ลมหายใจ “หลีเป๊ะ” เหนือทะเลใต้

25 พ.ย. 2563 | 05:10 น.

วิกฤติโควิด – 19 สร้างความปั่นป่วนให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างหนัก จำนวนนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคนในปี 2562 รายได้จากปีละเกือบ 2 ล้านล้านบาทที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนำมาใช้จ่าย มากินมาเที่ยวในบ้านเรา หายวับไปกว่า 80% จนถึงวันนี้ การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวยังไม่เหมือนเดิม และคาดว่าในปี 2564 ก็ยังไม่น่าจะฟื้นกลับมาเหมือนเดิม แม้ว่าจะมีข่าวเกี่ยวกับการค้นพบวัคซีนป้องกันไวรัสฯ มาเป็นระลอกก็ตาม

แต่ผมยังมองไม่เห็นภาพการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเหมือนเดิม ในปีสองปีหน้านี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการและผู้ที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวที่หวังพึ่งนักท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างเดียวจะต้องปรับตัวอย่างหนัก อย่างน้อยก็ในระยะที่มาตรการเดินทางระหว่างประเทศของนักท่องเที่ยวยังไม่ชัดเจนว่าจะกลับมาเป็นปกติเมื่อไร

วันก่อนผมมีธุระที่จังหวัดสตูล และมีโอกาสไปเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งในระหว่างเดินทางและพักในเกาะ ผมได้มีโอกาสคุยกับนักธุรกิจหลายท่าน โดยเฉพาะท่านประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสตูลในอดีตและปัจจุบันเกี่ยวกับเศรษฐกิจท่องเที่ยวที่เป็นลมหายใจสำคัญของสตูล ซึ่งทุกท่านก็ให้ข้อคิดเห็นคล้าย ๆ กันว่า ธุรกิจท่องเที่ยวสตูลคงเป็นการท่องเที่ยวทางทะเลเป็นหลัก และต้องเชื่อมการเดินทางของนักท่องเที่ยวกับจังหวัดใกล้เคียงให้ได้มากที่สุด

โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวจากยุโรป ที่มักใช้เวลาเที่ยวในแต่ละแห่งนาน ๆ แวะพักตามเกาะต่าง ๆ แต่ละแห่งหลายวัน และเดินทางต่อเนื่องไปหลาย ๆ แห่งที่อยู่ในพื้นที่ที่ต่อเนื่องกัน ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยส่วนมากจะมาในช่วงวันหยุดเป็นช่วงเวลาสั้นๆ และตั้งแต่ช่วงโควิดเป็นต้นมา การท่องเที่ยวของสตูลเปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป

              คุณมานิต กวีรัตน์ ประธานกิตติมศักดิ์ ของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล เจ้าของบันดาหยา รีสอร์ทบนเกาะหลีเป๊ะ เล่าให้ผมฟังว่า วันนี้นักท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะหายไปกว่า 80% และเป็นคนไทยเกือบทั้งหมด ซึ่งพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวก็ต่างออกไป ร้านค้าจำนวนมากปิดตัวลง แม้แต่ร้านเซเว่นฯ ยังหยุดกิจการ นอกจากนี้ เรือเมล์ที่ถือว่าเป็นเส้นทางอันดามัน ริงค์ (Andaman Ring) ที่วิ่งเชื่อมเกาะภูเก็ต หลีเป๊ะ

และปีนังของมาเลเซีย ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินทางของเรือเมล์และบริษัททัวร์ นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเที่ยวกัน โดยเฉพาะพวกที่มาจากยุโรป ซึ่งเดินทางแวะพักแต่ละเกาะเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนก็ใช้เดินทางนี้ข้ามแดนไปมาเลเซียเพื่อต่ออายุวีซ่า และเมื่อวันนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาและการล๊อคดาวน์ทั้งเราและประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เส้นทางอันดามันริงค์ถูกตัดเหลือแต่ภายในประเทศ

ลมหายใจ “หลีเป๊ะ” เหนือทะเลใต้

              อันดามัน ริงค์ เป็นเส้นทางที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ คุณมานิต เล่าว่า เดิมชาวประมงหรือชาวเลบริเวณนี้ร่อนเร่ไปอาศัยตามเกาะต่าง ๆ และย้ายไปเรื่อย ๆ ไม่มีหลักแหล่งตั้งแต่แหลมมลายูจนถึงน่านน้ำพม่า จนกระทั่งการเข้ามาของจักรวรรดิ์ตะวันตกเริ่มมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดน พระยาสมันทรบุรี เจ้าเมืองสตูลได้สำรวจและพยายามชักชวนให้ย้ายผู้คนจากเกาะต่าง ๆ ในบริเวณหมู่เกาะหลีเป๊ะ อาทิ

เกาะลันตา เกาะสิเหร่ และเกาะบุโหลน เข้ามาอาศัยในเกาะหลีเป๊ะมากขึ้น ซึ่งเดิมก็มีปู่โต๊ะฮีรี ซึ่งเป็นคนจากจังหวัดอาเจ๊ะฮ์ ประเทศอินโดนีเซียล่องเรือมาตั้งรกรากเป็นเจ้าแรก ๆ เพราะเห็นว่าเกาะแห่งนี้สมบรูณ์และหาน้ำจืดได้ง่าย ส่วนทางเจ้าเมืองสตูลในช่วงนั้นก็ทราบถึงความพยายามของอังกฤษที่พยายามยึดหมู่เกาะเหล่านี้ว่าเป็นของมาเลเซีย จึงมอบพันธุ์มะพร้าวให้ปู่โต๊ะฮีรีไปแจกให้ชุมชนปลูกเพื่อตั้งรกรากและแสดงให้เห็นว่าพื้นที่นี้เป็นของประเทศไทย และวันนี้เกาะหลีเป๊ะก็กลายเป็นสุดขอบชายแดนสยาม โดยลังกาวีอยู่ถัดออกไป

              คุณมานิต กวีรัตน์ เล่าให้ผมฟังว่ากุศโลบายของเจ้าเมืองสตูลในการย้ายชาวเลจากเกาะต่าง ๆ เข้าไปอาศัยในหลีเป๊ะซึ่งเป็นชายแดนทางทะเลของไทย ทำให้การพิพากษาในการปันเขตแดนทางทะเลของจักรวรรดินิยมไม่สามารถเคลมว่าเกาะหลีเป๊ะเป็นของมาเลเซีย เพราะเมื่อศาลถามคนที่อาศัยในเกาะนี้คนที่อยู่อาศัยก็จะตอบว่าเป็นคนไทย เช่นเดียวกับเกาะตารุเตา เกาะลันตา ฯลฯ

แต่พอถามคนที่อาศัยในเกาะลังกาวีคนที่นั่นก็จะตอบว่าเป็นคนมาเลเซีย ทำให้มาเลเซียไม่สามารถเคลมว่าเป็นของมาเลเซียได้ แม้แต่หลังจากได้อิสรภาพจากอังกฤษก็มีความพยายามที่จะนำเอาเกาะหลีเป๊ะเป็นของมาเลเซียให้ได้ แต่คนหลีเป๊ะวันนั้นก็มีจิตใจเหมือนวันนี้ว่า เขาคือคนไทย และหลีเป๊ะคือแผ่นดินเกาะสุดขอบแดนไทย

              ความน่าสนใจของเกาะหลีเป๊ะสำหรับการมาเยือนในวันนี้ ผู้คนไม่มากเหมือนช่วงก่อนโควิด แต่ผมก็เห็นนักท่องเที่ยวจำนวนพอประมาณ ที่พักของผมที่บันดาหยารีสอร์ท คุณมานิตบอกว่าจำนวนคนเข้าพักก็กว่า 70-80% ในช่วงวีคเอนท์ยาว ๆ ซึ่งก็เป็นนักท่องเที่ยวไทย จะมีต่างชาติก็เป็นพวกตกค้างหรือทำงานในประเทศไทย และหลายรายก็เป็นลูกค้าประจำที่กลับมาเยือนบ่อย ๆ

              เกาะหลีเป๊ะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก พื้นที่ค่อนข้างราบ ผมเดินจากหาดพัทยา (หาดบันดาหยา) ไปยังหาดอีกทิศหนึ่งเพื่อดูพระอาทิตย์ขึ้น หรือหาดซันไรท์ (Sun rise) เดินผ่ากลางเกาะไปตามทางเดินของว๊อคกิ้งสตรีทที่มีร้านอาหารทะเล ร้านบริการนำเที่ยว ดำน้ำ ที่พัก บาร์ และอื่น ๆ ที่มีไว้สำหรับความสุขของคนมาพักผ่อนทางทะเล เดินไปประมาณ 1 ก.ม. นิด ๆ ก็เจอหาดชื่อดังและชุมชนชาวเล ซึ่งเป็นจุดเช็คอินที่ต้องไปเยือนเมื่อมาหลีเป๊ะ

              วันนี้เกาะหลีเป๊ะ แทบไม่เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะมีแต่คนไทย และสำหรับนักธุรกิจบนเกาะนี้อาจรู้สึกธุรกิจซบเซา เมื่อเทียบกับขนาดของการบริการ และจำนวนพนักงานที่มีไว้สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวเรือนหมื่น ทำให้ดูลำบากสักนิดในเชิงธุรกิจ รายได้ลดลงกว่าเดิมมาก แต่สำหรับคนที่มาเที่ยววันนี้ อาจจะชอบที่ผู้คนไม่พลุกพล่านมากบนชายหาด นั่งร้านอาหาร กำลังสบาย เดินเล่นในว๊อคกิ้งสตรีทกำลังพอดี

ผมถามน้องที่ไปด้วย เขาบอกว่าถ้าเมื่อก่อน วันหยุดก็จะไม่ต้องเดิน แต่จะไหลไปตามฝูงนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ร้านอาหารที่นี่ อาหารทะเลสด และที่ชอบคือหอยแครงและหอยแมลงภู่ตัวใหญ่มากแบบที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน เจ้าของร้านบอกว่าหอยในทะเลอันดามันอยู่กับธรรมชาติจะใหญ่กว่าหอยเลี้ยง ใครไปต้องลองให้ได้

การท่องเที่ยวของเกาะหลีเป๊ะก็ยังเป็นการดำน้ำ ดูปลา ดูปะการัง และเที่ยวตามเกาะต่างๆ ไม่ว่าเกาะหินงาม เกาะราวี เกาะตะรุเตา หรือเกาะลันตา ซึ่งแต่ละเกาะก็มีเรื่องเล่าและความน่าสนใจต่างกัน ในระหว่างเที่ยวเกาะต่าง ๆ ผมกับท่านนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูแลพื้นที่จังหวัดสตูล ได้คุยกับ “น้องยุ่ง” คุณอาณัติ โชติพัฒนกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสตูลว่าหลายเกาะ โดยเฉพาะเกาะตะรุเตาซึ่งมีเรื่องราวมากมายและคนไทยรู้จักดี น่าจะมีการจัดการท่องเที่ยวและการเรียนรู้มากกว่านี้

ลมหายใจ “หลีเป๊ะ” เหนือทะเลใต้

ปัจจุบันให้นักท่องเที่ยวขึ้นมาบนเกาะ ถ่ายรูปบนชายหาด ไหว้ศาลเจ้าที่เจ้าทาง เข้าห้องน้ำแล้วเดินทางต่อ เรื่องราวของเกาะตะรุเตาในมุมที่คนไทยรุ่นหลังน่าจะรู้ และนโยบายในการทำให้ที่นี่เป็นเหมือนอาคาซัสของสหรัฐฯ การดำรงชีวิตของนักโทษ ผู้คุม การละเลยของภาครัฐหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การเกิดโจรสลัดและการปราบปรามที่ต้องขอทหารอังกฤษมาช่วยปราบ ฯลฯ ผมว่าเรื่องราวเหล่านี้ น่าจะทำให้เกาะตะรุเตามีค่าแก่การมาเยือนเพื่อหาความรู้ถึงเรื่องราว มากกว่าแค่แวะถ่ายรูปและเข้าห้องน้ำเท่านั้น

              อย่างไรก็ตาม กรมอนุรักษ์ทรัพยากรฯ อาจมองอีกด้านของการจัดการพื้นที่ที่ต่างจากมุมมองของนักท่องเที่ยวก็ได้ การอนุรักษ์ธรรมชาติ ผืนน้ำ เป็นอีกมุมที่เขาต้องดูแล เพียงแต่เราจะให้เกาะแห่งนี้ที่มีเรื่องเล่ามากมายได้จรรโลงเรื่องราวเหล่านั้นให้คนรุ่นหลังได้รู้ถึงช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ในทะเลใต้แห่งนี้ ผมว่าเด็กสมัยนี้แทบจะไม่มีใครรู้ว่าดิกชั่นนารี่ของอังกฤษ-ไทย เล่มที่ดังที่สุดก็ถูกสร้างขึ้นมาใต้แสงตะเกียงในเกาะแห่งนี้จากฝีมือนักโทษการเมืองที่ชื่อ “สอ เสถบุตร”

              พอขากลับมาที่ท่าเรือปากบารา ผมเห็นนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่กำลังจะลงเรือไปเที่ยว ผมถามคุณอาณัติ โชติพัฒนกิจ ว่าเราสามารถดึงนักท่องเที่ยวเหล่านี้เข้าไปเที่ยวในตัวจังหวัดสตูลได้หรือไม่ น้องยุ่งบอกว่า ในตัวเมืองสตูลไม่มีแม่เหล็กที่ดีพอที่จะดึงนักท่องเที่ยวเข้าไป นักท่องเที่ยวส่วนมากมาเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ แต่ไม่ใช่มาเที่ยวสตูล ผมว่าเป็นโจทย์ที่น่าสนใจว่า นักท่องเที่ยวที่มาจากที่ไกล แม้ว่าตั้งใจมาเที่ยวทะเลและเกาะต่าง ๆ แต่ระยะทางไม่ไกลนักจากท่าเรือปากบารามาตัวเมือง เราจะสร้างอะไรที่จะดึงให้พวกเขาต้องเข้าไปในตัวเมืองสตูลได้บ้าง

สำหรับผมอาจมีความรู้เกี่ยวสตูลน้อย แม้ว่าจะมีโอกาสไปเยือนในตัวเมืองสองสามครั้ง แต่ภาพในความทรงจำกลับไม่มีเลย ผมก็นึกไม่ออก …. ตอนนี้นึกถึงสตูล ก็นึกถึงหลีเป๊ะ เท่านั้น ต้องรอดูบทท้าทายของผู้เกี่ยวข้องว่า ลมหายใจของสตูลจะถูกกำหนดให้เป็นแบบไหนและโดยอะไร   

              ในวงสนทนาของเรา บางคนก็เสนอแนะการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา หรือการสร้างสะพานเชื่อมไปเปอร์ริส ของมาเลเซีย น่าจะเป็นการเปิดเมืองและสร้างโอกาสให้สตูลในอีกมิติหนึ่งนอกเหนือการท่องเที่ยวทางทะเลหรือท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการตัดสินใจทางการบริหารที่สำคัญ จะว่าไปแล้วทางออกทะเลฝั่งตะวันตกหรืออันดามันของประเทศไทยไม่มีเลย สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ เมืองมะริดคือท่าเรือที่สำคัญของไทยในฝั่งวันตก

ซึ่งที่ตรงนั้นเรากำหนดให้ พระยาจุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งกรมท่าซ้าย (มองออกจากแผนที่ประเทศไทย) เพื่อติดต่อพวกแขก อาหรับ ต่าง ๆ และเป็นจุดยุทธศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจของไทยในการติดต่อกับโลกฟากอาหรับและอินเดีย และตั้งแต่เสียเมืองนี้ให้กับพม่า เราไม่มีหัวเมืองชายทะเลที่สำคัญที่จะเรียกว่าประตูเศรษฐกิจสู่อันดามันได้เต็มปากมากนัก

โอกาสมีไม่มากนัก ก็ต้องคิดกันดีๆ เพราะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยทั้งสองฝ่าย หวังว่าคงไม่คุย ๆ หยุด ๆ แล้วเก็บไว้ นาน ๆ ทีก็หยิบมาคุยอีก เพราะเรื่องประเภทนี้ได้ยินมาหลายเรื่องแล้ว ถ้าไม่เอา ก็เลิก แล้วหันไปตั้งหลักที่อื่น แล้ว สตูลก็ก้าวต่อไปบนความหวังอื่น ๆ ต่อไป