พาณิชย์เปิดคัมภีร์ติวเข้มเอกชน “รุก-รับ”ค้าสหรัฐฯยุค “ไบเดน”

22 พ.ย. 2563 | 08:24 น.

พาณิชย์ติวเข้มภาคเอกชนไทย รุก-รับค้ากับสหรัฐฯยุคไบเดน ชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน มั่นใจไทยได้มากกว่าเสีย ชี้สินค้ากลุ่มดาวรุ่งจากโควิด ไทยส่งออกไปสหรัฐทดแทนจีนได้เพิ่มขึ้น

โลกและไทยยังลุ้นระทึกกับการก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของนายโจ ไบเดน ว่าที่ผุู้นำคนใหม่ของแดนพญาอินทรีย์ สหรัฐอเมริกาที่จะมีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2564 ซึ่งในส่วนผลกระทบต่อประเทศไทยทางด้านการค้าจากนโยบายของไบเดนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมีทั้งผลบวกและผลลบ โดยผลบวก เช่นสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนน่าจะผ่อนคลายลง แต่ยังคงมาตรการภาษีที่มีอยู่เดิม ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ

 

ส่วนเป้าหมายเรื่องการสกัดกั้นอำนาจจีนเป็นจุดยืนของประธานาธิบดีสหรัฐฯทำให้การลงทุนมีแนวโน้มไหลออกจากจีนและนักลงทุนต่างชาติเลือกกระจายฐานการผลิตออกจากจีนและเข้าไปตั้งฐานผลิตในประเทศอื่นแทน อาทิอาเซียน (เวียดนาม ไทย) สหรัฐฯ ละตินอเมริกา และอินเดีย สร้างโอกาสให้ไทยในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในกลากหลายอุตสาหกรรม เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนต่างชาติ อาทิ อาหาร  ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และการแพทย์

 

อย่างไรก็ดีการย้ายฐานอาจทำให้บทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานจีนลดลง โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีที่ผลิตหรือประกอบในจีน กระทบต่อภาพรวมการค้าของไทยกับจีน รวมถึงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP)ของสหรัฐฯแก่ประเทศกำลังพัฒนาภายใต้โครงการปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขณะนี้สหรัฐฯยังไม่มีความชัดเจนว่าจะต่ออายุโครงการ GSP ไปถึงปี 2565 ที่อยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎหมายที่จะต้องผ่านวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และประธานาธิบดีก่อนบังคับ, ไทยอาจถูกสหรัฐจัดกลุ่มเป็นประเทศที่ต้องติดตามนโยบายค่าเงินอย่างใกล้ชิดด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้มาตรการทางการค้า และที่ต้องติดตามคือการพิจารณากลับเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของสหรัฐฯว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งทุกปัจจัยล้วนมีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งด้านบวกและด้านลบอย่างแน่นอน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิศทางส่งออกไทย ภายใต้ประธานาธิบดีไบเดน 

RCEP เดินหน้าสะเทือนมะกัน บีบ‘ไบเดน’เร่งคานอำนาจจีน

ค้าไทยยุค “ไบเดน” ไม่รื่น บาทจ่อแข็งค่าขึ้นกระทบแข่งขัน

 

พาณิชย์เปิดคัมภีร์ติวเข้มเอกชน “รุก-รับ”ค้าสหรัฐฯยุค “ไบเดน”

                                                 โจ ไบเดน

นางสาวพิมพ์ชนก  วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า  สหรัฐฯเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย(รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น) และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย (รองจากอาเซียน) ในปี 2562  และในปี 2563 การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯขยายตัวท่ามกลางความท้าทาย เช่น สงครามการค้า และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยในเดือนกันยายนล่าสุด การส่งออกไทยไปสหรัฐฯยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 19.7 และรวม 9 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 7.4 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม อาหารทะเลและผลไมกระป๋องและแปรรูป เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน

 

สำหรับสินค้าที่ไทยสามารถผลักดันการส่งออกไปสหรัฐฯมากขึ้นในปีนี้ คือสินค้ากลุ่มดาวรุ่งจากโควิด-19 ได้แก่  อาหารทุกประเภท สินค้าที่เป็นกลุ่ม work from home เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน สินค้าไลฟ์สไตล์ เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์การแพทย์ เช่น ถุงมือยาง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นของบริษัทสหรัฐฯในไทยเองที่ส่งออกไปเพิ่มขึ้นอย่างมาก (ทดแทนการส่งออกจากประเทศจีน)

 

พาณิชย์เปิดคัมภีร์ติวเข้มเอกชน “รุก-รับ”ค้าสหรัฐฯยุค “ไบเดน”

                                 พิมพ์ชนก  วอนขอพร

 

สินค้าที่ไทยควรผลักดันในระยะต่อไป ด้วยพื้นฐานศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน1 ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรและอาหาร (1) ข้าวเจ้าหอมมะลิไทย 100% (2) ทูน่ากระป๋องและแปรรูป (3) อาหารสัตว์เลี้ยง และ (4) สตาร์ชมันสำปะหลัง (แป้งดิบ) หมวดสินค้า อุตสาหกรรม ได้แก่ (1) ผ้าผืนทำจากไหม (2) โครงก่อสร้างทำด้วยเหล็ก (3) ผ้าผืนทำจากฝ้าย (4) เครื่องสุขภัณฑ์(5) คอมพิวเตอร์และ อุปกรณ์ (6) เครื่องอุปกรณ์สำหรับการส่งหรือการรับเสียง-ภาพ และอุปกรณ์สื่อสาร (7) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด

 

ด้านมาตรการส่งเสริมการส่งออกในปีนี้ที่ยังคงติดปัญหาโควิด-19 การทำตลาดและส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross border e-commerce เข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯโดยตรง รวมถึงการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์จะช่วยผลักดันการส่งออกไปสหรัฐฯ ในช่วงนี้ได้ซึ่งสถานการณ์โลจิกติกส์ระหว่างประเทศที่เริ่มดีขึ้นจะทำให้การส่งมอบไม่ล่าช้านัก นอกจากนี้ จะเน้นให้ทำการ promote สินค้าไทยในตลาดเมืองใหญ่และเมืองรองมากขึ้น เพื่อให้ติดตลาด โดยเฉพาะสินค้า อาหารรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งไทยสามารถทดแทนสินค้าจากจีนได้หลายรายการ

 

แนวทางการรับมือความเปลี่ยนแปลงของการเมืองสหรัฐฯ ในระยะยาว

 แนวโน้มนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จะยังคงรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญและสร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ อันจะกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ ใช้กระแสภูมิภาคนิยม (Regionalism) เพื่อสร้างบทบาทการต่อรองมากขึ้นทยสามารถสร้างพลังและอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจจากการผนึกกำลังกับประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสอดคล้องกับทั้ง ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ และความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งทางของจีน (One Belt One Road หรือ Belt and Road) อีกทั้งอาเซียนจะเป็นพันธมิตรที่สหรัฐฯ จะให้ความสำคัญเพื่อคานอำนาจจีน

 

ดังนั้นไทยควรเร่งผลักดันการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน อาเซียนพลัส RCEP และระดับอนุภูมิภาค เช่น CLMVT และ GMS และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อใช้ประโยชน์ จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานและการลงทุน ที่มีแนวโน้มย้ายสู่อาเซียนมากขึ้น

 

 ไทยควรเร่งสร้างบรรยากาศการลงทุนในประเทศ ที่เป็นมิตรกับทุกฝ่าย ลดอุปสรรคทางการค้า และยกระดับความสามารถในการ แข่งขันระยะยาวรวมทั้งเร่งพัฒนาและยกระดับกฎระเบียบภายในประเทศ/มาตรฐานทางการค้าให้ทันสมัย สอดคล้องกับแนวโน้มการทำ ข้อตกลงทางการค้ารูปแบบใหม่ที่ครอบคลุมและมีมาตรฐานสูง เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนพัฒนาและ ยกระดับสินค้าส่งออกไทยให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการโลกยุคใหม่ เพื่อเสริมจุดแข็งและสร้างแต้ม ต่อให้ไทยยังคงมีบทบาทในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานภูมิภาคอาเซียน และห่วงโซ่อุปทานโลก

 

 ในด้านความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไทยยังควรเสริมสร้างความสัมพันธ์ในมิติอื่นๆ ที่หลากหลาย นอกจากการขยายความสัมพันธ์การค้า โดยเฉพาะผ่านอำนาจละมุน (soft power) เช่น ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ความร่วมมือด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม การวิจัยและ พัฒนา โดยเฉพาะในสาขาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาไทย