ก้าวต่อไปหลังไฟเขียว “ซีพี”ควบ “เทสโก้โลตัส”

27 พ.ย. 2563 | 02:51 น.

คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มีมติ 4: 3 อนุญาตให้กลุ่มซีพีควบรวมธุรกิจกับเทสโก้ โลตัส มีเสียงท้วงติงจากหลายฝ่ายเกรงจะมีอำนาจเหนือตลาด และผูกขาดตลาดค้าปลีกค้าส่งของประเทศ ก้าวย่างจากนี้จะเป็นอย่างไรนั้น "สกนธ์ วรัญญูวัฒนา"มีคำตอบ

สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้เผยแพร่คำสั่งของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (บอร์ด กขค.) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 หลังมีมติ (เมื่อ 2 พ.ย.63) 4 ต่อ 3 เสียงอนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตรวมธุรกิจต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 7 ข้อ ท่ามกลางกระแสสังคมที่เห็นต่าง โดยหลายภาคส่วนเกรงจะนำไปสู่การมีอำนาจเหนือตลาดและการผูกขาดทางการค้า และอาจส่งผลกระทบต่อคู่ค้าที่เป็นซัพพลายเออร์  ผู้ค้าปลีกรายย่อย ที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้บริโภคที่อาจต้องซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้นในอนาคต

 

เตรียมเผยแพร่คำวินิจฉัยสัปดาห์หน้า

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุด คณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมนัดพิเศษ (23 พ.ย.63)  วาระสำคัญได้มีการรับรองรายงานการประชุมตามที่ได้มติอนุญาตให้กลุ่มซีพีควบรวมธุรกิจกับเทสโก้ โลตัสไปก่อนหน้านี้ ซึ่งมติที่ว่านี้จะนำไปเขียนคำวินิจฉัยกลางที่กรรมการแต่ละคนได้ให้เหตุผล ทั้งที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจ ทั้งในแง่ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ซึ่งจะได้ส่งเรื่องให้สำนักงานฯเพื่อรวบรวม และขัดเกลาสำนวนให้แล้วเสร็จคาดใน 1-2 สัปดาห์นับจากนี้ สขค.จะสามารถนำคำวินิจฉัยกลางเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้

 

“คำวินิจฉัยอาจแยกความเห็นเป็นของส่วนบุคคลหรือเป็นของกลุ่มทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายค้านก็ได้ ซึ่งขณะนี้ผมยังพูดอะไรมากไม่ได้ อยากให้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางออกไปก่อน เพราะหากพูดอะไรไปตอนนี้อาจเป็นคดีความกันได้ อีกอย่างผมเป็นประธาน กขค. (เสียงข้างน้อย)ก็ต้องรักษาสมดุลของกรรมการเสียงข้างมาก และเสียงข้างน้อย ไม่เช่นนั้นกรรมการทำงานต่อไปไม่ได้ ถ้าผมไปพูดเอียงข้างใดข้างหนึ่ง ขณะที่ต้องรอใน 60 วันว่าทางซีพี เขาจะโต้แย้งอะไรหรือเปล่า ขณะนี้เขา ก็ยังไม่มีท่าทีหรือความเห็นใด ๆ ออกมา อยู่ที่เขา ไม่ได้อยู่ที่เรา”

 

นายสกนธ์ ยอมรับว่า จากมติของบอร์ดแข่งขันทางการค้า ที่ออกมา 4 : 3 อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจ ได้นำสู่ความขัดแย้งทางความคิดของคณะกรรมการในองค์กรบ้างจากความเห็นต่าง แต่ก็ต้องยอมรับมติเสียงส่วนใหญ่เป็นมติของภาพรวม เพื่อรักษาองค์กรให้สามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้ ทั้งนี้กรรมการ 7 คนมาจากหลากหลายสาขา บางคนก็เคยร่วมทำงานกันมาบ้างก่อนหน้านี้ แต่ประเด็นนี้(อนุญาตให้กลุ่มซีพีควบรวมธุรกิจเทสโก้ โลตัส) เป็นประเด็นใหญ่ ต้องตอบสังคมให้ชัดเจน ในความเห็นส่วนตัวต้องตอบสังคมให้ได้ทุกแง่มุม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จี้กขค. สรุปคำวินิจฉัยกลาง ‘ซีพี’ควบ‘โลตัส’

เปิดประวัติ 7 กรรมการกขค. ใครเห็นชอบ-คัดค้านซีพีควบ "โลตัส"

กขค.เสียงข้างน้อย ชี้เหตุค้านควบโลตัส ห่วงกระทบหนักค้าปลีกรายย่อย

บอร์ดแข่งขันไฟเขียว "ซีพี" ควบ "โลตัส" แบบมีเงื่อนไข เข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่ม

ก้าวต่อไปหลังไฟเขียว “ซีพี”ควบ “เทสโก้โลตัส”

 

เร่งออกแบบกำกับดูแลปฏิบัติตามเงื่อนไข

ส่วนกรณีที่บอร์ดแข่งขันทางการค้าได้กำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจปฏิบัติตามเงื่อนไข 7 ข้อ ที่มีหลายฝ่ายปรามาสว่า ทาง กขค.จะสามารถกำกับดูแลให้ผู้ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามเงื่อนไขได้จริงหรือไม่ เช่น ในข้อ 3 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคใช้ข้อมูลร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ โดยให้ถือเป็นความลับทางการค้า เป็นต้น

 

เรื่องนี้ประธานบอร์ดแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า จึงเป็นที่มาของสำนักงานฯต้องมาออกแบบการทำงาน หรือออกแบบวิธีการ เพื่อกำกับดูแลเงื่อนไขเหล่านี้ให้สามารถบังคับใช้ได้จริง ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งสองฝ่าย (ผู้ออกเงื่อนไขและผู้ปฏิบัติ) ซึ่งยังมีประเด็นอีกมากที่ต้องไปออกแบบในการกำกับดูแล

 

ก้าวต่อไปหลังไฟเขียว “ซีพี”ควบ “เทสโก้โลตัส”

                                    สกนธ์  วรัญญูวัฒนา

 

พิสูจน์สบประมาท “เสือกระดาษ”

 

“เรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่ใหญ่มาก และสังคมจับตามอง ถ้าเราทำได้ดี โปร่งใส และบังคับใช้ได้จริงก็จะไม่ถูกมองว่าเป็น “เสือกระดาษ” ที่เป็นสิ่งที่ผมกังวลใจมากที่สุด เพราะแค่นี้หลายคนก็ปรามาสแล้ว รวมถึงพรรคพวกนักวิชาการก็ปรามาส กระหนํ่าผมเละว่าเงื่อนไขอ่อนไป ทำอย่างนี้กระทบเยอะ ซึ่งเราก็เข้าใจว่าสังคมมองอย่างไร”

 

ดังนั้นจะต้องไปดีไซน์วิธีการทำงานตรงนี้ด้วยอีกหลายเรื่อง ไมใช่แค่พอออกคำวินิจฉัยปุ๊บ “จบ” มันไม่ใช่ ภารกิจสำนักงานฯไม่ได้จบแค่นั้น เพราะเงื่อนไขก็คือคำสั่งทางปกครองที่ต้องบังคับใช้ได้ และอย่างที่บอกก็ต้องรอทางซีพีว่า เขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขตรงนี้ ถ้าเห็นด้วย เราต้องออกแบบการกำกับดูแลต่อไป ไม่ได้จบแค่นี้ ลองนึกภาพดู เขามีสินค้ากี่พัน กี่หมื่นรายการ กี่ประเภทธุรกิจ เราก็ต้องไปออกแบบวิธีการในการกำกับดูแลให้เขาปฏิบัติตามเงื่อนไข

 

“ยอมรับความจริงว่า สำนักงานฯ(สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า) ยังใหม่มาก และวิธีการทำงานจะคิดแบบราชการแบบเดิมไม่ได้ว่า ฉันออกคำสั่งไปแล้ว รอมีคนมาร้องเรียนมันไม่ได้ เรื่องนี้ต้อง proactive (เชิงรุก) เพราะเหตุผลที่สำนักงานฯแยกออกมาจากส่วนราชการ (เดิมเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมการค้าภายใน) ก็เพื่อทำงานเชิงรุก ทำทุกอย่างให้ชัดเจน ไม่ใช่แค่รอคนมาร้องเรียนอย่างเดียวไม่ได้ ไม่งั้นจะแยกสำนักงานออกมาทำไม ไม่มีประโยชน์ ส่วนข้อครหาว่ามีการรับเงินไม่เป็นความจริง  แต่จะเป็นแรงผลักดันให้เรายิ่งต้องพิสูจน์ตัวเองว่าโปร่งใสจริง ตั้งใจทำงานจริง ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งของสำนักงานฯในระยะยาว”

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 9 ฉบับที่ 3631 วันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563