ไทยไม่แพ้ชาติใด! 22 บริษัทติด“เวิลด์คลาส”

17 พ.ย. 2563 | 12:18 น.

ไทยไม่แพ้ชาติใด! 22 บริษัทติด“เวิลด์คลาส” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3628 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 19-21 พ.ย.2563 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

          นับเป็นเรื่องที่คนไทย รัฐบาลไทย หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการยกระดับความรับผิด รับชอบต่อหุ้นส่วนในสังคมของภาคธุรกิจ ควรจะร่วมกันยินดีภาคภูมิใจกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) ประจำปี 2563 ถึง 22 บริษัทมากที่สุดในกลุ่มประเทศในเอเชีย

          ใครได้รับการประเมินให้เป็นบริษัทที่สุดยอดระดับโลกบ้าง ผมสรุปให้เห็นดังนี้ 

          กลุ่มดัชนี DJSI World มี 12 บริษัท ที่ถือว่าสุดยอด 1.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 2. ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) 3. บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 4. บริษัท ปตท. (PTT)  5. บริษัท ซีพีออลล์ (CPALL)  6. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ (THBEV) 7. บมจ.อินโดรามาเวนเจอร์ส 8.บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล 9. บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) 10. บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) 11.บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(AIS) และ 12.บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) โดยมีหลายบริษัทที่ติดอันดับติดต่อกันเป็นปีที่ 5-6-7-8 เฉพาะกลุ่มปตท.นั้นได้รับเป็นปีที่ 9

          กลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets มีจำนวน 22 บริษัท ได้แก่ 1. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 2.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) 3. บริษัท  ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) 4. บริษัท บ้านปู (BANPU) 5. บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) 6. บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 7. บริษัท ปตท. (PTT) 8. บริษัท ไทยออยล์ (TOP) 9. บริษัท ซีพีออลล์ (CPALL) 10. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF)

          11. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ (THBEV) 12. บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) 13. บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) 14. บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 15. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) 16. บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) 17. บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) 18. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) 19. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) 20. บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) 21. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ 22. บริษัท.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ได้รับเป็นปีแรก
 

ไทยไม่แพ้ชาติใด! 22 บริษัทติด“เวิลด์คลาส”



          เหนือกว่านั้น ปีนี้เป็นบริษัทของคนไทยได้รับการประเมินให้เป็น “ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Leaders)” ของโลกถึง 8 บริษัท และมีจำนวนที่สูงสุดในอาเซียน และได้รับคะแนนสูงสุดในโลกเรื่องผลประกอบการ การดูแลรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม มากเป็นลำดับที่สองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น...ไล่จาก

          บริษัท บ้านปู หรือ BANPU  ของกลุ่มตระกูลว่องกุศลกิจ ได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Coal & Consumable Fuels 
          บริษัท ไทยออยล์ หรือ TOP  บริษัทในเครือปตท.ได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refining & Marketing 
          บริษัท ปตท. หรือ PTT  ได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Upstream & Integrated 
          บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ หรือ THBEV ของตระกูลสิริวัฒนภักดีได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรม Beverages
          บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC บริษัทในเครือปตท. ได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Chemicals 
          บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC บริษัทในเครือของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Construction Materials 
          บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือTRUEของกลุ่มตระกูลเจียรวนนท์ ได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Telecommunication Services 
          บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS ของกลุ่มตระกูลกาญจนภาสน์ ได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Transportation and Transportation Infrastructure

          ถ้าคนไทยด้วยกันไม่ร่วมกันยินดีร่วมกัน ก็ใจจืดใจดำกันเกินไปแล้วครับ

          ผมว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ควรอย่างยิ่งที่จะจัดงานเฉลิมฉลองให้เป็นเกียรติเป็นศรี เป็นหน้าเป็นตา เป็นตัวอย่างที่ดีที่สร้างเครดิตของประเทศ

          เพราะอะไรนะหรือ เพราะดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI เป็นดัชนีประเมินความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับระดับสากล ซึ่งใช้วัดประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ 4,500 บริษัทชั้นนำทั่วโลก โดยการคัดเลือกสมาชิกในกลุ่มดัชนี DJSI จะพิจารณาจากผลประกอบการที่ดี ควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี

          บริษัทไหนในโลกที่ได้รับการจัดอันดับดัชนี DJSI จะกลายเป็นทางเลือกในการตัดสินใจลงทุนอันดับต้นๆ ของบรรดากองทุนต่างๆ ที่มุ่งแสวงหาโอกาสและตอบแทนธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม เพื่อจรรโลงโลก

          ดัชนี DJSI นั้นถูกจัดทำขึ้นด้วยความร่วมมือของ S&P Global และ SAM ถือเป็นดัชนีที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สามารถสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้ลงทุน รวมถึงการสร้างคุณค่าระยะยาวให้กับผู้มีส่วนได้เสีย

          หากใครคิดว่าการได้รางวัลนี้คือการ “Check In” การเชิดชูเกียรติให้โก้หรูเท่านั้น ผมว่าน่าจะคิดผิด 

          นับตั้งแต่ ปี 1999 ที่ถือเป็นปีแรกที่ RobecoSAM สถาบันผู้ออกแบบคำถาม เพื่อสำรวจความยั่งยืนของบริษัทและฐานะการเงินเริ่มทำการประเมินความยั่งยืนบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ละปี RobecoSAM จะเชิญบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกราว 3,400 บริษัท จาก 60 กลุ่มอุตสาหกรรม ต่อมาขยายเป็น 4,500 บริษัททั่วโลก เข้าร่วมประเมินความยั่งยืนผ่านการตอบแบบประเมินผล ที่เรียกว่า corporate sustainability assessment (CSA) 

          คำถามใน CSA จะแบ่งออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อม มีข้อคำถามตั้งแต่การดำเนินธุรกิจ โครงสร้างคณะผู้บริหาร แนวนโยบาย หลักปฏิบัติ กลยุทธ์การทำธุรกิจ การดูแลด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกว่า  120 คำถาม 

          บริษัทที่มีคะแนนอยู่ใน top 10 ในแต่ละอุตสาหกรรม จะได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในดัชนี DJSI ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับโลกว่า เป็นบริษัทที่มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน สร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่องในระยะยาวให้กับนักลงทุน รับผิดชอบต่อสังคมที่ทำธุรกิจอยู่ 

          RobecoSAM ยังตรวจสอบตลอดเวลาว่า บริษัทไหนมีข่าวในทางลบเกิดขึ้นอาจส่งผลถึงคะแนนในการประเมิน กรณีที่ถือว่ามีความร้ายแรงด้านจริยธรรม สิ่งแวดล้อม หรือการตกแต่งบัญชี คณะกรรมการดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ จะถอดออกจาก DJSI 

          อาทิเช่น บริษัท Volkswagen ที่โกงเรื่องการปล่อยค่ามลพิษว่าได้ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด โดยรถยนต์หลายรุ่นของโฟล์กปล่อยมลพิษกว่า 10-40 เท่าของค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด แต่บริษัทจงใจติดซอฟต์แวร์ในรถเพื่อ “หลอก”ว่าปล่อยน้อยกว่าจนกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฟ้องเรียกค่าชดเชย รวมเป็นเงินกว่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของกฎหมายอากาศสะอาดของอเมริกาทั้งๆที่โฟล์กสวาเกนติดอันดับ DJSI ยาวถึง 13 ปี ตั้งแต่ปี 1999-2004 และปี 2007-2015

          บริษัท ปิโตรบราส (Petrobras) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติบราซิล ก็ถูกถอดออกจากดัชนี DJSI หลังจากที่ถูกทางการสอบสวนเรื่องคอร์รัปชั่นและฉ้อโกง ต่อมากลุ่มบริษัท โตชิบา (Toshiba) สมาชิกของดัชนี DJSI ตั้งแต่ปี 2000 ก็ถูกถอดออก หลังจากที่มีข่าวฉาวว่าบริษัทตกแต่งบัญชี จนซีอีโอต้องประกาศลาออก

          แม้บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยมีอยู่แค่ 739 บริษัท แต่สามารถติดระดับโลกในเรื่องมาตรฐานด้านความยั่งยืน การรับผิดรับชอบต่อสังคม ต่อสิ่งเวดล้อม ต่อคุณภาพชีวิตคนมากขนาดนี้และติดระดับโลก ท่านคิดว่าคุณภาพประชาชาน คุณภาพผลิตภัณฑ์ คุณภาพการบริการ มาตรฐานการปฏิบัติจะเป็นเช่นไร...

          เราควรภูมิใจร่วมกันว่า บริษัทของคนไทย มีมาตรฐานระดับโลกไม่ด้อยกว่าชาติใดเลยครับ..ผมขอส่งผ่านความภาคภูมิใจนี้ ไปยัง 22 บริษัทไทยที่ถือเป็นสุดยอดของโลกด้วยครับ