กนง.พร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติม คุมบาท -เหตุแข็งค่าเร็วกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

18 พ.ย. 2563 | 21:00 น.

กนง.ขึงขังพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมดูแลค่าเงินบาท -เผยบอร์ดหารือ 3ประเด็นหลัก  “ดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์แต่สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีหดตัว เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้น-ห่วงเงินบาทแข็งค่าเร็วฉุดการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง-อัตราคนว่างงานเพิ่ม”กดการบริโภคและความสามารถในการชำระหนี้

 

ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50%ต่อปี(18พ.ย.63)  สาเหตุจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับรายได้ของแรงงานอยู่ในระดับต่ำซึ่งจะกดดันการบริโภคเอกชน และความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเร็วขึ้น ภายหลังผลการเลือกตั้งในสหรัฐและข่าวความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน ซึ่งคณะกรรมการเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์แข็งค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดรวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
 

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า  ในการประชุมของคณะกรรมการกนง.ได้มีการหารือมากขึ้นใน 3ประเด็น   ได้แก่  1.เรื่องอัตราดอยเบี้ยในตลาดการเงินโดยรวมทุกประเภทต่ำเป็นประวัติการณ์  แต่สภาพคล่องยังกระจายตัวไม่ทั่วถึงเนื่องจาก Credit Risk ที่สูงขึ้น  เห็นได้จากภาพรวมสินเชื่อธุรกิจในเดือนกันยายนขยายตัวที่ 4.5% แต่เมื่อดูไส้ในของพอร์ตสินเชื่อและขนาดวงเงินสินเชื่อธุรกิจ  เช่น วงเงินสินเชื่อเกิน  500ล้านบาทต่อสถาบันการเงินเร่งตัวขึ้นเมื่อไตรมาสสองและชะลอตัวลงบ้างในปัจจุบัน    ส่วนวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500ล้านบาทหรือสินเชื่อเอสเอ็มอีนั้น ขยายตัวติดลบ 3% ซึ่งหากไม่มีแพกเกจสินเชื่ออาจจะติดลบมากถึง 6%  และสินเชื่ออุปโภคบริโภค  ขยาย 4.8% ซึ่งสะท้อนว่าแม้สภาพคล่องในระบบการเงินจะอยู่ในระดับสูงแต่การกระจายตัวสินเชื่อไม่ทั่วถึง  ส่วนหนี่งมาจากความเสี่ยง(Credit Risk)
 

กนง.พร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติม คุมบาท -เหตุแข็งค่าเร็วกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

2.การแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งคณะกรรมการกนง.มีความเห็นว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยให้พิจารณามาตรการเพิ่มเติมตามความจำเป็น นอกเหนือจากการที่ธปท.ได้ดูแลค่าเงินในช่วงที่ผ่านมา  โดยจะเห็นได้จากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในส่วนของเงินลงทุนในตราสารหนี้ติดลบ  สะท้อนเงินทุนไหลออกในช่วงนั้น  แต่หลังจากผลการเลือกตั้งของสหรัฐและข่าวความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน ทำให้ตลาดการเงินโลกเริ่มเปลี่ยน โดยมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งเมืองไทยด้วย  ดังนั้นในเดือนที่ผ่านมาจึงเห็นเงินทุนไหลเข้ามากขึ้นทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้
 

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน  การเคลื่อนไหวของเงินบาทสอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินในภูมิภาค และประเทศกำลังพัฒนา   อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุมกนง. ครั้งที่แล้ว(23กันยายน 2563) จะเห็นได้ว่าสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง(USD Indexติดลบ 2.1%) เทียบกับค่าเงินของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศพัฒนาแล้ว ค่าเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์ทุกประเทศแข็งค่ามากขึ้น  โดยตั้งแต่ต้นปีจะเห็นเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่า 0.6%
 

กนง.พร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติม คุมบาท -เหตุแข็งค่าเร็วกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

“จริงๆแล้วการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินอาจจะต้องดูภาพรวมๆกันระยะยาว  ในช่วงที่ผ่านมาจากการประชุมคณะกรรมการกนง.ครั้งที่แล้ว ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอาจจะแข็งค่าขึ้นเร็ว 4.3%เช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค แต่หากเทียบตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันเงินบาทยังอ่อนค่า 0.6% เพราะฉะนั้นนอกจากการดูแลค่าเงินบาทแล้วคงจะมีการทบทวนพิจารณาความจำเป็นในการบริหารเพิ่มขึ้นโดยเราจะให้ความสำคัญทั้งการเข้าไปดูแลระยะสั้นและระยะยาว  ซึ่งในวันศุกร์(ที่20พ.ย.)จะสรุปสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมและมาตรการที่จะมีในช่วงต่อไป”
 

นายทิตนันท์ยังมี ข้อสังเกตจากข่าวของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ว่า  กระแสข่าวการพัฒนาวัคซีนได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโดยเฉพาะค่าเงิน  แต่ผลดีของวัคซีนยังคงต้องใช้เวลากว่าจะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริง ทำให้คนเดินทางได้  ท่องเที่ยวได้  เพราะการค้นพบวัคซีน  หรือการพัฒนาวัคซีนยังมีอีกหลายขั้นตอน  ไม่ว่าขั้นตอนการรับรองจากทางการอนุญาตให้นำออกมาใช้ หรือการกระจายไปในแต่ละประเทศเพื่อให้เกิดผลในทางปฎิบัติจริง  ซึ่งในประเด็นดังกล่าวทางคณะกรรมการกนง.ได้ให้เป็นการบ้านไปศึกษาเพื่อจะประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจ 
 

กนง.พร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติม คุมบาท -เหตุแข็งค่าเร็วกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

3.ตลาดแรงงาน ซึ่งคณะกรรมการกนง.ให้ความสำคัญแล้วติดตามและหารือมาหลายครั้งที่ผ่านมา  โดยพบว่า  ผู้เสมือนว่างงาน หรือคนทำงานไม่กี่ชั่วโมงทั้งในและนอกภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น เหลือเพียง 2.5ล้านคน (เดือนต.ค.) สำหรับอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.1% แต่การเพิ่มขึ้นของอัตราว่างงาน 0.8ล้านคน  ส่วนหนึ่งมาจากแรงงานที่ออกนอกระบบแรงงานแล้วกลับเข้ามาทำงาน หรือการกลับเข้ามาหางานเพิ่ม ซึ่งภาพรวมตลาดแรงงานแม้จะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังมีความเปราะบางในช่วงต่อไปซึ่งอาจจะมีปัจจัยเรื่องภัยแล้งในปีหน้าหรือสถานการณ์ธุรกิจ ขณะที่ตลาดแรงงานนั้น รายได้ของครัวเรือนที่เป็นลูกจ้างลดลง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ ลูกจ้างอิสระในภาคบริการที่รายได้ลดลงมาก โดยตลาดแรงงานเป็นรายได้ของครัวเรือน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดการบริโภคในช่วงต่อไปและจะเชื่อมโยงกับความสามารถในการชำระหนี้ด้วย