“วิปรัฐบาล”วางกรอบ 2 วันถกร่างแก้ไขรธน.17 ชั่วโมง

16 พ.ย. 2563 | 10:30 น.

วิปรัฐบาลวางกรอบรัฐสภาถก 7 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 วัน 17 ชั่วโมง มติ พปชร.หนุนร่าง“เพื่อไทย-รัฐบาล” ของ “ไอลอว์”ขอฟังอภิปรายก่อน


นายวิรัช  รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ แบ่งเวลาการพิจารณา โดยวันที่ 17 พ.ย. จะเริ่มต้นประชุมเวลา  09.30 น. พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ ทั้ง 6 ฉบับ โดยใช้เวลา 3 ชั่วโมง 


จากนั้นจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ โดยจะไม่มีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ร่างก่อนหน้านี้ เพราะมีการอภิปรายไปก่อนหน้านี้แล้วในวันที่ 23-24 ก.ย.ที่ผ่านมา 
สำหรับการพิจารณา สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) จะใช้เวลา 5 ชั่วโมงครึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้าน-รัฐบาลใช้เวลารวมกัน 5 ชั่วโมง ขณะที่ผู้ชี้แจงของไอลอว์ใช้เวลา 1 ชั่วโมง โดยจะใช้เวลาพิจารณาทั้งหมดรวมเวลาของประธานสภาด้วย 17 ชั่วโมง 


แบ่งเป็นในวันที่ 17 จะใช้เวลาพิจารณา 13-14 ชั่วโมง ขณะที่วันที่ 18 จะใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นการอภิปรายต่อเนื่องประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นโหวตลงมติใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง โดยให้ ส.ส.และ ส.ว.ยืนขึ้นแสดงตนโหวต 1 คน ลงมติ 7 ฉบับในคราวเดียว ซึ่งเชื่อว่าจะเสร็จสิ้นภายในช่วงเย็นวันที่ 18 พ.ย.


นายวิรัช เชื่อว่า ในการลงมติร่างที่ 1 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และร่างที่ 2 ของพรรคร่วมรัฐบาล จะลงมติรับหลักการ ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 3-6 งดออกเสียง ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ ก็ขอฟังการชี้แจงก่อน 


“ยืนยันว่าการทำหน้าที่ของ ส.ส.และ ส.ว.ไม่รู้สึกกดดันต่อผู้ชุมนุมทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายค้าน เพราะสมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ พร้อมทำหน้าที่ด้วยเหตุด้วยผล”

ด้านน.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์  ส.ส.กทม.โฆษกพรรคพลังประชารัฐ แถลงภายหลังการประชุมพรรคว่า มติพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันตามมติวิปรัฐบาล คือ รับหลักการในร่างที่ 1 ของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะเป็นผู้เสนอ และร่างที่ 2 ของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลและคณะเป็นผู้เสนอ 


ส่วนร่างที่ 3-6 งดออกเสียง เพราะเนื้อหาครอบคลุมเหมือนกับร่างที่ 1 และ 2  แล้ว  สำหรับร่างที่ 7 ของกลุ่มไอลอว์นั้น จะขอฟังจากสมาชิกทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว. ก่อนจะตัดสินใจในการลงมติอีกครั้ง

 

โฆษกพรรคพลังประชารัฐ  กล่าวยืนยันว่า เราเปิดกว้างให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นโดยยึดหลักของความถูกต้อง และต้องดูจากความต้องการของประชาชนทั้งประเทศมากกว่าความเห็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง