เดินเครื่องสมานฉันท์ ‘ชวน’ไม่หวังผลเลิศ

25 พ.ย. 2563 | 04:50 น.

“ชวน” เคาะโครงสร้างกก.สมานฉันท์ 21 คน ดึงฝ่ายม็อบร่วม 2 คน ชี้ไม่หวังผลเลิศ แต่ขอเป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหา หวังทุกฝ่ายเข้าร่วม

 

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา พร้อมด้วย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา, นาย สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน), นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาล ร่วมแถลงภายหลังการหารือร่วม 3 ฝ่าย ในการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 

 

7 กลุ่มนั่งกก.สมานฉันท์

 

นายชวน กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบองค์ประกอบของกรรมการให้มีกรรมการทั้งสิ้น 21 คน มาจาก 7 กลุ่ม ประกอบด้วย 

 

1.ตัวแทนจากรัฐบาล 2 คน 2.ตัวแทนส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน 3.ตัวแทนจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน 4.ตัวแทนจาก ส.ว. 2 คน 5.ตัวแทนจากกลุ่มผู้ชุมนุม 2 คน (กลุ่มเรียกร้องเห็นต่างกับรัฐบาล)

 

6.ตัวแทนจากกลุ่มผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น 2 คน (กลุ่มเรียกร้องเห็นด้วยกับรัฐบาล) 7.ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน โดย 3 คน มาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, 1 คน มาจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ, 1 คน มาจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และ 4 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านปรองดองสมานฉันท์ และมีนาย คุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ 

 

ประธานรัฐสภา กล่าวว่า คณะกรรมการมีหน้าที่ศึกษารูปแบบการสร้างความปรองดอง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบองค์ประกอบทั้งหมด 21 คน หลังจากนี้ให้ฝ่ายเลขานุการแจ้งให้แต่ละฝ่ายได้รับทราบ เพื่อส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมกรรมการสมานฉันท์ เพื่อเริ่มเดินหน้าทำงานได้ทันที 

 

ส่วนประธานกรรมการสมาน ฉันท์ขึ้นอยู่กับที่ประชุมกรรมการสมานฉันท์พิจารณาจากกรรมการสมานฉันท์ด้วยกันเอง ส่วนจะมีภาระหน้าที่และรูปแบบการพิจาณาแก้ไขปัญหาอย่างไรนั้น เห็นว่าให้กรรมการมีการประชุมปรึกษาหารือกันก่อน

 

เดินเครื่องสมานฉันท์ ‘ชวน’ไม่หวังผลเลิศ

 

 

“ชวน” ไม่ได้เล็งผลเลิศ

 

นายชวน กล่าวด้วยว่า จากการลงพื้นที่พบปะรับฟังความเห็นประชาชนต่างก็เห็นด้วยหากกรรมการสมานฉันท์สามารถทำให้บ้านเมืองเป็นไปอย่างสงบ แต่ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งและความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางเรื่องป้องกันได้ เพราะฝ่ายการเมืองอย่างเราๆ รู้ดีว่าบางเรื่องมันเกิดขึ้นเพราะอะไร ซึ่งสามารถป้องกันได้ โดยการสร้างเงื่อนไขไม่ให้เกิดขึ้นมาอีก

 

“แต่ก็ต้องยอมรับว่าในอนาคตเราไม่รู้ว่าความขัดแย้งจะเป็นเรื่องอะไร แต่เรารู้ปัญหาในอดีต ก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพื่อลดปัญหาในอนาคต ส่วนปัญหาในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราไม่มีทางรับรู้ได้เหมือนเทคโนโลยี โลกโซเชียลมีเดียยุคใหม่ แม้จะมีคุณค่ามากมาย แต่ก็มีโทษอย่างร้ายแรงหากใช้ในทางที่ผิด แต่หากใช้ในทางปรองดองก็จะทำให้เกิดความเข้าใจ และหากใช้ไปในทางที่ผิด ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งเช่นกัน ซึ่งเรื่องแบบนี้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้โดยตรงจะเข้ามามีส่วนร่วม”

 

 

 

ส่วนความคาดหวังกับกรรม การสมานฉันท์ชุดนี้ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ได้แจ้งต่อที่ประชุมวิปทั้ง 3 ฝ่ายแล้วว่า ไม่ได้เล็งผลเลิศว่าจะต้องเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนทันทีทันใด แต่หวังว่าได้มีช่องทางได้พูดคุยกันในปัญหาที่เกิดขึ้น 

 

ต่อกรณีหากผู้ร่วมชุมนุมไม่เข้าร่วมเป็นกรรมการ นายชวน ยืนยันว่า ไม่เป็นปัญหา แต่รัฐสภายังต้องทำหน้าที่ไปตามภารกิจต่อไป หากไม่เข้าร่วมก็ทำหน้าที่ไปเท่าที่มีอยู่ไปก่อน แต่พยายามจะให้มีทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และต้องให้เวลาแต่ละฝ่ายในการตัดสินใจ

 

สุทินชี้ดีกว่าโครงสร้างเดิม 

 

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ยังตอบยากว่า คณะกรรมการจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ แต่เมื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วม โดยเฉพาะผู้ชุมนุมกับผู้เห็นต่าง ฝ่ายค้านคิดว่าน่าจะดีกว่าตอนแรกที่ไม่มีโครงสร้างนี้ เพราะเป็นโครงสร้างที่ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม

 

ส่วนที่ผู้ชุมนุมปิดประตูไม่ร่วมกรรมการสมานฉันท์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า เมื่อปรับโครง สร้างแล้ว เชื่อว่ากลุ่มผู้ชุมนุมน่าจะเก็บไปพิจารณา จะร่วมหรือไม่คงต้องรอฟัง เช่นเดียวกับฝ่ายค้านที่ต้องกลับไปหารือกัน 

 

เมื่อถามว่าคณะกรรมการชุดนี้พอมีความหวังหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า พอมี ส่วนจะมากหรือน้อยและจะสู้กับปัญหาได้หรือไม่ ต้องรอดูระยะยาว 

 

“การทำงานของคณะกรรมการจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมไปถึงการแก้ปัญหาในอนาคต เป็นการแก้ไขปัญหาควบคู่กันไป คงไม่ได้ทิ้งนํ้าหนักไปแค่เรื่องในอนาคต เพราะหากไม่แก้วันนี้ แล้วไปคิดทำแต่วันข้างหน้าคงเป็นไปไม่ได้”

 

 

 

6 หน่วยงานเลือกตัวแทน 

 

ด้านนายคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสมานฉันท์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ประธานรัฐสภา และตัวแทน 4 ฝ่าย มีมติต่อโครงสร้างกรรมการสมานฉันท์แล้ว ฝ่ายเลขานุการ จะทำหนังสือถึงประธานหน่วยงานต่างๆ 6 หน่วยงานที่มีชื่อเป็นกรรมการ ได้แก่ รัฐบาล, ประธานวิปรัฐบาล, ประธานวิปฝ่ายค้าน, ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ และประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อให้คัดเลือกตัวแทนและส่งรายชื่อให้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ 

 

นายคุณวุฒิ กล่าวว่า การทำหนังสือเพื่อขอให้หน่วยงานส่งตัวแทนนั้นไม่ได้กำหนดเวลา เพราะต้องให้เวลาหน่วยงานประชุม หรือพิจารณาร่วมกันก่อน และเมื่อได้รายชื่อแล้ว ฝ่ายเลขานุการจะนัดประชุมกรรมการโดยเร็วที่สุด 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,630 หน้า 12 วันที่ 26 - 28 พฤศจิกายน 2563