ข้อตกลงการค้าเสรี จะเอาหรือไม่เอา ก็ให้ชัด ๆ

18 พ.ย. 2563 | 02:05 น.

ตอนนี้เรื่องว่าด้วย CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก กลับมาฮิตฮอตอีกครั้งเมื่อสหรัฐอเมริกาจะเปลี่ยนประธานาธิบดีใหม่ ซึ่งจะว่าไปแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะความตกลงนี้ เริ่มก่อตั้งตั้งแต่ปี 2549 มีสมาชิกเริ่มต้น 12 ประเทศ

โดยมีสหรัฐอเมริกาในยุคของประธานาธิบดีโอบามา รับเป็นโต้โผใหญ่ ตั้งความตกลง TPP (Trans-Pacific Partnership) เพื่อใช้กลุ่มนี้เป็นตัวเร่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจของสมาชิก APEC เพราะคุยกันในวงใหญ่ของ APEC คุยกันยาก เนื่องจากสมาชิกแตกต่างกันมาก สหรัฐอเมริกาจึงตั้งวงเล็กของประเทศที่อยู่รอบชายขอบทวีปอเมริกาและเอเซีย และแน่นอนว่าไม่รวมประเทศจีน และตลอดเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยเข้าไปร่วมเสวนา หารือจัดตั้งกับเขาด้วย ไป ๆ มา ๆ ก็มีแต่เลียบ ๆ มอง ๆ ศึกษากันหลายเล่มก็แล้วก็ยังตัดสินใจไม่ได้ สักทีว่าจะเอาอย่างไร

จนกระทั่งเพื่อนสมาชิกที่รัก ๆ กันและรับปากเขาไว้แล้วเริ่มงอน จนในปี 2560 ประธานาธิบดีทรัมป์นำสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจาก TPP ทำให้ญี่ปุ่นนำตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่มและเปลี่ยนชื่อเป็น CPTPP ตั้งแต่นั้นมา และไทยก็ยังกล้า ๆ กลัว ๆ เช่นเดิมจนถึงวันนี้ และวันนี้ยิ่งตื่นเต้นเข้าไปอีกว่า พอเปลี่ยนประธานาธิบดีแล้ว สหรัฐอเมริกาจะเอาอย่างไรกับ CPTPP ที่ตนเองตั้งมา และหากสหรัฐฯ เข้ามาไทยจะทำไง

สหรัฐจะกลับมาหรือไม่

              พอนายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้หลายคนเริ่มคิดว่าสหรัฐฯ จะกลับเข้ามาใน CPTPP หรือไม่ หากมองตามนิสัยของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะยุคสมัยใคร ผู้นำสหรัฐฯ มองเหมือนกันในการเข้าร่วมเวทีเจรจาความร่วมมือทุกเวที ว่าตัวเองต้องเป็นคนเขียนกติกา เป็นคนคุมกติกา และต้องเป็นกติกาที่ตนเองสนใจ ถ้าหากถามว่าสหรัฐฯ จะกลับเข้ามา CPTPP หรือไม่

ผมว่าถ้าจะกลับเข้ามาใหม่ สหรัฐฯ ต้องกลับเข้ามาแบบกติกาของตนเองที่เขียนใหม่ แน่นอนว่าของเดิมที่เคยถูกแขวนไว้ยุคตอนที่สหรัฐฯ ออกไปครั้งก่อน เช่น เรื่องมาตรฐาน การคุ้มครองสิทธิ์ทางปัญญา ที่สหรัฐฯ สนใจ และเติมด้วยประเด็นที่ นายโจ ไบเดนใช้เป็นนโยบายในการหาเสียง คือ สิ่งแวดล้อมและแรงงาน และกฎ กติกา ฯลฯ

              แม้ว่าสหรัฐฯ มองว่าตนเองต้องเข้ามาในพื้นที่เอเซีย-แปซิฟิคเพื่อกดดันและบล็อกอิทธิพลของประเทศจีน เพียงแต่รูปแบบที่จะเข้ามาในความตกลงต่าง ๆ นั้น อาจจะไม่ใช้ CPTPP เพราะคงตั้งกติกาใหม่ตามที่ตนเองต้องการได้ยาก และวิธีที่ง่ายที่สุด อาจต้องสร้างกลุ่มใหม่ขึ้นมาคู่ขนานโดยอาจต้องรวมประเทศอื่น ๆ ที่ยังไม่อยู่ใน CPTPP ในแถบเอเชีย เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ประเทศไทย หรือสมาชิกของ CPTPP ด้วย

และในยุคของทรัมป์ยังคิดสร้าง INDO-PACIFIC ขึ้นมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอย่างไงสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถทิ้งแปซิฟิคฝั่งเอเชียนี้ไว้อยู่ในอุ้งมือจีน เพราะจีนวาดภาพของการแผ่ขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองผ่านโครงการฯ One Belt One Road (RBI) ของตนเองอย่างชัดเจน ดังนั้น จะอย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ก็ต้องมาในแปซิฟิค-เอเซีย แต่มาในรูปของความตกลงแบบไหนก็ต้องรอดู

              อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลาย ๆ คนมองว่า แม้ว่าสหรัฐฯ อยากเข้ามาในวงเจรจาความตกลงในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะกลับเข้าหรือสร้างวงใหม่ แต่คงไม่เข้ามาเร็ววันนี้ เพราะจากการอภิปรายพูดในที่ต่าง ๆ หลังเลือกตั้งว่าเรื่องด่วนที่ตนเองต้องรีบทำ คือ เรื่องการปรองดองในชาติ เพราะตอนนี้มีปัญหาความแตกแยกในประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งความเชื่อทางการเมือง เชื้อชาติ ผิวสี ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องไวรัสโควิด การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน รวมทั้งการผลักดันการประกันสุขภาพของอดีตประธานาธิบดีโอบามาที่นายทรัมป์ยกเลิกไป 

              แม้ว่านายโจ ไบเดน ดูทีท่าจะนุ่มนวลกว่าทรัมป์มากในเรื่องสงครามการค้า แต่สหรัฐฯ ก็คือสหรัฐฯ เขาก็ยังมองว่าจีนคือความเสี่ยงต่อความมั่นคงในการเป็นเจ้าพ่อทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ฯ ดังนั้นนโยบายการกดและครอบจีนยังคงอยู่ต่อไป แต่วิธีการอาจแตกต่างกันออกไป และเป็นแบบระบบที่เป็นกติกา (Rule-based) ส่วนมาตรการเดิมที่ทรัมป์ทิ้งไว้เดิมนั้นคงไม่เลิกง่าย ๆ ในเร็ววัน เพราะยังมีกลุ่มบางกลุ่มชอบและได้ประโยชน์อยู่ ก็ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน  

ประเทศไทย: จะเอาไงต่อ

              สำหรับ CPTPP หรือ FTA ต่าง ๆ ผมว่าประเด็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ค่อยมีประเด็นมากนัก เพราะเกือบทั้งหมดรู้ว่าประเทศไทยได้ประโยชน์ในภาพรวม และถ้าไม่เข้าร่วม เราก็จะเสียเปรียบประเทศคู่แข่งสำคัญที่เป็นสมาชิกและโครงสร้างเศรษฐกิจและสินค้าคล้าย ๆ เรา เช่น เวียดนาม และมาเลเซีย เพราะหากประเทศเหล่านี้มีความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้า แต่เราไม่มี ที่ผ่านมาเราเคยใช้สิทธิประโยชน์ GSP กับประเทศใหญ่ ๆ ที่เขาโยนให้มาฟรี ๆ และกำลังจะถูกลดลงเรื่อย ๆ และกำลังถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดไปเรื่อย ๆ 

              แต่ปัญหาที่วุ่น ๆ และคุยกันไม่ตกผลึกกันสักทีนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ๆ สองเรื่อง คือ การเข้าร่วม FTA ทุกฉบับมีคนที่ได้รับผลกระทบ และในการเจรจา FTA สมัยใหม่จะรวมเอาประเด็นอื่น ๆ เช่น ทางสังคม สาธารณสุข สิทธิบัตรทางปัญญา พันธุ์พืชเกษตร ฯลฯ ซึ่งประเด็นอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เศรษฐกิจกลายเป็นประเด็นที่ปวดหัว และทำให้ประเทศช้ามากในการเข้าร่วมเจรจา ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นที่ถูกสร้างให้กลายเป็นอ่อนไหว (Sensitive issue) ในสาธารณะ ทำให้ทุกอย่างแขวนไว้จนทำให้พลาดการเจรจาเข้าร่วมหลายความตกลงฯ ซึ่งถ้าจะเข้าร่วมทีหลัง ต้นทุนการเข้าร่วมจะสูงมากกว่าคนที่เข้าเริ่มแรก

              วันนี้หลายคนพูดถึงเวียดนามที่กำลังมาแรง หลายคนบอกว่าเป็นเพราะวันนี้ เวียดนามเป็นสมาชิกในความตกลงความร่วมมือเศรษฐกิจต่าง ๆ ถ้านับเป็นประเทศแล้ว 53 ประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยมีเพียง 18 ประเทศเท่านั้น ทำให้วันนี้เวียดนามกลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่สุดในภูมิภาคนี้ในฐานะที่จะเป็นฐานการลงทุนและการผลิต ล่าสุดการมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าเวียดนามมากกว่าไทยกว่าสองเท่า บริษัทเกาหลีวันนี้ลงทุนในเวียดนามกว่า 7 พันบริษัท

ในขณะที่ไทยเหลืออยู่กว่า 400 บริษัท และได้ยินข่าวการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมจากไทยไปเวียดนามบ่อยขึ้น นอกจากนี้ เวียดนามยังได้จัดการโครงการ Regulatory Guillotine ที่ตัด รวบรวมกฎหมายต่าง ๆ ที่ซ้ำซ้อนและเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจเสร็จแล้ว ทำให้การขออนุญาต กฎระเบียบ ชัดเจน ตัดปัญหาการใช้วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ได้มาก รวมทั้งปัญหาการร้องเรียนของกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่เป็นไปตามกฏหมายแทบจะไม่เกิดขึ้น ไม่นับแรงงานที่มีทักษะและด้านวิศวกรรมที่มีการวางแผนพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

จึงไม่แปลกใจว่าผลสำรวจความพอใจของนักลงทุนญี่ปุ่นวันนี้ มองเวียดนามเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจมากที่สุดในระยะยาว และยิ่งไม่น่าสงสัยว่า นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่สนิทสนมกับประเทศไทยมากตอนดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและเป็นคนชวนไทยให้เข้า CPTPP และไทยก็รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะ จนเขาผลักดันให้เกิดการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-ญี่ปุ่นเมื่อสองปีก่อน แต่พอขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กลับเมินที่จะเยือนไทย กลับบินไปเวียดนามและข้ามหัวไทยไปอินโดนีเซีย ไม่รู้งอนเรื่อง CP-TPP หรือเป็นเพราะวันนี้ไทยไม่ใช่คนโปรดที่สุดของญี่ปุ่นในเชิงพันธมิตรทางเศรษฐกิจอีกแล้ว    

              ล่าสุดการอุทรณ์ขอคืนสิทธิประโยชน์พิเศษภาษีศุลกากร หรือ GSP ที่สหรัฐฯ และ EU ให้ฟรี ๆ กับไทยมานานนั้นล้มเหลว เป็นสิ่งที่ไม่เหนือความคาดหมายและมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ เพราะเขาถือว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศด้อยพัฒนาแล้ว สำหรับการยกเลิก GSP ของสหรัฐฯ ก็จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่สิ้นธันวาคม 2563 อีก 231 รายการ ที่อาจกระทบต่ออัตราภาษีที่สูงขึ้น ประมาณการณ์ว่าภาระภาษีเข้าสหรัฐฯ เพิ่มกว่า 600 ล้านบาท แม้ว่าไทยยังส่งออกสินค้ารายการเหล่านี้ไปสหรัฐฯ ได้เหมือนเดิม

แต่ต้นทุนสุดท้ายที่ผู้บริโภคจ่ายจะสูงขึ้น ส่งผลต่อการแข่งขันการส่งออกของสินค้าไทย เทียบกับประเทศคู่แข่งหลายประเทศที่ผลิตสินค้าคล้าย ๆ กับไทยแต่มีความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ ที่เขาได้ลดภาษีตามข้อตกลง ไม่ใช่ตามความเห็นใจของสหรัฐฯ ที่นึกจะให้ก็ให้ จะเลิกก็เลิก ซึ่งความไม่แน่นอนเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนระหว่างประเทศที่จะเลือกไทยเป็นฐานการผลิตในการส่งออกไปตลาดสำคัญเหล่านี้   

ข้อคำนึงในการเข้าร่วมความตกลงเศรษฐกิจใด ๆ

              วันก่อนได้มีโอกาสเข้าฟังการประชุมหารือของนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม ร่วมกับกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง กรรมาธิการการเกษตร และกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ดูแล้วว่าการเข้าร่วมความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกรอบต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย

หากไม่เช่นนั้นแล้วประเทศไทยจะสูญเสียอำนาจการแข่งขัน การลงทุนจากต่างประเทศ และธุรกิจใน Global supply chain ก็จะหายไปเรื่อย ๆ และที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าวันนี้คู่แข่งของไทยในอาเซียนเล่นเกมรุกในเวทีการค้าและเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยไม่นับสิงคโปร์ เพราะรายนั้นไปไกลเยอะแล้ว แต่ที่ควรตระหนกก็คือ เวียดนามตอนนี้แซงไทยไปหลายเรื่องแล้ว ซึ่งที่ประชุมหารือค่อนข้างเชื่อว่าหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เขาไปไวนั้นก็คือ

การอยู่ในความตกลงการค้าหลายฉบับและกับหลายประเทศ โดยเฉพาะรายใหญ่ ๆ เช่น EU และ US ดังนั้นเราคงต้องรีบคุยกันให้รู้เรื่องว่าจะเอาอย่างไร โดยเฉพาะ CPTPP ต้องรีบยื่นความจำนงในการเจรจา ก่อนที่สหรัฐฯ จะเข้า ถ้าช้าแล้ว ต้นทุนหรือค่าตั๋วในการเข้าร่วมจะแพงขึ้น สมาชิกเดิมอาจเรียกร้องจากเรามากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ทุกความตกลงที่ไทยจะเข้าร่วมนั้นก็เป็นปกติที่ทุกประเทศจะเจอ คือมีทั้งคนได้และคนรับผลกระทบ ที่ประชุมเสนอข้อคิดเห็น ดังนี้ 

1.ตั้งกองทุน FTA ในเชิงรุก คือ เข้าไปพัฒนาหรือดูแลสาขาหรือกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงนั้น ๆ ก่อนที่จะรอให้เข้าร่วมแล้ว เกิดผลกระทบค่อยมาดูดำดูดีกัน เอาเป็นว่าทำการดูแลในเชิงป้องกัน ดีกว่าแก้ไข

2.หน่วยงานเจรจาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายต้องเป็นเสียงเดียวกันให้ได้ เพื่อช่วยกันทำความเข้าใจและดูแลผู้ที่อาจได้รับผลกระทบทางลบจากความตกลง เพราะวันนี้หน่วยงานต่าง ๆ ก็ดูแลในส่วนตัวเอง ไม่ยอมมองภาพใหญ่เป็นสำคัญ ทำให้กระทรวงพาณิชย์ที่รับผิดชอบเจรจาภาพรวมเหนื่อยหน่อย เพราะนอกจากเจรจากับต่างประเทศแล้ว ยังต้องต่อสู้ในเชิงเจรจากับพวกเดียวกันแต่ต่างหน่วยงานอีกด้วย

3.การตัดสินทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งเป็นสิ่งจำเป็น เพราะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมักเสียงดัง และผู้มีอำนาจในการตัดสินใจมักจะลังเล เราเห็นการชักเข้าชักออกของการเข้าร่วมการเจรจาความตกลงฯ หลายครั้ง หลายฉบับมาแล้ว ความเด็ดขาดในการตัดสินใจทางการเมืองเป็นสิ่งจำเป็นในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจต่างประเทศของประเทศในการเจรจาข้อตกลง

4.การทำความเข้าใจกับสังคม อาจต้องมีกลยุทธ์ที่ดี โดยเฉพาะข้อมูลที่เสนอ เข้าใจง่าย ดีอย่างไร และที่สำคัญต้องบอกว่ามีแนวทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร ชัด ๆ เพราะคนส่วนมากจะมองมาที่ผลลบก่อนอื่นใด   

              การประชุมหารือของคณะกรรมาธิการ 4 กรรมาธิการของวุฒิสภา นักวิชาการ หน่วยงานรัฐและเอกชน มองดูแล้วก็มีครบถ้วนของเรื่องข้อกังวล และข้อได้เปรียบ ข้อคิดเห็นในการเตรียมการรองรับผลกระทบ แต่เรื่องความเด็ดขาดของการตัดสินทางการเมืองที่มีผู้ร่วมวงสนทนาเสนอนั้น ซึ่งส่วนตัวแล้วผมยังนึกภาพไม่ออกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร

อันที่จริงก็เห็นด้วยที่จะตัดสินใจไปเลยว่าจะไปทางนี้หรือไม่ ถ้าเอาก็เดินต่อ และเตรียมการดูแลคนได้รับผลกระทบกันไป แต่ถ้าจะไม่เอาทางนี้ เราก็จะได้มีเวลาหาทางเดินใหม่ของเราต่อไป …… ไม่งั้นก็ชักเข้า ชักออก แขวนไว้ก่อน ทำไม่รู้ไม่ชี้จนเลือกตั้งใหม่ แล้วต้นทุนช่วงโอกาสของประเทศที่ควรจะได้และที่เสียไปใครรับผิดชอบ