ผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (4) ผลกระทบเศรษฐกิจ

27 พ.ย. 2563 | 04:55 น.

 

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปผลการศึกษาเรื่องดังกล่าว และเห็นว่าไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม โดยผล กระทบด้านเศรษฐกิจ กมธ.มีข้อเสนอที่น่าสนใจ ดังนี้  (ต่อจากตอนที่ 3)

 

3.3 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องปรับปรุงกลไกการกำกับดูแล และการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งในระบบเศรษฐกิจการค้าแบบดั้งเดิมและดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมและบทบาทในการติดตาม ดูแล และตรวจสอบการกระทำที่อาจละเมิดต่อสิทธิของผู้บริโภคด้วย

 

3.4 เนื่องจากการจัดทำ ความตกลงการค้าเสรีจะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้ได้รับผลกระทบ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผล กระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ที่เป็นกลไกต่อเนื่องและเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้สามารถปรับตัวและรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีได้อย่างเหมาะสมด้วย

 

3.5 ภาพรวมการประเมินผลกระทบ และ Post COVID พบว่า ผลการศึกษาโดยแบบจำลอง ในช่วงที่ผ่านมา เป็นการศึกษาซึ่งยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลควรสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวง มีส่วนร่วมในการศึกษา และประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเจรจาจัดทำความตกลงเปิดเสรีทางการค้า ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตด้วย

 

3.6 ประเด็นการค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และประเด็น Free Zone

 

ผลศึกษา CPTPP  ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (4) ผลกระทบเศรษฐกิจ

 

(1) รัฐบาลต้องปรับโครง สร้างอัตราอากรขาเข้าของวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป เพื่อลดต้น ทุนของผู้ประกอบการให้แข่งขันกับสินค้าสำเร็จรูปนำเข้าที่มีอัตราอากรขาเข้าเป็นศูนย์

 

(2) รัฐต้องมีการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้อย่างเร็วรวมถึงจัดทำกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทาง การค้า โดยกองทุนนั้นจะต้องเป็นกองทุนที่มั่นคง ต่อเนื่อง และเข้าถึงได้ง่าย

 

(3) รัฐต้องเร่งการแก้ไขประกาศกระทรวงการคลัง ในเรื่องการยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่ผลิตใน Free Zone เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530

 

(4) หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานสินค้า จะต้องเร่งจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ในส่วนของสินค้าเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องดำเนินการจัดทำมาตรฐานนำเข้าสินค้าเกษตร เพื่อป้องกันสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานแต่ราคาตํ่าเข้ามาจำหน่ายแข่งกับสินค้าในประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องจัดสรรกำลังคนและงบประมาณให้หน่วยงานดังกล่าว เพื่อให้สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมายด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (1)

เปิดผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (2) ข้อเสนอด้านเกษตร

ผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (3) ผลกระทบเศรษฐกิจ

 

 

(5) รัฐจะต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการเร่งให้ความรู้กับผู้ประกอบการที่ผลิตและส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเกณฑ์กฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง CPTPP ได้สูงสุด

 

3.7 ประเด็นการค้าบริการ การลงทุน และการเข้าเมืองชั่วคราวสำหรับนักธุรกิจภาครัฐ ต้องหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินความพร้อม และกลุ่มใด/สาขาบริการใดจะได้รับผลกระทบ เพื่อพิจารณาออกมาตรการของรัฐในการสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวและแข่งขันได้ รวมถึงพิจารณาท่าทีในการเจรจาจัดทำข้อสงวนที่จะไม่เปิดตลาด หรือกำหนดเวลาปรับตัว (transition period) สำหรับกลุ่มที่อ่อนไหวสูงต่อไป

 

3.8 ประเด็นการคุ้มครองสิทธิแรงงาน

 

กระทรวงแรงงานควรพิจารณาแก้ไข พระราชบัญญัติแรงงาน สัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยต้องไม่กีดกันต่างด้าวในการก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงาน (ไม่ต้องกำหนดสัญชาติของผู้ก่อ การจัดตั้งสหภาพ แรงงาน) แต่ให้สามารถกำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสมของผู้ก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ซึ่งไม่ถือเป็นข้อห้ามตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ 

 

3.9 ประเด็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce)

 

(1) ภาครัฐควรให้ความสำคัญ และแสดงข้อเรียกร้องของประเทศไทยในทุกเวทีโดยเฉพาะองค์การการค้าโลก ในเรื่องการกำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเหมาะสมของผู้ประกอบการธุรกิจด้านดิจิทัล หรือ e-commerce ทั้งที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศและในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการละเมิด ลักลอบ หรือนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย

 

 

(2) หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องยกระดับการกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้า และใช้บริการด้านดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพ

 

(3) รัฐบาลจะต้องมีมาตร การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ e-commerce และแพลตฟอร์ม ของประเทศไทย ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้ โดยเฉพาะในเวทีอาเซียน เพื่อเป็นมาตรฐานในภูมิภาค และสามารถพัฒนาศักยภาพต่อไปในตลาดที่ใหญ่ขึ้น

 

(4) รัฐบาลและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน เช่น สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ควรหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดทิศทางในการกำกับดูแลผู้ให้บริการ e-commerce ให้บริการได้อย่างเสรีและเป็นธรรม มิให้ผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่มีอำนาจเหนือตลาดมีพฤติกรรมที่กระทบต่อการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม (อ่านต่อตอนจบฉบับหน้า) 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,630 หน้า 10 วันที่ 26 - 28 พฤศจิกายน 2563