‘นภา’ ยืนราคา 9.3 พันล้าน  รฟท.รื้อปมข้อเสนอ‘รถไฟไทย-จีน’สัญญา3-1

19 พ.ย. 2563 | 00:26 น.

    รฟท. เดินหน้ารื้อปมพิจารณาข้อเสนอราคาตาม พรบ.จัดซื้อจัดจ้างไฮสปีดไทย-จีนสัญญา 3-1 เตรียมชงบอร์ดรฟท.ไฟเขียวหลังบอร์ดอุทธรณ์  ชี้ขาดบีพีเอ็นพี มีคุณสมบัติพร้อมประมูล ด้านอิตาเลียนซัดขัดระเบียบกรมบัญชีกลางเหตุไม่มีข้อตกลงระหว่างนิติบุคคล

 

การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เดินหน้าพิจารณาข้อเสนอราคาตามพระราชบัญญัติ(พรบ.) จัดซื้อและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 อีกครั้งหลัง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ยืนยันบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด หรือกลุ่มบริษัท นภาก่อสร้างและพันธมิตรจากประเทศ มาเลเซีย ว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนพร้อมประมูล สัญญา 3-1 แก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะทาง 30 กิโลเมตร โดยเสนอราคาต่ำสุด 9,330 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง  2,057 ล้านบาท จากมูลค่า 11,387 ล้านบาทซึ่งล่าสุด ได้รับการยืนยันจากบริษัทนภาก่อสร้างจำกัดว่าได้ยืนยันราคาประมูลดังกล่าวกับรฟท.แล้ว

 

 อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวรฟท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีรฟท.ประกาศให้กลุ่มบริษัทอิตาเลี่ยน ดิเวลล๊อปเม้นท์ ITD ที่จับมือพันธมิตรจีน ชนะประมูลสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในสัญญาที่ 3-1 ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ใช่ราคาที่ต่ำสุดในการประกวดทางอิเลคทรอนิกส์ แต่กลุ่มที่เสนอราคาต่ำสุด คือกลุ่มบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด และพันธมิตรจากประเทศมาเลเซียนั้น ว่า สำหรับกระบวนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างงานสัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา)
    

‘นภา’ ยืนราคา 9.3 พันล้าน  รฟท.รื้อปมข้อเสนอ‘รถไฟไทย-จีน’สัญญา3-1

 

ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทนภาก่อสร้าง และพันธมิตรจากประเทศมาเลเซีย ได้ยื่นซองประกวดราคาในนามบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ได้เสนอราคาที่ต่ำสุดจริง แต่ในการยื่นเอกสารเพื่อพิจารณานั้นมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวนประกวดราคา โดยผู้เข้าร่วมเป็นกิจการร่วมค้าจะต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคลทั้งหมด ซึ่งหลังจากที่มีการตรวจเอกสาร พบว่า บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด มีนายชาตรี เขมาวชิรา เป็นบุคคลธรรมดา และรวมตัวเข้าก่อตั้งบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด จึงมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขเอกสารการประกวดราคาอิเล็คทรอนิกส์ตามที่ได้มีการกำหนดไว้ตั้งแต่ต้น
    รายงานจาก รฟท.ยังระบุต่อว่า ขณะเดียวกัน ทางบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ได้ทำการยื่นอุทธรณ์ต่อรฟท. ว่าบริษัทฯมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งทางรฟท.ได้พิจารณาแล้วและเห็นควรยึดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวนฯ จึงได้ส่งราย งานความเห็นพร้อมเหตุผลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 118    
    “หลังจากพิจารณาแล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าข้อกล่าวอ้างของบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น รฟท.จึงดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยในขณะนี้รฟท.อยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอราคาตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ต่อไป” 
     “ฐานเศรษฐกิจ” สอบถามไปยัง บริษัท นภาก่อสร้างจำกัดซึ่งได้รับคำตอบว่า ได้รับความเป็นธรรมจากคณะกรรมการอุทธรณ์กรมบัญชีกลาง แจ้งคำสั่งมายังรฟท.และเตรียมเสนอเข้าสู่บอร์ดรฟท.อีกครั้งขณะเดียวกัน ได้ยืนราคา 9,330 ล้านบาท ที่เสนอราคาต่ำสุด เรียบร้อยแล้ว

 

 ขณะบริษัทอิตาเลียน ดิเวลล๊อปเม้นท์ (ITD)  มีหนังสือ ชี้แจง ว่า  บริษัทฯเป็นผู้ชนะการประมูลตามหนังสือประกาศ
ผู้ชนะเสนอประกวดการจ้างก่อสร้างโครงการฯเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา

 

 

    ทั้งนี้จากการพิจารณาเหตุผลพร้อมทั้งเอกสารตามคำวินิฉัยอุทธรณ์ของรฟท.ถึงรายงานการอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง ปรากฏว่าเหตุผลในการพิจารณาอนุญาตให้บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด  มีคุณสมบัติเป็นกิจการร่วมค้าได้ ทั้งๆที่ไม่มีข้อตกลงระหว่างนิติบุคคลผู้เข้าร่วมว่าจะรับผิดชอบเป็นจำนวนเท่าใด ใครรับผิดชอบส่วนไหน ซึ่งขัดกับข้อกำหนดในระเบียบของกรมบัญชีกลางอย่างสิ้นเชิง 

หน้า 19-20  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,628 วันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563