เตรียมรับมือฝนตกหนักภาคใต้ 27 พ.ย. - 6 ธ.ค.

23 พ.ย. 2563 | 09:27 น.

กรมชลประทาน เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับมือฝนตกหนักภาคใต้ พร้อมกำหนดพื้นที่เสี่ยง จัดสรรคน เครื่องจักร เตรียมความพร้อม

วันที่ 23พ.ย.63  ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่พื้นที่ภาคใต้ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะเกิดฝนตกหนักในช่วงวันที่ 27 พฤศจิกายน ไปจนถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2563  จึงได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำฝน และน้ำท่าอย่างใกล้ชิด รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับปฏิบัติตามมาตรการเตรียมความพร้อมในการรับมืออุทกภัย 


ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยง ตรวจสอบระบบชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันที ตลอดจนบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางแนวทางรับมือสถานการณ์น้ำหลาก รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้ติดตามและเฝ้าระวังเตรียมรับสถานการณ์น้ำ จากฝนตกหนัก และน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้
 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน

ขณะที่สถานการณ์น้ำปัจจุบัน(23 พ.ย. 63) ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 48,855 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 24,763 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,658 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ  มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,962 ล้าน ลบ.ม. 

 

ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 1,900 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 12 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 333 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 8 ของแผนฯ เนื่องจากในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรที่บางส่วนทำนาปีได้ล่าช้า


โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งกรมชลประทาน จะให้ความช่วยเหลือด้วยการบริหารจัดการน้ำท่าให้เพียงพอจนกว่าเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำ และการขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้หันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง  เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อยไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาปรังได้