"วิษณุ" สยบข่าวประกาศ "กฎอัยการศึก"

25 พ.ย. 2563 | 05:51 น.

"วิษณุ" ยัน รัฐบาลไม่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ส่วนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีร้ายแรงในพื้นที่กทม. ต้องเข้า 3 องค์ประกอบ

25 พฤศจิกายน 2563 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนกรณีที่ม็อบราษฎรนัดชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ แยกรัชโยธิน แทนที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แยกวังแดงว่า ไม่ทราบเรื่องนี้

 

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ม็อบนัดชุมนุมบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจของเอกชนจะเข้าข่ายการประกาศใช้กฎอัยการศึกได้หรือไม่นั้น ยืนยันว่า ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พูดแล้วว่า จะไม่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก

 

อย่างไรก็ดี หากผู้ชุมนุมย้ายจากการชุมนุมที่หน้าสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ความอ่อนไหวก็ไม่ต่างจากการชุมนุมในวันอื่นๆที่ได้มีการชุมนุมกันไปก่อนหน้านี้ การชุมนุมที่หน้าสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก็จะมีความอ่อนไหวมากกว่าทุกครั้ง 

 

ต่อข้อซักถามที่ว่า การที่ผู้ชุมนุมย้ายกลับพื้นที่ดังกล่าวออกไปแล้ว แสดงว่า สามารถใช้กฎหมายปกติในการควบคุมสถานการณ์ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า กฎหมายอะไรก็ได้ที่มีอยู่นำมาใช้ได้โดยที่ไม่ใช้กฎอัยการศึก ก็เอามาใช้ได้ และขอย้ำว่า รัฐบาลไม่เคยคิดเรื่องการใช้กฎอัยการศึก ผู้สื่อข่าวไปได้ข่าวจากไหนว่ามีการคิดถึงเรื่องนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทนายพบโตโต้ ก่อนถูกสอบสวนข้อหา ม.116 ไม่ชัวร์ได้ประกันตัวหรือไม่

"นิพิฏฐ์"เปิดผล "คดีเลือกตั้ง" ย้ำ ให้ดูไว้เป็นตัวอย่าง

เปิดชื่อ 12 แกนนำม็อบราษฎร ตร.ออกหมายเรียก ผิดม.112

ม.ศิลปากร แจงปม นักศึกษาโดนจับ

 

ทั้งนี้ การมีกฎอัยการศึกไม่ได้แตกต่างจากการที่ไม่มีในเวลานี้ เพียงแต่การประกาศกฎอัยการศึกทำให้ทหารออกมามีอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ ที่จริงแล้วเมื่อมีการประกาศพระราชกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แล้ว ก็จะมีการตั้งให้ทหารเป็นหัวหน้าผู้อำนวยการเจ้าพนักงานควบคุมสถานการณ์ แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้เปลี่ยนให้ตำรวจเป็นหัวหน้าผู้อำนวยการเจ้าพนักงานควบคุมสถานการณ์ ซึ่งมันก็ไม่ได้แตกต่างอะไร สำหรับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จะเบากว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่อำนาจนั้นไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ แต่ในส่วนของผู้รักษาการจะแตกต่างกัน

ต่อข้อซักถามที่ว่า ขณะนี้ยังจำเป็นจะต้องกลับมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกครั้งหรือไม่นั้น นายวิษณุ ระบุว่า ไม่ แต่ถ้าจะประกาศก็ไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ อยู่ที่หน่วยงานด้านความมั่นคงที่จะเป็นผู้ประเมินว่าสถานการณ์มีความร้ายแรงเพียงใด จึงจะต้องกลับมาประกาศใช้ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกครั้ง ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงจะต้องเป็นผู้ประเมินงานด้านการข่าวว่า การชุมนุมนั้นจะมีความร้ายแรงมากแค่ไหน โดยพิจารณาจาก 3 องค์ประกอบ คือ

 

1.ความสำคัญของสถานที่ อาทิ เขตพระบรมมหาราชวัง เขตพระราชทาน สถานที่ประทับ 2.ดูจากผู้ชุมนุม ว่ามีอาวุธหรือมีเครื่องมืออะไรบ้าง และ 3.ดูเรื่องความเสี่ยงที่อาจจะมีการเผชิญหน้าและปะทะกัน และถ้าฝ่ายความมั่นคงเห็นว่าจะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จะต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) หรือถ้าเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องประกาศในทันทีก็สามารถทำได้ แล้วจึงนำมาเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอน

 

ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมขวางขบวนเสด็จที่เกิดขึ้นในช่วงเย็น แต่ผู้ชุมนุมยังปักหลักชุมนุมอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลจึงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรงในช่วงตี4 ของอีกวันหนึ่ง ซึ่งในครั้งนั้นหน่วยงานด้านความมั่นคงประเมินว่าผู้ชุมนุมยังปักหลัก และอยู่ในพื้นที่ใกล้เขตพระราชทาน หากมีการเคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมก็อาจจะกระทบต่อทำเนียบรัฐบาล และได้ประเมินความเสี่ยงของกลุ่มผู้ชุมนุมแล้วจึงตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังกล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม หลายรายด้วย มาตรา 112 คิดว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่คิดอะไร เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่เขาคิดของเขา

 

ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศชุมนุมต่อเนื่อง 5 วันโดยจะระบุสถานที่เวลาที่ชัดเจนอีกครั้งจะมีผลทำให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรงหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การชุมนุมจะมีกี่วันนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่อยู่ที่ว่าจะมีระดับความรุนแรงหรือไม่ และต้องพิจารณาจาก 3 ประการหลักที่ได้กล่าวไปแล้ว อย่างไรก็ตามหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งหมดต้องเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องดูความเสี่ยงของมวลชนอีกกลุ่มหนึ่งด้วย ซึ่งรัฐบาลพยายามไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากัน โดยขอร้องให้อยู่ห่างกันซึ่งถ้าทั้งสองฝ่ายอยู่ห่างกันได้จะทำให้สถานการณ์เบาลงไปมาก

 

 

เมื่อถามว่าในปัจจุบัน หากกลุ่มผู้ชุมนุม ประกาศรวมตัวชุมนุมกันที่ใดแล้วมักจะมีอีกกลุ่มหนึ่ง ประกาศไปชุมนุมพื้นที่ใกล้เคียงด้วยเช่นกัน จะเกิดความสุ่มเสี่ยงหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มักจะเกิดแบบนี้ขึ้นอยู่แล้ว เป็นเรื่องธรรมดา แต่ในอันที่จริงแล้วถ้าต่างคนต่างมา ต่างคนต่างอยู่ ก็ไม่มีอะไร เพียงแต่ล่าสุดเกิดเหตุการณ์สองฝ่ายปะทะกันที่บริเวณหน้ารัฐสภา

 

ผู้สื่อข่าวถามว่ากลุ่มมวลชนเสื้อเหลืองประกาศว่าจะรอกลุ่มราษฎรอยู่ที่หน้าแท่งแบริเออร์ เพื่ออธิบายข้อเท็จจริง ข้อสงสัยให้ทราบ แบบนี้ถือเป็นการยั่วยุหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  ถ้าชี้แจงเป็นก็ไม่ยั่วยุ แต่ถ้าชี้แจงไม่เป็นก็ถือเป็นการยั่วยุ ถ้าใช้ปิยวาจาชี้แจงด้วยเหตุและผลก็ไม่ใช่การยั่วยุ การจะยั่วยุหรือไม่อยู่ที่พฤติกรรม บางทีไม่ต้องพูดอะไรเพียงแค่แลบลิ้นใส่ก็ยั่วยุแล้ว 

 

เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเรื่องมือที่สาม อาจเข้าแทรกแซงหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องระวังอย่าให้มันเกิด ทุกครั้งที่มีการชุมนุมมักจะมีมือที่ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า