ต้นทุนพุ่งฉุดกำไรประกันลดฮวบ 20%

22 พ.ย. 2563 | 06:00 น.

16บริษัทประกันภัย ประกาศกำไรไตรมาส 3/63 รวม 3,142.42 ล้านบาท ลดลง 232.04 ล้านบาทหรือ 6.87% รวม 9 เดือนลดลง 2,071.92 ล้านบาท หรือ 19.73%  เหตุต้นทุนค่าใช้จ่ายขยับขึ้น ฉุดกำไรสุทธิลดลง

กลุ่มธุรกิจประกันภัยและธุรกิจประกันชีวิต 16 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงาน ผลประกอบการ งวดไตรมาส 3 ประจำปี 2563 พบว่า มีกำไรสุทธิรวม 3,142.42 ล้านบาท ลดลง 232.04 ล้านบาทหรือคิดเป็น 6.87% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 3,374.46 ล้านบาท และงวด 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 8,427.08 ล้านบาทลดลง 2,071.92 ล้านบาทหรือ 19.73% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 10,499 ล้านบาท

 

สาเหตุที่กำไรสุทธิลดลง มาจากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าส่วนใหญ่ จะมีเบี้ยรับประกันภัยที่เป็นรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น แต่ค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายในการจัดการสินไหมเพิ่มขึ้น จึงฉุดกำไรลดลงทั้งไตรมาส 3 และงวด 9 เดือน

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาบริษัทประกันภัยและบริษัทประกันชีวิต โดยเฉพาะ 8 บริษัทแถวหน้าพบว่า ยังคงความสามารถในการทำกำไรสุทธิทั้งไตรมาส 3 และงวด 9 ดือน แม้จะมีบางบริษัทกำไรปรับลดลงก็ตาม เห็นได้จาก บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา แคปปิตอล (AYUD) กำไรสุทธิงวดไตรมาส 3 และ 9 เดือนเพิ่ม 337% และ 15.20% ตามลำลำดับ, บมจ.ทีคิวเอ็ม(TQM) กำไรสุทธิเพิ่ม 33.32% และ 43.67% ตามลำดับ, บมจ.กรุงเทพธุรกิจประกันภัย(BKI) กำไรสุทธิเพิ่ม 27.71% และ 26.31% บมจ.ทิพยประกันภัย (TIP) กำไรสุทธิเพิ่ม 21.17% และ 13.91% ตามลำดับ 

 

สำหรับบมจ. เมืองไทยประกันภัย (MTI) กำไรสุทธิลดลง 11.75% แต่งวด 9 เดือน กำไรสุทธิเพิ่ม 73.47% ถัดมาคือ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย (SMK) กำไรสุทธิไตรมาส 3 ลดลง 5.32% แต่งวด 9 เดือน กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 20.44%, บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ (SEG) กำไรสุทธิปรับลด 72.27% และ 52.58% ตามลำดับ ตามด้วย บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต(BLA) ที่กำไรสุทธิลดลง 62.35% และ 61.29% ตามลำดับ

ต้นทุนพุ่งฉุดกำไรประกันลดฮวบ 20%

 

สำหรับ AYUD งวด 9 เดือน มีรายได้รวม 4,315 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 3,257 ล้านบาท โดยมาจากเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ 3,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.60% จาก 2,424 ล้านบาท เบี้ยรับประกันภัยที่ถือเป็นรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยต่อ เพิ่มขึ้น 32.34% เป็น 3,162 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2,389 ล้านบาท รายได้ค่าจ้างและค่าบำเหน็จ ลดลง 36.28% เนื่องจากบริษัทเลิกทำรายการประกันภัยต่อในส่วนงานประกันภัยรถยนต์ รายได้จากการลงทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 6.54% ผลขาดทุนจากเงินลงทุน 116.38 ล้านบาท 

 

สาเหตุจากการขายเงินลงทุนในไตรมาส1 จากการปรับโครงสร้างพอร์ตการลงทุน และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่กำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น 122.66%จากการถือหุ้นในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 31.97% และรายได้อื่นๆ 49 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 163.57% จาก 18 ล้านบาท ด้านค่าใช้จ่ายเพิ่ม 34.19% มาจากค่าสินไหมทดแทนสุทธิ 1,929 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.06% จากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยอัตราค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นจาก 51% เป็น 61% 

 

บมจ. กรุงเทพประกันภัย(BKI) โดยในไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 24.71% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน BKI มีเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ 3,403 ล้านบาท ลดลง 8.69%จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 3,727 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยที่เป็นรายได้สุทธิ 3,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,382 ล้านบาท รายได้ค่าจ้างและค่าบำเหน็จเพิ่มขึ้น 13.98% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 329 ล้านบาท เป็น 375 ล้านบาท รวมรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,244 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 4,196 ล้านบาท

 

ส่วนงวด 9 เดือน BKI มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 26.31% โดยเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ 11,075 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.46%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 10,602 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้ 11,080 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 15.51% จาก 9,592 ล้านบาท ทั้งนี้รวมรายได้ 13,553 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 11,912 ล้านบาทและค่าใช้จ่ายรวม 10,778 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 9,841 ล้านบาทช่วงเดียวกันปีก่อน 

บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ (SEG) งวด 3 เดือนมีรายได้จากธุรกิจหลัก 5,484 ล้านบาทลดลง 231 ล้านบาทหรือ 4.05%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 5,715 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของรายรับรวมของธุรกิจประกันชีวิตซึ่งเบี้ยประกันชีวิตที่ถือเป็นรายได้ลดลง 184 ล้านบาทจากการลดลงของเบี้ยประกันปีแรกเบี้ยประกันปีจอและเบี้ยประกันชีวิตรับประเภทชำระครั้งเดียวผ่านช่องทางธนาคาร ส่วนค่าใช้จ่ายลดลง 217 ล้านบาทจากการลดลงของผลประโยชน์จ่ายตามกรมธรรม์และค่าสินไหมทดแทนสุทธิ 245 ล้านบาทจากธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันภัย 

 

ขณะที่งวด 9 เดือนรายได้จากธุรกิจหลัก ลดลง 1,168 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของเบี้ยประกันชีวิตที่ถือเป็นรายได้ 876 ล้านบาทจากเบี้ยประกันรับปีแรกเบี้ยประกันรับปีต่อและเบี้ยประกันชีวิตรับประเภทชำระเบี้ยครั้งเดียวผ่านช่องทางธนาคารและจากการลดลงของเบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้สุทธิ 798 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการรับประกันภัยรถยนต์ แต่ในส่วนธุรกิจลิสซิ่งมีการเพิ่มขึ้นของรายได้จากสัญญาเช่าดำเนินงาน 243 ล้านบาท 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธ.ก.ส.โอนเงินประกันรายได้เกษตรกรกว่าแสนราย

ธ.ก.ส.เริ่มจ่ายเงินประกันข้าวโพดแล้ววันนี้ 637.90 ล้านบาท

สวนวิกฤติเศรษฐกิจ ประกันภัย "เงินติดล้อ" โต43%

PwC แนะอัพสกิลดิจิทัลพนักงานแบงก์-ประกันภัย

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,629 วันที่ 22 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563