ลงทุนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ อย่าดูแค่ดอกเบี้ย

23 พ.ย. 2563 | 09:15 น.

ThaiBMA แนะก่อนลงทุนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ต้องรู้จักบริษัทดี ไม่ใช่แค่ดอกเบี้ย มองตลาดตราสารหนี้เริ่มฟื้น หลังโควิด-19 ในประเทศคลี่คลาย ทั้งปีคาดเอกชนออกหุ้นกู้ 7 แสนล้านบาท

วันนี้ (23 พ.ย.) นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA )กล่าวในหัวข้อ “Battle หุ้นกู้ vs หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ”ในเวทีสัมมนา Wealth Forum;ลงทุนอย่างไรให้รวยซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและฐานเศรษฐกิจ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนละครึ่งเฟส 2 สรุป ต้นธันวาคมนี้

นายกสมาคมบลจ. แนะกระจายพอร์ตลงทุน

ธอส.เตรียมให้ Cash Back สูงสุด 1,000 บาท กับลูกค้าชำระดี เป็นของขวัญปีใหม่

เปิดไทม์ไลน์คนละครึ่งเฟส2-พ่วงขยายเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500

 

นายธาดา ระบุว่า  การจะตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของบริษัทใดนั้น  จะต้องรู้จักบริษัทนั้นเป็นอย่างดีว่า จะสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้หรือไม่  และจะสามารถคืนเงินต้นก่อนกำหนดได้หรือไม่ เพราะหากไม่สามารถคืนเงินต้นได้ใน 5 ปี จะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนพุ่งสูงขึ้น และจะกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท ซึ่งหากอันดับความน่าเชื่อถือลดลง จะทำให้ต้นทุนเงินกู้สูงขึ้น ทำให้ลำบากหากต้องไปกู้เงิน เพื่อนำมาชำระคืนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์

ทั้งนี้ส่วนใหญ่บริษัทที่เลือกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์  เพราะเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่สามารถคืนทุนได้ใน 5 ปี เพราะหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จะแพงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป โดยหุ้นกู้ทั่วไป ดอกเบี้ยจะอยู่ที่  4.23% แต่หากออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ จะต้องให้ดอกเบี้ยถึง 8.5% 

 

“ การที่เราจะลงทุนในหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ นอกจากดอกเบี้ยแล้ว ยังต้องดูถึงสภาพคล่องด้วยว่า หากต้องการเปลี่ยนมือแล้วจะสามารถขายในตลาดรองได้หรือไม่ อย่างไตรมาส3 ปีนี้มียอดซื้อขายหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์อยู่ที่ 10-11 ล้านบาทต่อวันจากยอดคงค้างของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ที่  1 แสนล้านบาท ซึ่งตั้งแต่มีการออกหุ้นกู้ชั้วนิรันดร์ ยังไม่มีบริษัทที่ไม่ชำระดอกเบี้ยและไม่ชำระเงินต้น”

 

สำหรับการออกหุ้นกู้เอกชนปีนี้ คาดว่า การออกหุ้นกู้เอกชนจะอยู่ที่ 700,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 600,000 กว่าล้านบาท แต่ลดลงจากปีก่อนที่เอกชนออกหุ้นกู้ทั้งสิ้น 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ที่เกิดขึ้นในประเทศ และทั่วโลก ส่งผลให้ทางการได้ประกาศล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

นายธาดา กล่าวถึงเงินทุนเคลื่อนย้ายว่า ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา เงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินไหลกลับเข้ามา แต่ไม่ได้ลงทุนในหุ้นกู้เอกชน เป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เท่านั้น และก่อนที่ธปท.จะออกมาตรการดูแลการเก็งกำไรเงินบาทนั้น เงินไหลเข้าประมาณ 5 หมื่นล้าน แต่ช่วงที่จะออกมาตรการ 1-2 วันเงินไหลออก 1 หมื่นล้าน แต่ครึ่งวันแรกหลังเปิดทำการ เงินไหลเข้าแล้ว 300 ล้ารบาท สะท้อนว่า มาตรการธปท.ไม่ได้เป็นที่กังวลมาก

 

ลงทุนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ อย่าดูแค่ดอกเบี้ย