ผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (3) ผลกระทบเศรษฐกิจ

21 พ.ย. 2563 | 10:05 น.

 

 

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปผลการศึกษาเรื่องดังกล่าว และเห็นว่าไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม โดยเรื่องผลกระทบด้านเศรษฐกิจ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ดังนี้ (ต่อจากตอนที่ 2)

2.3 รัฐบาลควรเสนอร่างข้อบังคับหรือกฎหมายที่จะต้องตราขึ้นใหม่ เพื่อทำให้เกิดสภาพบังคับภายในราชอาณาจักร ก่อนที่จะเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนโดยทั่วไปได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่จะได้แสดงความคิดเห็นและเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ดังนี้

(1) กฎหมายภายในประเทศ เพื่อกำหนดให้ผู้ที่ต้องการขอขึ้นทะเบียนยาที่มีส่วนประกอบของจุลชีพ หรือจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับจุลชีพ ต้องสำแดงแหล่งที่มาร่วมด้วยให้เร็วที่สุดเพื่อคุ้มครองจุลชีพจากแหล่งต้นกำเนิดภายในประเทศ

(2) การกำหนดมาตรฐานในเรื่องอาหารของความตกลง CPTPP โดยอ้างอิงหลักการของ CODEX guideline โดยภาครัฐควรแถลงให้ชัดเจนในประเด็นนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ภาคประชาชน

2.4 รัฐบาลควรที่จะจัดเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางลบจากการเข้าร่วมความตกลงนี้ไว้ล่วงหน้าด้วย

2.5 ในกรณีที่รัฐบาลได้เตรียมพร้อมตามข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.4 เรียบร้อยแล้ว และต้องการเจรจาเพื่อเข้าร่วมความตกลง CPTPP ในการเจรจาต้องกำหนดประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการแพทย์และการสาธารณสุข ดังนี้

(1) ทำข้อสงวนของประเทศไทยประเด็นจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยยึดต้นแบบจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งสามารถขอยกเว้นตลาดได้ ร้อยละ 50 ในระยะเวลา 20 ปี

(2) ขอตั้งข้อสงวนสำหรับมาตรการควบคุมยาสูบของประเทศไทย

(3) ขอตั้งข้อสงวนมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย

(4) ขอจัดทำ side letter เพื่อยกเว้นสิทธิกำกับดูแลของรัฐ (rights to regulate) สำหรับมาตรการด้านการสาธารณสุข ออกจากการฟ้องร้องรัฐด้วยกลไก ISDS

 

 

 

 

(5) ขอตั้งข้อสงวนตามข้อกังวลในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการให้บริการทางวิชาชีพจากทุกสภาวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในข้อบทของบทที่ 9 และบทที่ 10 ทั้งนี้ หากข้อกังวลใดมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว ณ ปัจจุบัน สามารถระบุไว้เป็นข้อสงวนใน Annex I หากแต่ข้อกังวลใดยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจน อาจระบุไว้เป็นข้อสงวนใน Annex II หรืออาจออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อรองรับและคลายข้อกังวลเหล่านั้น เสียก่อน แล้วนำไประบุเป็นข้อสงวนไว้ใน Annex I แทน

(6) กระทรวงพาณิชย์นำข้อเสนอการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ(Medical Hub) ของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อพิจารณาแนวทางเพิ่มเติม

 

ผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (3) ผลกระทบเศรษฐกิจ

 

 

3. ประเด็นผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน

คณะกรรมาธิการมีความเห็นว่า การจะตัดสินใจเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศ โดยเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในหลายด้าน ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องมีนโยบาย มีโครงการที่ชัดเจนและจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อเตรียมความพร้อมและปรับโครงสร้างภายในประเทศ 

คณะกรรมาธิการมีข้อสังเกต ดังนี้

3.1 รัฐบาลจะต้องผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างภายในประเทศ ด้านกฎระเบียบ กลไกการดำเนินงาน รวมถึงงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อสร้างความพร้อมในการแข่งขันและการเปิดเสรีทาง การค้า อาทิ การปรับโครงสร้างอากรขาเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปให้เป็นร้อยละศูนย์ เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการในประเทศสามารถแข่งขันกับสินค้าสำเร็จรูปที่นำเข้าได้ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (1)

เปิดผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (2) ข้อเสนอด้านเกษตร

 

 

และการปรับโครงสร้างภาษีสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ควรมีความเท่าเทียมและเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ ทั้งที่ตั้งกิจการอยู่ในต่างประเทศและในประเทศไทย โดยให้มีการเก็บภาษีดิจิทัล (Digital Tax) ขั้นตํ่าที่ร้อยละ 2 กับผู้ประกอบการที่อยู่นอกประเทศ และเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย ร้อยละ 2 กับผู้ประกอบการในไทย

3.2 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเพิ่มการกำกับดูแลมาตรฐานและคุณภาพสินค้านำเข้าทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ภายใต้กติกาขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) โดยเร่งกำหนดมาตรฐานภาคบังคับในระดับที่ผู้ประกอบการไทยสามารถทำได้ให้ครอบคลุมสินค้าอย่างน้อยร้อยละ 50 ของสินค้าที่ทำการค้าระหว่างกันภายใน 3 ปี และรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณและบุคลากรให้อย่างเพียงพอด้วย (อ่านต่อฉบับหน้า) 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,629 หน้า 10 วันที่ 22 - 25 พฤศจิกายน 2563