พบ"เสือลายเมฆ"ครั้งแรก​ในรอบ​ 20​ ปี แถบป่าเทือกเขาพนมดงรัก

27 พ.ย. 2563 | 02:59 น.

เพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ภาพ"เสือลายเมฆ" ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี แถบป่าเทือกเขาพนมดงรัก

วันที่ 27 พ.ย.63 เพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า  พบเสือลายเมฆครั้งแรก​ในรอบ​ 20​ ปี แถบป่าเทือกเขาพนมดงรัก​ ตอกย้ำความสำเร็จด้านการลาดตระเวนเพื่อคุ้มครองพื้นที่ป่า​ รวมถึงการจัดการพื้นที่ทุ่งกบาลกะไบตามโครงการปล่อยสัตว์ป่า คืนวนาเพื่อป่าสมบูรณ์​

 

27​ พฤศจิกายน​ 2563​ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร​ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 เปิดเผยว่า​ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนสำรวจและติดตามความหลากหลายทางสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขสป.พนมดงรัก ได้ดำเนินการเก็บกล้องดักถ่าย Camera Tap ซึ่งติดตั้งดักถ่ายไว้ระหว่างวันที่ 1-24 พฤศจิกายน 2563 พบสัตว์ป่าที่สำคัญปรากฎในกล้องดักถ่าย อาทิเช่น​ เสือลายเมฆ กวาง เนื้อทราย​ เก้ง​ หมูหริ่ง แมวดาว หมาไน​ หมาจิ้งจอก นกโกโรโกโส และนกยางลายเสือ​ เป็นต้น

 

พบ"เสือลายเมฆ"ครั้งแรก​ในรอบ​ 20​ ปี แถบป่าเทือกเขาพนมดงรัก

 

นายชัยวัฒน์​ กล่าวเพิ่มเติมว่า​ สำหรับสัตว์ที่พบเป็นชนิดสัตว์ป่าที่พบใหม่ 1 ชนิด คือ เสือลายเมฆ พบในบริเวณเส้นทางเข้าทุ่งกบาลกะไบ ซึ่งทุ่งกบาลกะไบ ในปัจจุบันนับแต่มีการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ ตั้งแต่ ปี 2558 สัตว์ป่าที่ปล่อยได้รับการดูแล โดยมีการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ที่เพียงพอแก่สัตว์ป่า และนำไปสู่การแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติ และสัตว์ป่าเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเริ่มจากสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็ก อาทิ หมาไน หมาจิ้งจอก แมวดาว เข้ามาอาศัยในพื้นที่เพื่อล่าสัตว์ที่อ่อนแอเป็นอาหาร จนกระทั่งในวันนี้ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ขสป.พนมดงรัก พบ “เสือลายเมฆ” ซึ่งเป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดกลาง เข้ามาอาศัยในพื้นที่

 

ทั้งนี้​ "เสือลายเมฆ" เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ในประเทศไทย โดยให้ป่าแถบนี้ไม่เคยพบเสือลายเมฆมาก่อน ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี นับจากจากการสู้รบกันในเขตชายแดนไทย -กัมพูชา และถือเป็นครั้งสำคัญ ซึ่งทำให้พิสูจน์ได้ว่า “โครงการปล่อยสัตว์ป่า คืนวนาเพื่อป่าสมบูรณ์” ประกอบกับ “การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ smart patrol” ที่ได้มีกำชับให้เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด ช่วยให้สัตว์ป่าเหล่านี้รอดพ้นจากภัยคุกคาม และนำมาซึ่งความหลากหลายทางสัตว์ป่าและพันธุ์พืชอีกครั้ง