คลังจ่อออก บอนด์ออมทรัพย์ แสนล้าน ล็อตแรกหลังปีใหม่

20 พ.ย. 2563 | 08:49 น.

ตุนเงินให้พร้อม สบน.เตรียมออกบอนด์ออมทรัพย์ 1 แสนล้านบาทในปีงบ 64 ล็อตแรก 5 หมื่นล้านบาทหลังปีใหม่ ยันดอกเบี้ยสูงกว่าตลาดแน่ หวังนำเงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 นอกจากจะกระทบต่อ รายได้ครัวเรือน ของประชาชนที่ลดลงจากการถูกเลิกจ้างหรือลดเวลาทำงานลงแล้ว รายได้จากดอกเบี้ยของเงินออมยังถูกกระทบตามไปด้วย จากทิศทางดอกเบี้ยที่อยู่ในขาลงและทรงตัวในระดับตํ่า การออก พันธบัตรออมทรัพย์ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนที่มีเงินออมมีรายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งหลังเกิดโควิด-19 รัฐบาลได้เพิ่มวงเงินการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2563 และในปีงบประมาณ 2564 ก็เช่นกัน

 

ทั้งนี้ ภายใต้ แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ในกรอบวงเงิน 2.744 ล้านล้านบาทนั้น เป็นแผนการก่อหนี้ใหม่วงเงิน 1.465 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 6.23 แสนล้านบาท กู้ตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เราไม่ทิ้งกัน 2020 วงเงิน 5.5 แสนล้านบาท กู้เพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง 9.9 หมื่นล้านบาท กู้เพื่อลงทุนในโครงการรัฐบาล 74,170.52 ล้านบาท  โครงการรัฐวิสาหกิจ 59,486.28 ล้านบาท และกู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไปและอื่นๆ 59,781.81 ล้านบาท

 

ล็อตแรก5หมื่นล้าน

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)เปิดเผยว่า สบน.วางแผนจะออกพันธบัตร(บอนด์)ออมทรัพย์ในปีงบประมาณ 2564 ไว้ไม่เกิน 100,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นจะออกในล็อตแรก 50,000 ล้านบาทในช่วงหลังปีใหม่ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ส่วนที่เหลือจะทยอยออกตามความต้องการการใช้เงินในปีหน้า ซึ่งสบน.ยืนยันว่า จะดูให้เหมาะสมระหว่างการก่อหนี้กับความต้องการใช้เงินแน่นอน

คลังจ่อออก บอนด์ออมทรัพย์ แสนล้าน  ล็อตแรกหลังปีใหม่

ทั้งนี้วงเงินการออก บอนด์ ดังกล่าวถือว่าใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2563 ที่ออกมากว่า 100,000 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการใช้เงินมีมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ทื่ไทยต้องการเม็ดเงินในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้กลับมาแข็งแกร่งเช่นเดิม โดยปีที่ผ่านๆ มา ตามปกติ สบน.จะออกบอนด์ออมทรัพย์ปีละประมาณ 50,000 ล้านบาทเท่านั้น

 “อัตราดอกเบี้ยที่จะให้กับผู้ลงทุนจะเป็นเท่าไรนั้น ต้องขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย แต่ที่ผ่านมาบอนด์ออมทรัพย์ เราก็ให้ดอกเบี้ยดีกว่าตลาดอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับความต้องการใช้เงิน และช่วงเวลาการออกบอนด์ด้วยว่า มีความจำเป็นแค่ไหน ก่อนจะพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยได้”นางแพตริเซียกล่าว

 

วงเงินกู้เหลือแสนล.

ส่วนการเตรียมความพร้อม หากต้องกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ตามแนวทางของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น นางแพตริเซียกล่าวว่า ตามกฎหมายหนี้สาธารณะ กำหนดว่า การกู้เพื่อชดเชยขาดดุลและการกู้กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ต้องไม่เกิน 20%ของกรอบงบประมาณในปีนั้นๆ และไม่เกิน 80%ของงบคืนต้นชำระเงินกู้ ซึ่งจากที่คำนวณงบประมาณรายจ่ายและการขาดดุลของปีงบประมาณ 2564 แล้ว ยังมีกรอบที่สามารถกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้อยู่ประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องทำเรื่องกู้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งยังไม่เคยมีการออกมาก่อน

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะต้องกู้เพื่อชดเชยขาดดุล กรณีที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้หรือไม่ เพราะจะต้องรอดูตัวเลขการจัดเก็บรายได้ภาษีของกรมจัดเก็บทั้ง 3 กรม ของปีงบประมาณ 2564 ก่อนว่าเพียงพอหรือไม่ โดยจะเห็นชัดเจนว่า ต้องกู้ในส่วนดังกล่าวหรือไม่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2564

 

สำหรับในปีงบประมาณ 2563 สบน.ได้มีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่น เราไม่ทิ้งกัน วงเงิน 50,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได โดยอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.4% และอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3% อีกทั้งยังมีพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่น วอลเล็ต สบม.ครั้งที่ 1 วงเงิน 200 ล้านบาท อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.7% และครั้งที่ 2 วงเงิน 5,000 ล้านบาท อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ 1.7% ต่อปี รวมไปถึงพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่น ก้าวไปด้วยกัน วงเงิน 45,000 ล้านบาท อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ 2.22% คิดรวมเป็นวงเงินที่ออกพันธบัตรทั้งสิ้น 100,200 ล้านบาท

นอกจากนั้น สบน.ยังได้ออก Sustainability Bond เป็นครั้งแรกของรัฐบาลไทยและยังถือเป็น Sustainability Bond รุ่นแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ออกโดยรัฐบาลด้วย เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและโครงการช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งจากการสำรวจความต้องการลงทุน(Bookbuild)พบว่า นักลงทุนให้ความสนใจอย่างมาก มีการเสนอวงเงินซื้อพันธบัตรเข้ามาทั้งสิ้น 60,911 ล้านบาท สูงถึง 3.05 เท่าของวงเงินที่ประกาศ

 

ส่งผลให้สบน.สามารถออก Sustainability Bond ได้ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ย 1.585% ต่อปี ซึ่งตํ่ากว่าอัตราผลตอบแทนตลาด(Market Yield) ของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 15 ปี ณ ปัจจุบัน โดยมีนักลงทุนครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มบริษัทประกันชีวิต กลุ่มกองทุน กลุ่มสถาบันการเงิน และนักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมลงทุนใน Sustainability Bond ของรัฐบาลไทยในครั้งนี้

 

ทั้งนี้สบน.กำหนดให้ Sustainability Bond รุ่นดังกล่าว เป็นพันธบัตรรัฐบาลรุ่นที่ใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Benchmark Bond) รุ่น 15 ปี โดยจะมีการออก Sustainability Bond อย่างต่อเนื่อง (Reopen) เพื่อให้มีวงเงินคงค้างในระดับที่เพียงพอต่อการสร้างสภาพคล่อง รวมถึงในอนาคตสบน. มีแผนที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการออก Sustainability Bond เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ และมีส่วนร่วมในการผลักดันประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ด้าน (Sustainable Develop ment Goals) ขององค์กรสหประชาชาติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คลัง แจง คนละครึ่ง ช่วยลดเหลื่อมล้ำ

เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อแอบอ้างโอนเงินช่วยเหลือจากรัฐ

คลังลงนามสัญญากู้เงิน ADB 1.5 พันล้านเหรียญ

รมว.คลัง ยัน เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพียงพอต่อการฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,628 วันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563