หยุดความรุนแรง หยุดวีรชนบนหลุมศพ

20 พ.ย. 2563 | 06:40 น.

หยุดความรุนแรง หยุดวีรชนบนหลุมศพ : คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3629 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 22-25 พ.ย.2563 โดย...กระบี่เดียวดาย

ผ่านพ้นไปสำหรับการอภิปรายของรัฐสภาและลงมติตามญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรัฐสภาโหวตรับร่างของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และตั้งกรรมาธิการ 45 คนเพื่อแปรญัติวาระ 2 ระยะเวลา 15 วัน กรอบเวลาพิจารณา 45 วัน ก่อนเข้าสู่วาระ 3 หลังจากนั้นจะนำไปสู่การทำ “ประชามติ” ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าผ่านประชามติจะต้องมีการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ และเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่

           

อย่างไรก็ดีระหว่างการอภิปรายและลงมติในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีการชุมนุมกดดันของกลุ่มมวลชน “คณะราษฎร” และกลุ่ม “มวลชนเสื้อเหลือง” บริเวณถนนเกียกกายใกล้รัฐสภา ต่อเนื่องมาชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์และหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติปทุมวันในช่วงค่ำวันที่ 18 พ.ย.

           

ตั้งแต่การชุมนุมที่เกียกกายของวันที่ 17 พ.ย. มีความรุนแรงเกิดขึ้น มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก จากการปะทะกันของมวลชนทั้ง 2 กลุ่ม รวมทั้งการฉีดน้ำ การใช้แก๊สน้ำตาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อสกัดกั้นมวลชนที่จะพยายามบุกเข้าไปที่รัฐสภา

           

“ไม่เฉพาะการทุบตีกัน การขว้างปาวัตถุสิ่งของใส่กันและกัน แต่มีการใช้อาวุธปืนยิงกัน เป็นสถานการณ์ที่เกิดความรุนแรงมากขึ้น แน่นอนในอนาคตไม่มีหลักประกันว่า จะไม่เกิดการสูญเสียล้มตายอีก หากสถานการณ์ยังคงอยู่ในลักษณะนี้”

             

ภาพของการชุมนุมวันถัดมา บริเวณหน้า สตช. ก็มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกขณะทั้งคำปราศรัยด้วยถ้อยคำหยาบคาย การทำลายทรัพย์สินของทางราชการ นำสีไปละเลงพ่นทับหน้า สตช. รวมทั้งยานพาหนะของตำรวจ

           

ไม่ต้องการความรุนแรง ไม่ใช่โลกสวย หรือใครว่าจะโลกสวยก็ไม่แปลก แต่สถานการณ์น่าเป็นห่วง!! แกนนำผู้ชุมนุมก็ประกาศก้องจะยกระดับการชุมนุมขึ้นเรื่อยๆ

           

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มคณะบุคคลที่ชื่อว่าก้าวหน้า ออกมาแถลงใจความว่า การชุมนุมเพื่อรณรงค์ให้สมาชิกรัฐสภารับร่างกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งเป็นเรื่องปกติสามัญในระบอบประชาธิปไตย

ไม่มีเหตุผลใดเลยที่ต้องใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม

         

ไม่มีเหตุผลใดเลยที่ปล่อยให้ผู้ชุมนุมปะทะกัน

         

ทั้งๆ ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงมากมายประจำการอยู่บริเวณนั้น

         

ธนาธร บอกว่าเหตุผลเดียวที่พอจะนึกออกก็คือ เผด็จการต้องการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง สร้างสถานการณ์ให้เห็นว่าประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อด้วยวิถีทางปกติได้ จุดจบปลายทางคือสร้างสถานการณ์ เพื่อ “ผลิต” เหตุผลรองรับการแทรกแซงการเมืองด้วยวิธีการที่ไม่ปกติ และไม่เป็นประชาธิปไตย

 

การปะทะกันระหว่าง “กลุ่มราษฎร” และ “มวลชนเสื้อเหลือง” เมื่อวานถือว่าเป็นการปะทะกันอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก เป็นการยกระดับความขัดแย้งซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ไปสู่การเผชิญหญ้าและความรุนแรง เช่น ทำร้ายผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือฝั่งตรงกันข้าม ขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

 

เป็นการสร้าง “วิกฤติ” ทำให้ผู้คนเห็นว่ากระบวนการตามรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อเปิดช่องหรือเรียกร้องการแทรกแซงทางการเมืองของอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

 

ธนาธร ฟันธงรัฐสร้างสถานการณ์ให้มวลชน 2 ฝ่ายปะทะมีความรุนแรงนำไปสู่การใช้อำนาจพิเศษเข้าควบคุม

 

รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ตามมาถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ความว่า "จากสถานการณ์การชุมนุมในห้วงที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลและทุกฝ่ายกําลังร่วมกันหาทางออกโดยสงบและสันติ บนพื้นฐานของกระบวนการตามกฎหมาย และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

           

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีท่าทีที่จะบรรเทาลง แม้รัฐบาลได้แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา โดยหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ใช้ความพยายามปฏิบัติหน้าที่ ในการรักษาความ สงบเรียบร้อย รวมทั้งติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดําเนินการต่างๆ ตามหลักสากล ด้วยความระมัดระวัง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาบรรยากาศของความรักความสามัคคี ปรองดองของทุกคนในชาติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบ้านเมือง และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นสําคัญ

           

ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีนัก และมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง นําไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งรวมทั้งความสงบสุขปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของ ประชาชนโดยทั่วไป รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจําเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดําเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทําความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดําเนินคดีต่างๆ ให้ เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ที่สอดคล้องกับหลักการสากล

         

รัฐบาลเองก็เห็นว่ามีแนวโน้มขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นและย้ำในเรื่องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ชุมนุม

         

ผู้ชุมนุมก็เตรียมเคลื่อนไหวและยกระดับการชุมนุมมากขึ้น ก็มีแนมโน้มพัดพาสถานการณ์ให้รุนแรงยิ่งขึ้น

           

กลายเป็นว่าทุกฝ่ายกำลังพร้อมห้ำหั่น ประหัตประหารกัน

 

อันที่จริงยังพอมีเวลาที่ทุกฝ่าย กลับไปทบทวนท่าทีและบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ไม่ก้าวล้ำ ยั่วยุให้สถานการณ์ หรือพยายามสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง ซึ่งนำไปสู่ความสูญเสีย กระทบสิทธิ เสียงของผู้ที่ไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และกลุ่มคนเหล่านั้นประสบความเดือดร้อน และต้องรับชะตากรรมที่ไม่พึงประสงค์ จากการเคลื่อนไหวของมวลชนแต่ละฝ่ายและการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

         

แต่ละฝ่ายทำได้ โดยไม่ริเริ่มใช้ความรุนแรงก่อน บทเรียนในอดีตมีให้เห็นมานักต่อนัก ความรุนแรงนำไปสู่ความสูญเสีย

         

สูญเสียหัวหน้าครอบครัว สูญเสียพี่ สูญเสียน้อง สูญเสียญาติ และโดยเฉพาะถ้าคนที่สูญเสียเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวก็จะยิ่งสูญเสียทับทวี

 

ไม่มีประโยชน์ที่จะมีชัยชนะบนซากปรักหักพัง

 

ไม่มีประโยชน์ที่จะเป็นวีรชนบนหลุมฝังศพ!!