"BTS" เมินกมธ. รุมขยํ้า ขยายสัมปทาน "สายสีเขียว"

28 พ.ย. 2563 | 14:44 น.

    BTS เมินกมธ.คมนาคม ขยํ้าซํ้า ปมขยาย สัมปทาน รถไฟฟ้า สายสีเขียว ลั่นอย่าเปรียบค่าโดยสาร สายสีเขียว-สีนํ้าเงิน ต้นทุนต่างกัน ขณะ ‘สามารถ’ คลายข้อกังขา

 

 

ปมขยายสัมปทานรถไฟฟ้าBTSสายสีเขียวทั้งระบบ ร้อนระอุขึ้นอีกครั้งเมื่อ คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ เป็นประธาน มีวาระด่วนเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พิจารณา กรณีต่ออายุสัญญาสัมปทาน สายสีเขียว ก่อนหมดสัมปทานไปอีก 30 ปี โดยไม่มีการประมูลตาม พระราชบัญญัติ( พ.ร.บ.) เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ(PPP) โดยเชิญคณะกรรมการตามมาตรา 44 ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

 

ในข้อ 3 ที่ให้กระทรวงมหาดไทยตั้งบุคคลโดยตำแหน่งเป็นกรรมการ เบื้องต้นมีบุคคลโดยตำแหน่งที่ถูกเชิญมาให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการการคมนาคม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อัยการสูงสุด และปลัดกรุงเทพมหานคร เข้าให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ทั้งนี้ที่ประชุม ได้สอบถามในข้อสงสัยของสังคมที่เกิดขึ้น ทั้งการต่อสัญญาสัมปทานโดยไม่รอให้ครบอายุสัมปทาน ไม่มีการเปิดประมูล และราคาค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย มีรายละเอียดการคำนวณอย่างไร เพื่อไม่ให้รัฐและประชาชนเสียผลประโยชน์

 

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้กมธ.คมนาคมจะสรุปเสนอความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากหน่วยงานไม่ดำเนินการทางสภาผู้แทนฯ มีมาตรการต่อไปคือ การยื่นกระทู้ถาม ไปจนถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ตามก่อหน้านี้ นายศักดิ์สยามชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อท้วงติง 4 ข้อ โดยเฉพาะด้านราคาที่อาจ แพงเกินจริงเมื่อเทียบรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน และสายสีม่วง รวมถึงพรรคเพื่อไทย ที่ออกโรงไม่เห็นด้วยนั้น

               

 

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า หากเทียบค่าโดยสารและระยะทางของ สายสีเขียวกับสายสีนํ้าเงิน จะพบว่าค่าเฉลี่ยค่าโดยสารใกล้เคียงกันโดยสายสีเขียวมีระยะทาง 68 กิโลเมตร (กม.) 59 สถานี ค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ส่วน สายสีนํ้าเงิน 48 กม.38 สถานี ค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท รวมทั้งภาระต้นทุนระหว่างสายสีเขียวและสีนํ้าเงินต่างกันมากโดยสายสีเขียวต้องรับชำระหนี้ค่างานโยธาแทนกทม.กว่า 6 หมื่นล้านหากไม่มีการต่อสัญญา และจะเปิดประมูลใหม่หรือไม่นั้น คงต้องรอให้สัมปทานหมดลงก่อนในปี 2572

 

“ส่วนจะมีการปรับค่าโดยสารตํ่ากว่า 65 บาทหรือไม่ มองว่าการเจรจา ขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวเสร็จสิ้นไปแล้ว ถ้าจะปรับค่าโดยสารตํ่า กว่า 65 บาทก็สามารถทำได้ แต่รัฐจะได้รับส่วนแบ่งรายได้น้อยลงไปด้วย”

 

 

 

ด้านนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีสายสีเขียวถูกทักท้วงการขยายสัมปทานจากคมนาคม แต่ สายสีนํ้าเงินได้รับการขยายสัมปทานไปแล้วเมื่อกว่า 3 ปีที่ผ่านมาโดยสายสีเขียวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) บีทีเอสเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 53,000 ล้านบาท สำหรับเส้นทางส่วนต่อขยายประกอบด้วยช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต กทม.ลงทุนงานโยธา และบีทีเอสลงทุนขบวนรถติดตั้งระบบสื่อสารอาณัติสัญญาณ และระบบตั๋ว

 

ขณะเดียวกันกทม.โดยกระทรวงมหาดไทยได้เสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบการขยายสัมปทานให้บีทีเอสออกไปอีก 30 ปี จากปี 2572-2602 โดยบีทีเอสจะต้องรับผิดชอบการเดินรถทั้งเส้นทางสายหลักและส่วนต่อขยาย แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมได้ทักท้วงการขยายสัมปทานให้บีทีเอสในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เป็นเหตุให้ประเด็นนี้กลายเป็นข้อกังขาของคนทั่วไปว่าทำไมการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจึงเป็นเรื่องยาก แต่การขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินจึงผ่านฉลุยไปแล้วเมื่อปี 2560

 

ส่วนสีนํ้าเงินอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีเส้นทางสายหลักคือช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ รฟม.ให้สัมปทานแก่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นเวลา 25 ปี จากปี 2547-2572 เส้นทางนี้ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 115,812 ล้านบาท โดยรฟม.ลงทุนงานโยธาเป็นเงิน 91,249 ล้านบาท และบีอีเอ็ม ลงทุนขบวนรถ ติดตั้งระบบสื่อสาร อาณัติสัญญาณ และระบบตั๋ว เป็นเงิน 24,563 ล้านบาท ทั้งนี้เส้นทางส่วนต่อขยายประกอบด้วยช่วงบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค เป็นการลงทุนรูปแบบเดียวกันกับเส้นทางสายหลัก กล่าวคือ รฟม.ลงทุนงานโยธา และ BEM ลงทุนงานเครื่องกลและไฟฟ้า รฟม.ได้ขยายสัมปทานให้ BEM ออกไปอีก 21 ปี จากปี 2572-2593 โดย BEM จะต้องเป็นผู้เดินรถทั้งเส้นทางสายหลักและส่วนต่อขยายมีการลงนามในสัญญาขยายสัมปทานไปแล้วเมื่อปี 2560  

หน้า1หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ3631