GISTDA เปิดโลกเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ

27 พ.ย. 2563 | 07:30 น.

เราต้องการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสเข้าถึงและใช้งานเทคโน โลยีอวกาศได้สะดวกมากขึ้น โดยใช้งบประมาณให้ต่ำลง เรียกว่าเป็น Space Tech for all และ GIS for All

ขณะที่อุตสาหกรรมอวกาศโลกในอีก 20 ปีข้างหน้าหรือปี 2583 จะมีมูลค่าถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ ประเทศไทยก็กำลังเดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ หรือ Aerospace Industry ด้วยเช่นกัน โดยกำหนดให้เป็น 1 ใน10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ที่เรียกว่า New Engine of Grouth 

 

ดังนั้น อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ จึงถือเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ซึ่ง "ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์" ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. (GISTDA) ได้เข้ามาเป็นผู้จับเคลื่อนเต็มรัว หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

GISTDA เปิดโลกเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ

"ดร.ปกรณ์" ได้รับกรอบนโยบายการทำงานในระยะเวลา 4 ปี โดยมุ่งเน้น 2 เรื่องหลัก คือ "งานข้อมูลภูมิสารสนเทศ" (GIS) ที่มีการใช้งานจริงในระดับหน่วยงานภาครัฐ ที่จะเกิดการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ผ่านกลไกความร่วมมือให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ พร้อมทั้งผลักดันให้ประชาชนและสังคมเข้าถึงข้อมูล GIS ได้ง่ายและสะดวก ผ่านการพัฒนาแอพพลิเคชั่นโดยคนรุ่นใหม่ อาทิ สตาร์ทอัพ หรือบุคคลภายนอก 

อีกเรื่องคือ "งานด้านอวกาศ" มุ่งเน้นในส่วนของดาวเทียมธีออส 2 ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นดาวเทียมขนาดเล็ก มีอายุการใช้งานอย่างน้อย 5 ปี ตามกำหนดจะส่งขึ้นอวกาศอีก 2 ปีข้างหน้า จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า จากงบลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท

 

ผู้อำนวยการ GISTDA ขยายความว่า การเติบโตของธุรกิจดาวเทียมขนาดเล็ก จะถูกยิงขึ้นไปบนอวกาศ เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาคธุรกิจ ที่อาศัยสารสนเทศ อย่างพวก IOT ซึ่งปีๆ หนึ่งมีความต้องการยิงดาวเทียมพวกนี้ขึ้นไป รวมเป็นหมื่นๆ ดวง ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องศึกษาเรียนรู้และพัฒนา ทั้งในแง่การผลิตผู้คนที่เข้าสู่วงจรอุตสาหกรรมการผลิต, โปรแกรมมิ่ง, แอพพลิเคชั่น และงาน development หรือการนำไปประยุกต์ใช้ต่างๆ

 

อีกประเด็น ที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมรี้ คือ การยิงขึ้นดาวเทียมสู่อวกาศ ต้องมี "ท่าอวกาศยาน" สำหรับยิงด้วยจรวดขึ้นไปบนฟ้า จากเดิมที่ได้ยินเรื่องการจราจรติดขัด รอคิวยิงจรวจ หรือ ค่าดำเนินการสูง ที่ คานาเวอร์รอลในรัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา หรือ เฟรนช์เกียนา จังหวัดโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส ที่ตั้งของ Guiana Space Centre ซึ่งเป็นฐานปล่อยจรวจ ขององค์การอวกาศยุโรปและอีกหลายองค์กร

 

"แต่จะเป็นอย่างไร หากประเทศไทยมีท่าอวกาศยานของเราเอง ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ทางตรงแล้ว ยังเกิดอุตสาหกรรม ที่ต่อเนื่องตามมา ไม่ใช่แต่เพียงในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ยังข้ามอุตสาหกรรม ไปงานอุตสาหกรรมอื่นเช่น การท่องเที่ยวได้อีก"

 

GISTDA มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาคารประกอบ(assembly) และทดสอบดาวเทียม ที่เรียกว่า AIT ตั้งอยู่ที่ศรีราชา คนของ GISTDA หลายๆ รุ่น ถูกส่งไปเรียนรู้เรื่องการประกอบดาวเทียมในประเทศต่างๆ ของโลก เราส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศสู่ภาคเอกชนด้วย มีสำนักถ่ายทอดจริงจัง ครอบคลุมไปยังสถานศึกษา ตั้งแต่นักเรียนด้วยซ้ำ

GISTDA เปิดโลกเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ

"เราพยายามสร้าง Eco Systemในเรื่องนี้ไว้รองรับ เปิดรับ startups และส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ๆ และหาทางเปิดประตูสู่แหล่งทุนให้ด้วย"

 

เป้าหมายหลักระหว่างที่นั่งทำหน้าที่อยู่ตรงนี้ "ดร.ปกรณ์" บอกว่า ต้องการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีอวกาศได้สะดวกมากขึ้น โดยใช้งบประมาณให้ต่ำลง เรียกว่าเป็น Space Tech for all กับ GIS for All  

ขณะนี้ GISTDA ส่งเสริมองค์ความรู้ และเพิ่มโอกาส ให้กับผู้สนใจ GISTDA มี Space Inspirium ที่ศรีราชาเป็นแหล่งองค์ความรู้ แถมยังสนุกด้วย มีดาวอังคารจำลองให้เล่น มีตัวอย่างภาวะไร้แรงโน้วถ่วงให้ลอง เรามีกิจกรรมแข่งขันสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก ส่งเสริมการเขียนโปรแกรม ควบคุมอุปกรณ์สำรวจอวกาศ ประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายทั้งในและนอกประเทศ สร้างแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนเต็มที่

 

"ดร.ปกรณ์" เล่าว่า ตั้งแต่ตอนที่เป็นกรรมการบริหาร GISTDA ก็ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบบูรณาการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการอื่นๆ ภายใต้แนวคิดที่ว่า Co-creation  เพื่อสร้างเศรษฐกิจสังคมประเทศชาติให้ได้ประโยชน์

GISTDA เปิดโลกเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ

ที่ผ่านมา ได้สร้างสรรค์งานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ไปกรมเจ้าท่าร่วมพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำ, ไปกรมแรงงานร่วมกับกรมแรงงานพัฒนาระบบสวัสดิการ, เรื่อง climate change นี่ไปในสหประชาชาติ, PM2.5 แผนที่ความร้อนส่องลงมาจากดาวเทียม, zero waste รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจสีเขียว

นอกจากนี้ ยังมีระบบ G-MOS เป็นการบูรณาการเชิงพื้นที่ ช่วยการตัดสินใจการจัดการน้ำท่วมชุมชนเมืองและภัยพิบัติกรณี COVID 19 นี่ก็ร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ แสดงข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการบริหารสถานการณ์

"ดร.ปกรณ์" ย้ำว่า GISTDA พร้อมทำหน้าที่เป็น Active Facilitator ที่สามารถทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนอย่างไร้ขีดจำกัด เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศให้เดินหน้าอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพโดยเน้นเรื่องคนกับเทคโนโลยีต้องเชื่อมต่อกันได้

ปี 2562 "ดร.ปกรณ์" ได้ศึกษาร่วมกับนิด้า และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ประมาณการมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ตัวเลขเริ่มต้นอยู่ที่ราว 35,000 ล้านบาท โดยคิดคำนวนจากฐาน Aero-Space คือคิดเฉพาะการบินและอวกาศก่อน

…นั่นเป็นเพียงตัวเลขเริ่มต้น หากทุกอย่างเดินหน้า พร้อมบูรณาการความร่วมมือต่างๆ เข้าด้วยกัน มูลค่าเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จะมหาศาลขนาดไหน ต้องติดตามดู เพราะวันนี้ "อวกาศ" ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกค่อไป

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,630 วันที่ 26 - 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563