เปิดผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (จบ) กลไกระงับข้อพิพาท

29 พ.ย. 2563 | 08:25 น.

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปผลการศึกษาเรื่องดังกล่าว และเห็นว่าไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม โดยผลกระทบด้านเศรษฐกิจ กมธ.มีข้อเสนอที่น่าสนใจ ดังนี้  (ต่อจากตอนที่ 4)

 

3.10 ประเด็นกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐ (Investor-State Dispute Settlement : ISDS)

 

(1) หากประเทศไทยเข้าร่วมเจรจาเป็นสมาชิก CPTPP ประเทศไทยจะต้องเน้นยํ้าสิทธิในการกำกับดูแลของรัฐ (Right to regulate) ว่า ครอบคลุมทุกมิติรวมทั้งด้านความมั่นคง โดยอาจเจรจาเพื่อจัดทำภาคผนวก (Annex) ของข้อบทลงทุนที่ประเทศ ไทยมีสิทธิในการเจรจาข้อสงวน ซึ่งประเทศ ไทย อาจทำเป็น side letter หรือความตกลงเฉพาะกับประเทศสมาชิกบางประเทศได้แล้วแต่กรณี 

 

(๒) ไม่ว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมเจรจาหรือเป็นภาคีในความตกลงใดๆ ในอนาคต รัฐบาลต้องสร้างกลไกเพื่อให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องรับทราบ และปรับตัวเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีได้อย่างครบถ้วน เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกัน การเกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุน

 

3.11 ประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ

 

(1) เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีนโยบาย offset เป็นการเฉพาะ คณะกรรมาธิการเห็นว่า รัฐควรทำการศึกษาและกำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้ offset ให้ชัดเจน รวมถึงกำหนดระยะเวลาที่จำเป็นในการนำ offset มาใช้เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ

 

(2) ให้กรมบัญชีกลางศึกษากฎหมาย ที่กฎระเบียบการจัดซื้อ จัดจ้างโดยรัฐของประเทศไทย ไม่สอดคล้องกับความตกลง CPTPP รวมถึงกฎหมายหรือข้อบังคับอื่นๆ ที่กรมบัญชีกลางเห็นว่า สามารถดำเนินการได้ เช่น บัญชีนวัตกรรม การกำหนดเงื่อนไขให้นักลงทุนปฏิบัติ (performance requirements) หรือกฎระเบียบกระทรวงการคลังฯ อื่นๆ ที่ประเทศไทยควรจะปรับแก้ไขให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจโลก

 

(3) หน่วยงานภาครัฐ ควรมีกระบวน การตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้มาโดยเงินบริจาค เพื่อความโปร่งใสและป้องกัน การเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุน

 

 

เปิดผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (จบ) กลไกระงับข้อพิพาท

 

 

3.12 ประเด็นรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ 

 

(1) ประเทศไทยยังสามารถเจรจา เพื่อขอสงวนรัฐวิสาหกิจที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อบทของ CPTPP ในเรื่องการห้ามเลือกปฏิบัติและการห้ามอุดหนุนหรือช่วยเหลือได้

 

(2) กรณีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ภาครัฐควรมีการกำหนดบทบาทภารกิจให้ชัดเจน โดยเน้นเรื่องเป้าหมายในการรักษาความมั่นคงทางยาและด้านสุขภาพประชาชนเป็นหลัก ควรพิจารณายกเลิกการส่งเงินเข้าคลังจากรายได้เชิงพาณิชย์ เพื่อไม่ให้เป็นภาระที่กระทบต่อพันธกิจหลักของ อภ. เพื่อประโยชน์ของประชาชน และสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนา (R&D) เกี่ยวกับยาและเวชภัณฑ์ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิดผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (1)

เปิดผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (2) ข้อเสนอด้านเกษตร

ผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (3) ผลกระทบเศรษฐกิจ

ผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (4) ผลกระทบเศรษฐกิจ

 

 

 

ทั้งนี้ ภาครัฐอาจพิจารณาทบทวนนโยบายในการจัดซื้อยาโดยวิธีเฉพาะเจาะจงจากองค์การเภสัชกรรม เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนซื้อยาในราคาแพงในบางกรณี นอกจากนี้ หากตัดสินใจจะเข้าร่วมเจรจาเป็นสมาชิก CPTPP รัฐบาลต้องตั้งข้อสงวน โดยกำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านสำหรับยาและเวชภัณฑ์ ดังเช่น ที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ กำหนดไว้เช่น เวียดนาม เป็นต้น

 

3.13 ประเด็นด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade : TBT)

 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเพิ่มการกำกับดูแลมาตรฐานและคุณภาพสินค้านำเข้า โดยเร่งกำหนดมาตรฐานบังคับในระดับที่ผู้ประกอบการไทยสามารถทำได้ โดยรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการปรับปรุงกฎระเบียบและการจัดทำ มาตรฐานสินค้า เพื่อรองรับการเจรจาความตกลงการค้าเสรีสมัยใหม่ในอนาคต 

 

ในขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาและทบทวนมาตรการต่างๆ ในประเทศที่อาจเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็น เช่น มาตรการด้านฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

3.14 ประเด็นมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary : SPS) 

 

การประเมินความเสี่ยง และการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาเป็นหลักฐานสนับสนุนมาตรการที่บังคับใช้ เป็นหลักการที่ประเทศไทยต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ WTO และความตกลงอื่นๆ อยู่แล้ว ความตกลง CPTPP จึงเป็น การเพิ่มช่องทางการนำเรื่องเข้าสู่กระบวน การระงับข้อพิพาทอีกช่องทางหนึ่ง

 

 

 

3.15 ประเด็นสินค้าขยะอันตราย 

 

(1) รัฐบาลจะต้องเร่งศึกษาประโยชน์และผลกระทบในการให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลเพื่อห้ามการส่งออก (Basel Ban Amendment) โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยจากการห้ามส่งออกของเสียอันตรายไปรีไซเคิลยังประเทศปลายทาง

 

(2) รัฐบาลจะต้องมีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการอนุญาตโรงงานรีไซเคิลในประเทศไทย และการนำของเสียจากต่างประเทศเข้ามารีไซเคิลภายในประเทศ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน รวมทั้งทบทวนพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2562 ให้สอดคล้องกับนโยบายโรงงานรีไซเคิล

 

ท้ายที่สุดแล้ว การศึกษาของคณะกรรมาธิการยังพบว่า ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาหรือข้อบทตามกรอบความตกลง CPTPP และอื่นๆ เป็นสิ่งที่สำคัญต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ 

 

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าร่วมเจรจาหรือเป็นภาคีในความตกลงใดๆ ในอนาคตก็ตาม รัฐบาลต้องสร้างกลไกเพื่อให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องรับทราบ และปรับตัวเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีได้อย่างครบถ้วน และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในทุกภาคส่วนต่อไป 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,631 หน้า 10 วันที่ 29 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2563