที่ 29 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563