วิธีเลือกประธานาธิบดีของเมียนมา

23 พ.ย. 2563 | 03:00 น.

วิธีเลือกประธานาธิบดีของเมียนมา : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์


          อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมนำเอาคำถามของคุณประเสริฐที่ถามมาเรื่องการนับคะแนนการเลือกตั้ง ที่จะจัดตั้งรัฐบาลของเมียนมามาเล่าสู่กันอ่าน เพื่อให้รู้ว่าแม้เขาจะมีประชาธิปไตย แต่ก็ไม่เต็มใบ เพราะทั้งส.ส.และส.ว. เขาแต่งตั้งมาจากฝ่ายความมั่นคงเสีย 25% แต่เขาก็ยังดีใจที่ได้มีการเลือกตั้ง อีกทั้งยังสามารถที่จะอดทนให้รัฐบาลของเขา ให้บริหารบ้านเมืองอยู่จนครบวาระได้ ไม่เหมือนบางประเทศนะครับ พอเลือกตั้งเสร็จ หากได้รัฐบาลที่ไม่ถูกใจ หรือหากตนเองแพ้ไม่ได้เป็นรัฐบาล เป็นต้องจัดตั้งผู้คนออกมาหาเหตุเดินขบวนทุกที แทนที่จะอดทนรออีกนิด ให้เขาบริหารประเทศไปดูก่อน สมัยหน้าค่อยสู้กันใหม่ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าเขาชอบหรือไม่ชอบ แค่ทนอดอยากปากแห้งสี่ซาห้าปีเองครับ ในขณะที่เมียนมาเขาตั้งตารอกันห้าปี แต่เขายังอดทนรอได้เลยครับ เอ้า....เดี๋ยวหาเรื่องรถทัวร์ลงเสียแล้วผม!!!! ไม่ต้องมานะครับ ผมไม่ว่าง!!!! 

          เรามาดูการเลือกประธานาธิบดีตามที่มีแฟนคลับถามมาดีกว่าครับ ไม่ต้องมีทัวร์ลงดี ที่ประเทศเมียนมาเขามีรัฐสภาทั้งหมดรวม 4 สภาฯ อย่างที่ผมได้บรรยายให้ท่านอ่านเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มาดูรัฐธรรมนูญของประเทศเมียนมามีบัญญัติไว้ข้อหนึ่งว่า “ประธานาธิบดีหรือประมุขแห่งรัฐ จะต้องปราศจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือดำเนินการทางการเมือง และอีกข้อหนึ่งที่สำคัญคือ รัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ ทั้ง 36 กระทรวง จะได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี และจะต้องเป็นผู้ที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองและไม่ดำเนินการทางการเมือง” ดังนั้นเวลาเลือกประธานาธิบดี พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากหรือพรรคที่สามารถเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เขาจะต้องเลือกตัวแทนผู้แข่งขันประธานาธิบดีมาหนึ่งท่าน พรรคที่ได้เสียงข้างน้อยก็จะเลือกมาอีกหนึ่งท่าน และฝ่ายความมั่นคง (ก็ทหารนั่นแหละ) ก็จะเลือกมาหนึ่งท่านเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลักการการเลือกตั้งในเมียนมา

วันสำคัญ "เลือกตั้งใหญ่" ในเมียนมา

เข้าสู่ 60 วันในการหาเสียงเลือกตั้งในเมียนมา

สัญญาณการเลือกตั้งใหญ่ในเมียนมา


          จากนั้นก็จะนำเข้าไปโหวดในรัฐสภา อันประกอบด้วยสภาทั้งหมด แน่นอนว่าพรรคที่ได้เสียงข้างมาก ย่อมมีภาษีดีกว่าพรรคอื่นๆ ก็จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไป ส่วนอีกสองท่านที่แพ้ ก็จะยังสามารถเป็นรองประธานาธิบดีได้ โดยคนที่มีคะแนนอันดับสอง ก็เป็นรองประธานาธิบดีคนที่หนึ่งไป ส่วนอันดับสามก็เป็นรองประธานาธิบดีคนที่สอง เห็นมั้ยละครับว่าเขามีประชาธิปไตยที่งดงามในแบบของเขา ส่วนหากในวาระ มีการเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้ประธานาธิบดีไม่สามารถดำรงค์ตำแหน่งต่อไปได้ เขาก็จะโหวดกันใหม่เลยครับ ไม่ได้ขยับรองคนที่หนึ่งขึ้นไปเป็นประธานาธิบดีเหมือนบางประเทศที่เจริญแล้วหรอกครับ ดังนั้นประธานาธิบดียังไงเสีย ต้องเป็นของพรรคที่มีเสียงข้างมากแน่ๆ 

          ในส่วนของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำรัฐบาล ทุกท่านที่ดำรงค์ตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาทั้ง 4 สภาฯ ถ้าเข้ารับตำแหน่งจะต้องเสียสละลาออกจากตำแหน่งเดิม เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ ให้รับได้แค่ตำแหน่งเดียว ดังนั้นเมื่อตำแหน่งเดิมว่างลง ก็จะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมใหม่ภายในเวลากำหนดต่อไป อีกอย่างที่สวยงามคือ ในส่วนของพรรคการเมืองเขาได้ให้เอกสิทธิ์แก่สมาชิกพรรคที่เป็นผู้แทนฯของเขาค่อนข้างจะเต็มที่เลยครับ คือผู้แทนในรัฐสภาทุกคน มีสิทธิ์และหน้าที่ในการดำรงค์ไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างเต็มเปี่ยม

          ดังนั้นแม้จะเป็นสมาชิกพรรคฝ่ายรัฐบาล ก็ยังสามารถมีสิทธิ์ในการตั้งกระทู้ถามหรือขอยื่นอภิปรายคัดค้านรัฐบาลผ่านทางระบบรัฐสภาได้เต็มที่ ไม่มีใครสามารถห้ามเขาได้ ส่วนการยกมือสนับสนุนหรือคัดค้าน ก็สามารถทำได้อย่างอิสระด้วยเช่นกัน ดีมั้ยละครับ ดังนั้นที่ประเทศเมียนมาจึงไม่มีการเลี้ยงงูเห่าให้รำคาญใจ เพียงแต่อย่าลืมว่าหากคุณเป็นมุ้งเล็กในมุ้งใหญ่ หรือเป็นฝ่ายรัฐบาลแต่ยังค้านรัฐบาลไม่บันยะบันยัง เลือกตั้งคราวหน้า เขาก็ไม่ส่งคุณลงในนามพรรคของเขาอีก ก็แค่นั้นแหละครับ

          รัฐสภามีอายุการดำรงค์ไว้สมัยละ 5 ปี หรือ 60 เดือน การดำรงค์ตำแหน่งของประธานสภาผู้แทนราษฏรและประธานวุฒิสภา มาจากการเลือกตั้งในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 1 ของสมัยประชุมแรก และประธานรัฐสภา จะเป็นการผลัดเปลี่ยนการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฏรกับประธานรัฐสภา ท่านละ 30 เดือน
 

        เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาจึงสามารถที่จะบริหารประเทศได้อย่างอะลุ่มอล่วย และมีเอกสิทธิ์ในสภาฯที่เท่าเทียมกันหมด และไม่ต้องไปแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีกันให้เป็นข่าวใหญ่โต เพราะในเมื่ออำนาจการแต่งตั้งรัฐมนตรีอยู่ในมือของประมุขของประเทศ เขาจะแต่งตั้งใครก็ได้ ที่เป็นคนนอกก็ได้คนในก็ได้ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของเขา ดังนั้นการที่จะใช้ตำแหน่งมาแสวงหาผลประโยชน์ยากมาก

        แล้วถามว่า “มีมั้ยครับ” ก็ต้องตอบตรงๆว่ามี เพียงแต่คุณไม่รู้ว่าสมัยหน้าคุณจะได้รับการแต่งตั้งหรือไม่ ดังนั้นถ้าจะเอาเงินไปซื้อเสียงเพื่อหวังตำแหน่งหรือใช้อิทธิพลไปกว้านเอามนุษย์ที่เขาเรียกว่า “ส.ส.หรือส.ว.” มาไว้เพื่อต่อรองอำนาจ จึงไม่เกิดขึ้น และอาจจะเสียเงินเปล่า เพราะคุณไม่สามารถต่อรองตำแหน่งได้ จึงไม่ต้องวิ่งกันวุ่นวายเหมือนบางประเทศ แหม่.....คุ้นๆ เนาะ!!!!