“บีโอไอ” เดินหน้าหนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายประเทศ

28 พ.ย. 2563 | 01:30 น.

“บีโอไอ” เดินหน้าหนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายประเทศ ระบุส่งเสริม 2 บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางสาวดวงใจ  อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ “บีโอไอ” (BOI)  เปิดเผยว่า บีโอไอได้ดำเนินการส่งเสริมการลงทุนบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และบริษัท แนบโซลูท จำกัด โดยบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Innovation Hub ได้รับการส่งเสริมการงทุนจากบีโอไอในกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตที่ใช้เซลล์พืช เงินลงทุน 3.94 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินลงทุนที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากโครงการนี้ และเป็นการผลิตเพื่อส่งออกกว่า 70%

กิจการนี้ได้รับสิทธิประโยชน์สูง เพราะเป็นกิจการที่บีโอไอต้องการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและต่อยอดงานวิจัยจากในตำรามาสู่การผลิตจริง โดยเป็นโครงการผลิตโปรตีนตัดแต่ง หรือ รีคอมบิแนนท์โปรตีน จากการใช้ใบยาสูบ เพื่อเป็นแหล่งผลิตโปรตีนแบบชั่วคราว ถือเป็น รายแรกในประเทศไทยที่ใช้ใบยาสูบเป็นเจ้าบ้าน หรือที่เรียกว่า Host และเพาะเลี้ยงโปรตีน ตัดแต่งที่มียีนเป้าหมาย จากนั้นจึงสกัดโปรตีนที่ได้ ออกจากใบของต้นยาสูบ และทำให้บริสุทธิ์ เพื่อจำหน่ายเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง 

ด้านบริษัท แนบโซลูท จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน ได้รับส่งเสริมในกิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เงินลงทุน 3.46 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินลงทุนที่ไม่สูงมากนัก เช่นกัน โดยลูกค้าของบริษัทมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ โครงการนี้ได้รับการส่งเสริมในการให้บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ 2 เรื่อง คือ

“บีโอไอ” เดินหน้าหนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายประเทศ

1.การทดสอบประสิทธิภาพของชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ในการป้องกันเชื้อไวรัส โดยวิธีทดสอบการทะลุผ่านของเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถทำการทดสอบได้ทั้งในรูปแบบตัวอย่างผ้าของชุด PPE หรือทดสอบทั้งชุด PPE และ2.การทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องสำอาง ยา สารสกัด และสารออกฤทธิ์ เป็นต้น โดยใช้เทคนิคเซลล์เพาะเลี้ยง
 

“ทั้งสองบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน กิจการของทั้งสองบริษัทนับเป็นกิจการที่มีความสำคัญ ด้วยเป็นกิจการที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย ทั้งยังเป็นกิจการที่สร้างฐานความรู้ให้แก่สังคมไทย สำหรับ CU Innovation Hub แห่งนี้ ที่สร้างขึ้นและใช้เป็นต้นแบบสำหรับสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานด้านการศึกษาอื่นๆ จะนำไปพัฒนาให้เกิดมีขึ้น ในองค์กร เพราะหน่วยงานการศึกษาต่างมีบุคลากรที่พร้อมสำหรับการช่วยพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่ภาคการผลิตจริง”
              สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนของกิจการเทคโนโลยีชีวภาพนี้ ตั้งแต่ปี 2561 ถึงเดือนกันยายน 2563 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้ว จำนวน 51 โครงการ เงินลงทุน 2.54 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 20 โครงการ ตัวเลขนี้อาจไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด

ส่วนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์นั้น ตั้งแต่ปี 2561 ถึงเดือนกันยายน 2563 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 29 โครงการ เงินลงทุน 1.91 พันล้านบาท เฉลี่ยปีละ 10 โครงการ  ซึ่งยังถือว่าไม่มากนัก แต่บีโอไอพร้อมสนับสนุน

อย่างไรก็ดี หากจะพิจารณาคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์นับรวม  ทุกประเภทกิจการที่อยู่ภายใต้หมวดนี้ จากสถิติตั้งแต่ปี 2561 ถึงเดือนกันยายน 2563 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 129 โครงการ เงินลงทุนรวม 3.08 หมื่นล้านบาท จากสถิติที่ผ่านมาในอดีตจะพบว่า กิจการในกลุ่มการแพทย์ มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเฉลี่ยปีละ 30 กว่าโครงการ แต่มียอดพุ่งสูงขึ้นถึงกว่า 60 โครงการภายในระยะเวลา 9 เดือนของปี 2563 นี้ ซึ่งเป็นผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19 ตามที่เราทราบกันดี และต่อจากนี้ไปตัวเลขของอุตสาหกรรมการแพทย์น่าจะยิ่งพุ่งสูงขึ้นไปอีกจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ของบีโอไอ