ครม.ผ่านร่างกม.ฉบับใหม่กำหนดพื้นที่เสี่ยง เพื่อออกแบบอาคารรับแผ่นดินไหว

23 พ.ย. 2563 | 11:14 น.

ครม.ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมการออกแบบอาคารเพื่อรับมือแผ่นดินไหวฉบับใหม่

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว  


ซึ่งสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวและกำหนดประเภทอาคารที่การออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารให้มีการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเพิ่มเติม รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวใหม่ให้มีความทันสมัยและมีความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเข้าใช้อาคารมากยิ่งขึ้น


สำหรับการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยได้แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามดังนี้คือ 


“บริเวณที่ 1” หมายความว่า บริเวณหรือพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่า อาคารอาจได้รับผลกระทบทางด้านความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพเมื่อมีแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้แก่ จ.กระบี่, ชุมพร, ตรัง, นครพนม, นครศรีธรรมราช, บึงกาฬ, ประจวบคีรีขันธ์, พิษณุโลก, เพชรบุรี, เลย, สงขลา, สตูล, สุราษฎร์ธานี, และหนองคาย
 

“บริเวณที่ 2” หมายความว่า บริเวณหรือพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบทางด้านความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพในระดับปานกลางเมื่อมีแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้แก่ กรุงเทพมหานคร,กำแพงเพชร, ชัยนาท, นครปฐม, นครสวรรค์, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, พังงา, ภูเก็ต, ระนอง, ราชบุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี และอุทัยธานี


ขณะเดียวกันได้เพิ่มบทนิยาม “บริเวณที่ 3” หมายความว่า  บริเวณพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบทางด้านความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพในระดับสูงเมื่อมีแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ได้แก่ จ.กาญจนบุรี, เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, น่าน, พะเยา, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน, สุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์


 สำหรับการกำหนดพื้นที่ดังกล่าวทั้ง 3 บริเวณ จะมีผลต่อการกำหนดการออกแบบ โดยได้กำหนดให้ผู้ออกแบบคำนึงถึงการจัดรูปแบบเรขาคณิตของโครงสร้างอาคารเพื่อให้มีเสถียรภาพในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวสำหรับอาคารที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่2 ซึ่งเป็นอาคารสูง และบริเวณที่ 3 ให้ผู้ออกแบบคำนึงถึงส่วนประกอบของอาคารด้านสถาปัตยกรรมให้มีความมั่นคง ไม่พังทลาย หรือไม่ร่วงหล่นได้โดยง่าย